ตามที่ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้เตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อบริษัทชักชวนลงทุนตู้เติมเงินในลักษณะธุรกิจเครือข่าย และเตรียมดำเนินการตามกฎหมายหากพบผิดจริงนั้น
นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า ที่ผ่านมาสำนักงาน กสทช. เชิญบริษัท เคโฟร์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด มาให้ข้อเท็จจริง จำนวน 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 รวมทั้งเชิญสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เข้าร่วมประชุมด้วย
เมื่อเดือน ก.ค. 2567 สำนักงาน กสทช. ได้ออกข่าวประชาสัมพันธ์เตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อบริษัทชักชวนลงทุนตู้เติมเงินในลักษณะธุรกิจเครือข่าย และเตรียมดำเนินการตามกฎหมายหากพบผิดจริง จากนั้น เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2567 สำนักงาน กสทช.
บริษัท เคโฟร์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด (บริษัท เคโฟร์ฯ) เป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม เพื่อให้บริการขายต่อบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน (บริการ MVNO) เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2562 โดยการประกอบธุรกิจของบริษัท เคโฟร์ฯ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
(1) บริการ MVNO ในนามซิมการ์ด K4 เป็นบริการที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่หนึ่ง จาก กสทช.
(2) ธุรกิจตู้เติมเงินชื่อ “เคธี่ปันสุข” (ตู้เติมเงิน) และบริการเติมเงินค่าโทรศัพท์ค่าย K4 ซึ่งธุรกิจนี้ไม่เข้าข่ายเป็นกิจการโทรคมนาคมตามมาตรา 4 ของ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 และไม่เข้าข่ายเป็นการประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ต้องได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมจาก กสทช. ตามมาตรา 4 ของ พ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544
ธุรกิจตู้เติมเงินชื่อเคธี่ปันสุข จึงไม่ใช่บริการภายใต้การอนุญาตของ กสทช. และการให้บริการตู้เติมเงินก็ไม่ได้อยู่ในขอบเขตบริการขายต่อบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน (บริการ MVNO) ที่บริษัท เคโฟร์ฯ ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่หนึ่ง จาก กสทช.
“ในส่วนของการให้บริการธุรกิจตู้เติมเงิน สำนักงาน กสทช. ได้รวบรวมข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการให้บริการของบริษัท เคโฟร์ฯ และอยู่ระหว่างนำส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สคบ. ดีเอสไอ ธปท. และ ปปง. เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายของหน่วยงานต่อไป โดยสำนักงาน กสทช. จะสนับสนุนข้อมูลเพิ่มเติมหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังกล่าวร้องขอ” นายไตรรัตน์ กล่าว
นายไตรรัตน์ กล่าวว่า การดำเนินการขั้นตอนจากนี้ สำนักงาน กสทช. จะเร่งสรุปข้อมูลในการให้บริการของบริษัทว่าเป็นการกระทำผิดเงื่อนไขในการอนุญาตของประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตฯ ที่กำหนดห้ามผู้รับใบอนุญาตนำบริการโทรคมนาคมที่ได้รับอนุญาตไปแสวงหาผลประโยชน์อื่นใด นอกเหนือจากการให้บริการโทรคมนาคมตามที่ได้รับอนุญาตโดยตรงแก่ผู้ใช้บริการ หรือไม่ เนื่องจากบริษัทฯ มีการกล่าวอ้างถึงใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมของ กสทช. เพื่อแสวงหาประโยชน์จากการชักชวนประชาชนลงทุนตู้เติมเงิน
หากทำผิดเงื่อนไขในการอนุญาต ทาง กสทช. อาจพิจารณามีคำสั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตในกรณีผู้รับใบอนุญาตฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการโทรคมนาคมจนเกิดความเสียหายร้ายแรงต่อประโยชน์สาธารณะ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ธ.ค. 67)
Tags: กสทช., ชักชวนลงทุน, ตู้เติมเงิน