ฟิทช์ คงอันดับเครดิต ADVANC-AWN แนวโน้มเป็นลบ สะท้อนความเสี่ยงควบรวม GULF-INTUCH

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงเครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบ (Rating Watch Negative; RWN) ของอันดับเครดิต บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือ AIS และบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) เครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบสะท้อนถึงความเสี่ยงที่ หากบริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบรวมกิจการระหว่าง บมจ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) และผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ AIS คือ บมจ. อินทัช โฮลดิ้งส์ (INTUCH) มีอำนาจควบคุมใน AIS โดยสถานะทางเครดิตของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่อ่อนแอกว่าอาจส่งผลให้มีการปรับลดอันดับเครดิตของ AIS หลายระดับ ณ ปัจจุบัน ฟิทช์ประเมินอันดับเครดิตของ AIS บนพื้นฐานของสถานะทางเครดิตโดยลำพัง (Standalone Credit Profile)

ฟิทช์ได้นำอันดับเครดิตทั้งหมดของ AIS และ AWN เข้าสู่เครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2567 หลังจากที่กัลฟ์ประกาศแผนควบรวมกิจการกับอินทัช และจัดตั้งบริษัทใหม่ในตลาดหลักทรัพย์ โดยมีผู้เกี่ยวข้องหลักคือ อินทัช กัลฟ์ และบริษัท สิงคโปร์ เทเลคอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด (Singtel) จะทำการเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดของ AIS ที่ถือโดยผู้ถือหุ้นรายย่อยก่อนการควบรวมกิจการ

ฟิทช์คาดว่าจะมีการนำอันดับเครดิตออกจากเครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบเมื่อการเสนอซื้อหุ้นเสร็จสิ้นและโครงสร้างการถือหุ้นของ AIS มีความชัดเจน ซึ่งอาจใช้เวลานานกว่า 6 เดือน

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต

  • การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการถือหุ้นที่อาจเกิดขึ้น: การเสนอซื้อหุ้นอาจส่งผลให้โครงสร้างการถือหุ้นของ AIS เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ หากบริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบรวมกิจการมีอำนาจควบคุม AIS

ฟิทช์จะใช้หลักเกณฑ์การจัดอันดับความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแม่และบริษัทลูก (Parent and Subsidiary Linkage Rating Criteria) เพื่อประเมินความสัมพันธ์ระหว่าง AIS และบริษัทแม่ที่อ่อนแอกว่า

ฟิทช์คาดว่าจะพิจารณาเรื่องความสามารถในการเข้าถึงและการควบคุม (Access and Control) ของบริษัทแม่ต่อ AIS จะอยู่ในลักษณะกึ่งเปิด (Porous) หรือเปิด (Open) และกลไกการป้องกันทางกฎหมาย (Legal Ring-fencing)จะอยู่ในลักษณะเปิด (Open) ซึ่งจะส่งผลให้อันดับเครดิตของ AIS ถูกจำกัดอยู่ที่สถานะทางเครดิตของบริษัทแม่หรือสูงกว่าได้หนึ่งระดับ ซึ่งอาจนำไปสู่การปรับลดอันดับเครดิตของ AIS หลายระดับ

  • บริษัทแม่ที่มีสถานะอ่อนแอกว่า: ฟิทช์เชื่อว่าบริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบรวมกิจการจะมีสถานะทางเครดิตที่อ่อนแอกว่าสถานะเครดิตโดยลำพังของ AIS

ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA net leverage) ของบริษัทใหม่ (ซึ่งรวมงบการเงินของ AIS และหนี้ที่เกิดขึ้นจากการเสนอซื้อหุ้น) จะอยู่ที่ประมาณ 4-5 เท่า ซึ่งสูงกว่าอัตราส่วนหนี้สินของ AIS อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 1.5 เท่า อย่างไรก็ตาม การรวมอินทัชและ AIS เข้ากับบริษัทใหม่จะทำให้มีการกระจายตัวที่ดีขึ้นของกระแสเงินสดจากการดำเนินงานครอบคลุมทั้งธุรกิจโทรคมนาคมและพลังงาน

  • สถานะทางเครดิตโดยลำพังที่แข็งแกร่งของ AIS: สถานะทางเครดิตโดยลำพังของ AIS ยังคงสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยมีส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการประมาณร้อยละ 49 นอกจากนั้น การเข้าซื้อกิจการของบมจ.ทริปเปิลที บรอดแบนด์ (TTTBB) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการบรอดแบนด์รายใหญ่อันดับสองของประเทศไทย ได้ทำให้ AIS สามารถกระจายรายได้ไปสู่บริการที่ไม่ใช่โทรศัพท์เคลื่อนที่ ทำให้สถานะทางการตลาดของบริษัทแข็งแกร่งขึ้นและสนับสนุนการเติบโตของรายได้และความมั่นคงของกำไรในระยะกลาง ฟิทช์คาดว่า AIS จะรักษาสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งด้วยอัตราส่วน EBITDA Net Leverage ที่ประมาณ 1.2 เท่าในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า (2566: 1.5 เท่า)

  • การเติบโตของกำไรที่ดีขึ้น: ฟิทช์คาดว่า กำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของ AIS จะปรับตัวดีขึ้นเป็นประมาณ 8.5 หมื่นล้านบาทต่อปีในปี 2567 และ 2568 (2566: 7.7 หมื่นล้านบาท)

เนื่องจากการรวม บมจ. ทริปเปิลที บรอดแบนด์  และการฟื้นตัวของรายได้ต่อเลขหมาย (ARPU) โดยฟิทช์คาดว่าการแข่งขันจะยังคงอยู่ในระดับต่ำในปี 2568และผู้ประกอบการจะมุ่งเน้นไปที่ความสามารถในการทำกำไรมากกว่าการเพิ่มส่วนแบ่งการตลาด โดยมีการเสนอแพ็คเกจข้อมูลแบบไม่จำกัดเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่จำกัด

การควบรวมกิจการระหว่างบมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) และบมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) ในช่วงต้นปี 2566 ทำให้อุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ของประเทศไทยมีการเติบโตที่แข็งแกร่งขึ้นตลาดที่มีการแข่งขันระหว่างผู้ให้บริการเพียงสองรายที่เกิดขึ้นทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคาที่เป็นเหตุเป็นผลและยั่งยืนมากขึ้น

  • อันดับเครดิตที่เท่ากัน: อันดับเครดิตของ AIS และ AWN อยู่ในระดับเดียวกันสะท้อนถึงแรงจูงใจในการสนับสนุนทางยุทธศาสตร์และการดำเนินงาน (Strategic and Operational Incentive) ของ AIS ต่อ AWN ที่ ‘สูง’ และแรงจูงใจในการสนับสนุนทางกฎหมาย (Legal Incentive) ที่ ‘ต่ำ’

ตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแม่และบริษัทลูกของฟิทช์ ซึ่งสะท้อนถึงสัดส่วนรายได้ และ EBITDA จากธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่และบรอดแบนด์ของ AWN ที่อยู่ในระดับสูง โดยคิดเป็น 93% และ 85% ของรายได้และ EBITDA ของกลุ่มตามลำดับในปี 2566

ฟิทช์มองว่าการบริหารจัดการและการทับซ้อนของแบรนด์นั้นอยู่ในระดับ ‘สูง’ นอกจากนั้น AIS เป็นเจ้าของ AWN ทั้งหมด ทำให้สามารถควบคุมนโยบายการเงินและการลงทุนของ AWN โดยใช้แบรนด์ AIS ในผลิตภัณฑ์ที่ขายในธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ บรอดแบนด์ และ คอนเทนต์

 

*การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป

อันดับทางเครดิตของ AIS แข็งแกร่งกว่าบมจ. ไทยเบฟเวอเรจ ซึ่งมีอันดับเครดิตที่ ‘AA(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องดื่มรายใหญ่ที่สุดของประเทศไทยที่มีตำแหน่งทางการตลาดที่แข็งแกร่งในสุราและส่วนแบ่งการตลาดเบียร์ในตลาดหลักของประเทศไทย เวียดนาม และเมียนมาร์

ทั้งสองบริษัทมีโปรไฟล์ธุรกิจที่เทียบเคียงกันในฐานะผู้นำในอุตสาหกรรมของตน AIS มีการกระจายธุรกิจในด้านภูมิภาคที่น้อยกว่า แต่มีอันดับเครดิตภายในประเทศสูงกว่า ไทยเบฟเวอเรจ สองอันดับเนื่องจากมีความเสี่ยงทางการเงินที่ต่ำกว่า

อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ AIS อยู่ในระดับเดียวกันกับบมจ. ปตท. (PTT) ซึ่งมีอันดับเครดิตที่ ‘AAA(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติแบบครบวงจรรายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย

AIS มีสถานะธุรกิจที่อ่อนแอกว่าเล็กน้อย และธุรกิจของปตท. มีขนาดใหญ่กว่าและมีการกระจายตัวมากกว่า ซึ่งช่วยลดความผันผวนของแต่ละส่วนธุรกิจ ในขณะที่ธุรกิจโทรคมนาคมของ AIS มีความเสถียรมากกว่า และบริษัทมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งกว่า โดยมี EBITDA net leverage อยู่ที่ประมาณ 1.2-1.5 เท่า เทียบกับประมาณ 1.7-2.0 เท่าสำหรับ ปตท.

 

สมมุติฐานที่สำคัญ

สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ

  • การเติบโตของรายได้จากการให้บริการอยู่ที่ประมาณร้อยละ 15 ในปี 2567 และร้อยละ 2 ในปี 2568 สะท้อนถึงการควบรวม บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) และการปรับตัวดีขึ้นของ ARPU

  • รายได้ต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA Margin) จากการดำเนินงานอยู่ที่ประมาณร้อยละ 40-41 ในปี 2567 และ 2568

  • เงินลงทุนในการขยายโครงข่ายอยู่ที่ 2.55 หมื่นล้านบาทในปี 2567 และ 3 หมื่นล้านบาทในปี 2568 (2566: 3.71 หมื่นล้านบาท)

  • อัตราการจ่ายเงินปันผลร้อยละ 95

 

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต

ปัจจัยบวก

  • ฟิทช์อาจยกเลิกเครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบและประกาศคงอันดับเครดิตด้วยแนวโน้มมีเสถียรภาพหากการควบกิจการไม่ถูกดำเนินต่อ การเสนอซื้อหุ้นถูกยกเลิก หรือหากบริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบรวมกิจการมิได้มีอำนาจควบคุม AIS

ปัจจัยลบ

  • ฟิทช์อาจปรับลดอันดับเครดิตของ AIS หากการเสนอซื้อหุ้นส่งผลให้บริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบรวมกิจการมีอำนาจควบคุม AIS โดยอันดับเครดิตของ AIS จะขึ้นอยู่กับการพิจารณาเรื่องความสามารถในการเข้าถึงและการควบคุม (Access and Control) ของบริษัทแม่ที่อ่อนแอกว่าต่อ AIS ภายใต้หลักเกณฑ์การจัดอันดับความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแม่และบริษัทลูก (Parents and Subsidiary Rating Linkage Criteria)

 

*สภาพคล่องและโครงสร้างหนี้

AIS มีสภาพคล่องที่บริหารจัดการได้ โดยมีหนี้จำนวน 5.5 หมื่นล้านบาทที่จะถึงกำหนดชำระภายใน 12 เดือนนับจากสิ้นเดือนกันยายน 2567 โดยหนี้จำนวน 3.7 หมื่นล้านบาทเป็นเงินกู้ระยะสั้น (bridging loan) เพื่อสนับสนุนการเข้าซื้อกิจการของบมจ. ทริปเปิลที บรอดแบนด์ และหุ้นร้อยละ 19 ของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน (ปัจจุบันกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต สามบีบี)

ในปี 2566 AIS ได้ทำการชำระคืนเงินกู้ระยะสั้นดังกล่าวบางส่วนด้วยการออกหุ้นกู้มูลค่า 2.5 หมื่นล้านบาทในเดือนพฤศจิกายน 2567 ส่วนหนี้ที่เหลือจำนวน 1.8 หมื่นล้านบาทน่าจะได้รับการสนับสนุนโดยเงินสดจำนวน 1.3 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2567 และกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง สภาพคล่องของ AIS ได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมจากความสามารถในการเข้าถึงตลาดตราสารหนี้ภายในประเทศเนื่องจากสถานะทางเครดิตที่แข็งแกร่ง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ธ.ค. 67)

Tags: , , ,
Back to Top