สำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน เปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ต่อร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำและขั้นสูงที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. … เพื่อให้เกิดความเหมาะสม และสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน เนื่องจากกฎกระทรวง ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2538) ได้กำหนดค่าจ้างขั้นสูงที่ใช้เป็นฐานการคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ของผู้ประกันตนมาตรา 33 ไว้ไม่เกิน 15,000 บาท ซึ่งบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 30 มี.ค. 38 โดยค่าจ้างขั้นต่ำต่อวันขณะนั้น มีอัตราสูงสุดอยู่ที่ 135 บาท
ดังนั้น จึงสมควรปรับปรุงให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน และเป็นไปตามมาตรฐานเพดานค่าจ้างขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ตามอนุสัญญาฉบับที่ 102 เรื่องสิทธิประโยชน์ประกันสังคมขั้นพื้นฐาน เพื่อความเพียงพอของสิทธิประโยชน์ที่เป็นเงินทดแทนการขาดรายได้ เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับกองทุนรองรับรายจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่สูงขึ้น เพื่อการกระจายรายได้จากผู้มีรายได้มากไปสู่ผู้มีรายได้น้อยภายในระบบประกันสังคม และเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบประกันสังคม
สำหรับร่างกฎกระทรวงฉบับใหม่นี้ สปส. วางเป้าหมายที่จะให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไป โดยจะเป็นการปรับเพดานค่าจ้างจากปัจจุบันที่ 15,000 บาท มาเป็นแบบขั้นบันได โดยค่าจ้างที่ใช้เป็นฐานคำนวณเงินสมทบผู้ประกันตน มาตรา 33 เป็นดังนี้
ปี 2569-2571: เพดานค่าจ้าง 17,500 บาท (เงินสมทบสูงสุด 875 บาท/เดือน)
ปี 2572-2574: เพดานค่าจ้าง 20,000 บาท (เงินสมทบสูงสุด 1,000 บาท/เดือน)
ปี 2575 เป็นต้นไป: เพดานค่าจ้าง 23,000 บาท (เงินสมทบสูงสุด 1,150 บาท/เดือน)
ทั้งนี้ ในร่างกฎกระทรวงดังกล่าว มีหลักการสำคัญในการปรับเพิ่มเพดานค่าจ้างขั้นสูง ดังนี้
1. เพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์เป็นเงินทดแทนการขาดรายได้ที่มีความเพียงพอสอดคล้องกับค่าจ้างจริง เนื่องจากฐานที่ใช้ในการคำนวณเพื่อรับสิทธิประโยชน์ดังกล่าว จะคำนวณจากค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุนประกันสังคม ดังนี้
– เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีเจ็บป่วย 50% ของค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุน
– เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพสูงสุด 50% ของค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุน
– เงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร 50% ของค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุน
– เงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต 50% ของค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุน
– เงินทดแทนการขาดรายได้ในกรณีว่างงานสูงสุด 50% ของค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุน
– เงินบำนาญชราภาพ ไม่ต่ำกว่า 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายที่นำส่งเข้ากองทุน โดยผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบ 15 ปี จะได้รับบำนาญ 20% ของค่าจ้าง ส่วนผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบมากกว่า 15 ปี จะได้รับบำนาญเพิ่มอีก 1.5% ทุกการส่งเงินสมทบครบ 12 เดือน
สำหรับเงินบำเหน็จชราภาพ จะได้รับเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติ เนื่องจากมีการนำส่งเงินสมทบเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพเพิ่มขึ้นจากการปรับฐานที่ใช้ในการคำนวณเงินสมทบ
2. เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับกองทุน รองรับรายจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่สูงขึ้น
3. เพื่อการกระจายรายได้จากผู้มีรายได้มากไปสู่ผู้มีรายได้น้อยภายใต้ระบบประกันสังคม เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ประกันตน 62.5% มีค่าจ้างต่ำกว่า 15,000 บาท และมีผู้ประกันตน 37.5% มีค่าจ้างเท่ากับหรือสูงกว่าเพดานค่าจ้างปัจจุบัน
สำหรับการรับฟังความคิดเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาร่างกฎกระทรวงดังกล่าว สามารถทำได้จาก 4 ช่องทาง ดังนี้
1. ระบบกลางทางกฎหมาย (www.law.go.th) ตั้งแต่วันที่ 1-15 ธ.ค.67
2. เว็บไซต์สำนักงานประกันสังค (www.sso.go.th) ตั้งแต่วันที่ 1-15 ธ.ค.67
3. มุมรับฟังความคิดเห็น ณ สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ และสำนักงานประกันสังคมจังหวัด/สาขา จนถึง 31 ธ.ค.67
4. การจัดประชุมรับฟังความคิดเห็น เริ่มตั้งแต่ 16 ต.ค. – 31 ธ.ค.67
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 ธ.ค. 67)
Tags: ประกันสังคม, สปส., สำนักงานประกันสังคม