ส่องเทรนด์ธุรกิจค้าปลีกปี 68 ท่ามกลางความท้าทายจากต้นทุน-กำลังซื้อ

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) คาดว่า ภาพรวมธุรกิจค้าปลีกในปี 2568 มีแนวโน้มเติบโตราว 5.1%YOY จากที่คาดว่าจะเติบโต 4.8%YOY ในปี 2567 ทั้งนี้แม้ว่าการบริโภคภาคเอกชนจะเติบโตชะลอลง แต่คาดว่าโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เริ่มดำเนินการในปี 2567 ต่อเนื่องถึงปี 2568 (เฟส 2 และเฟส 3) จะมีส่วนช่วยเพิ่มกำลังซื้อของผู้บริโภคในระยะสั้น

นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับปัจจัยหนุนจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นกลับมาสู่ระดับช่วงก่อนโควิด (Pre-covid) และหากภาครัฐปรับขึ้นค่าแรง คาดว่าจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของการบริโภคในระยะข้างหน้า

อย่างไรก็ดี ในภาวะที่เศรษฐกิจกำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัว ผู้บริโภคอาจจะยังระมัดระวังในการใช้จ่าย โดยเลือกใช้จ่ายในสินค้าที่จำเป็นก่อน และอาจชะลอการใช้จ่ายในกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย

กลุ่มที่เติบโตได้ดีต่อเนื่อง ยังคงเป็นหมวดร้านค้าสินค้าจำเป็น เช่น CVS, Supermarket และ Hypermarket ซึ่งมียอดขายที่เติบโต รวมถึงมีการขยายสาขา เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น อีกทั้งยังได้รับอานิสงส์จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ

ขณะที่กลุ่มที่ตอบโจทย์เทรนด์ต่าง ๆ ก็ยังเติบโตต่อเนื่องเช่นกัน อาทิ ธุรกิจ Health & Beauty โดยได้รับแรงหนุนจากกระแสรักษาสุขภาพเชิงป้องกัน และกลุ่มลูกค้านักท่องเที่ยวที่นิยมซื้อสินค้าประเภทนี้

สำหรับกลุ่มที่เติบโตแต่ยังมีข้อจำกัด ได้แก่ กลุ่ม Department store เนื่องจากต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรง และกำลังซื้อที่เปราะบาง ร้านค้าเฉพาะทางที่มีความหลากหลาย รวมถึงช่องทางออนไลน์ที่มีผู้เล่นรายใหม่ ๆ

ขณะที่กลุ่มที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป ได้แก่ สินค้าแฟชั่น เนื่องจากเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย และสินค้า Home & Garden จากการซบเซาของตลาดที่อยู่อาศัย

– กลุ่ม Modern grocery : ยอดขายของทุกกลุ่ม (CVS, Supermarket, Hypermarket) กลับไปอยู่สูงกว่าช่วง Pre-COVID แล้ว โดยแม้ว่าการฟื้นตัวของกำลังซื้อของผู้บริโภคยังเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ความต้องการในหมวดสินค้าจำเป็นยังมีแนวโน้มเติบโตได้ต่อเนื่อง อีกทั้ง หากภาครัฐมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ จะเป็นปัจจัยบวกที่ส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคทยอยปรับตัวดีขึ้น

– กลุ่ม Department store : ในสถานการณ์กำลังซื้อที่ยังฟื้นตัวอย่างจำกัด อาจส่งผลต่อแนวโน้มการใช้จ่ายในกลุ่มสินค้าไม่จำเป็น อย่างไรก็ดี กลุ่ม Department store ยังได้แรงหนุนของภาคท่องเที่ยว โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ จะกลับมาสู่ระดับก่อนการระบาดของโควิด ในปี 2568 ซึ่งการกลับมาของนักท่องเที่ยวดังกล่าว จะช่วยเพิ่มการใช้จ่ายภายในห้างสรรพสินค้า และส่งผลให้ยอดขายเติบโตดีขึ้น อีกทั้งยังได้ปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ

– กลุ่ม Health & Beauty : ยอดขายเติบโตสอดคล้องกับการที่ผู้บริโภคหันไปให้ความสนใจสินค้าทั้งในกลุ่มสุขภาพและความงามมากขึ้น ท่ามกลางตัวเลือกในตลาดที่หลากหลาย โดยผู้บริโภคจะเลือกสินค้าที่มีคุณภาพ และมีความน่าเชื่อถือ ถึงแม้จะมีราคาที่สูงกว่า ขณะเดียวกัน เทรนด์การรักษาสุขภาพและการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ยังทำให้มีความต้องการสินค้าเพื่อสุขภาพมากขึ้นอีกด้วย โดยเฉพาะกลุ่มเวชศาสตร์ป้องกัน อย่างไรก็ดี ช่องทางออนไลน์อย่าง Marketplace และ Social media ทำให้มีจำนวนผู้ประกอบการรายย่อยในตลาดมากขึ้น และยังทำให้การแข่งขันในหมวดสินค้าสุขภาพ และความงามรุนแรงขึ้นตามไปด้วย

– กลุ่ม Home & Garden : ยอดขายมีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ชะลอลง สาเหตุหลักมาจากความต้องการซื้อหรือลงทุนในที่อยู่อาศัยหดตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า อย่างไรก็ดี สินค้าหมวดนี้ยังได้รับปัจจัยหนุนจากความต้องการ Renovate ที่อยู่อาศัยจากทั้งกลุ่มที่อยู่อาศัยบ้านเก่าและกลุ่มที่นิยมซื้อบ้านมือสองเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ สถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ในช่วงปี 2567 ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีความต้องการสินค้าที่เกี่ยวกับการซ่อมแซม/ปรับปรุง/ตกแต่งบ้านมากขึ้นตามไปด้วย ขณะที่การเติบโตของหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามภาวะตลาดที่อยู่อาศัยที่จะฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ส่งผลให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์ทั้งในด้าน Product mixed ให้ตอบโจทย์กลุ่ม Renovate รวมถึงการขยายสาขาที่ต้อง Selective มากขึ้น

– กลุ่ม Apparel & Footwear : ยอดขายเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยสินค้าในกลุ่ม Fast fashion ยังเติบโตได้ต่อเนื่อง ในขณะที่กลุ่ม Traditional fashion ยอดขายยังไม่กลับมาเท่าช่วงก่อนโควิด ส่วนกลุ่ม Sportswear และ Luxury fashion ยอดขายกลับมาใกล้เคียงช่วงก่อนโควิดแล้วตั้งแต่ปี 2566 อย่างไรก็ดี ในภาวะที่ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังในการใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่งอาจกดดันให้ยอดขายสินค้าแฟชั่นเติบโตได้ไม่มากนัก

ผู้ประกอบการค้าปลีกในไทย มีการตั้งเป้าหมายและแผนการดำเนินงานด้าน ESG โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ ขณะที่ผู้บริโภคเอง ก็มีความตระหนักรู้ถึงปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม และให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากขึ้น

อย่างไรก็ดี อุปสรรคสำคัญในการสนับสนุนสินค้าที่มีความยั่งยืน (Sustainable products) คือ ปัจจัยด้านราคาที่สูงกว่าสินค้าทั่วไปและตัวเลือกที่น้อย ดังนั้น ผู้ประกอบการควรเพิ่มความหลากหลายของสินค้าและราคา เพื่อให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้หลากหลายกลุ่มมากขึ้น

สำหรับในด้านการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนนั้น พบว่าร้านค้าขนาดใหญ่สามารถปรับตัวได้รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากกว่าร้านค้าขนาดเล็ก เนื่องจากมีเงินทุนมากกว่า ขณะที่ร้านค้าขนาดเล็กอาจเริ่มจากการให้ความรู้ และเริ่มวางจำหน่ายสินค้าที่มีความยั่งยืนให้ตรงกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 ธ.ค. 67)

Tags: , , ,
Back to Top