สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เดือน พ.ย.67 อยู่ที่ 108.47 หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไป สูงขึ้น 0.95% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน จากตลาดคาด 0.9 – 1.2% โดยมีปัจจัยหลักจากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันดีเซล ที่เป็นผลจากฐานราคาต่ำในปีก่อน รวมถึงราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มปรับตัวสูงขึ้น จากราคาผลไม้สด เครื่องประกอบอาหาร และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 11 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ย.67) เพิ่มขึ้น 0.32%
ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) เดือนพ.ย.67 อยู่ที่ 105.36 หรืออัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน สูงขึ้น 0.80% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ทำให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เฉลี่ย 11 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 0.55%
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการ สนค. ประเมินแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ธ.ค.67 จะเพิ่มขึ้นจากเดือนพ.ย. โดยคาดว่าจะอยู่ที่ 1.2-1.3% สาเหตุมาจากฐานเงินเฟ้อในเดือนธ.ค.66 อยู่ในระดับต่ำที่ -0.83% อีกทั้งยังเป็นช่วงที่รัฐบาลตรึงราคาน้ำมันดีเซลในประเทศไว้ไม่เกิน 30 บาท/ลิตร ขณะที่ปีนี้ ขยับเพดานตรึงราคาดีเซลขึ้นมาอยู่ที่ 33 บาท/ลิตร
ขณะที่คาดว่าทั้งปี 67 อัตราเงินเฟ้อทั่วไป จะเฉลี่ยอยู่ที่ 0.4-0.5% จากเป้าหมายล่าสุดของกระทรวงพาณิชย์ที่ 0.2-0.8% (ค่ากลางที่ 0.5%)
ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อของไทย ถือว่าอยู่ในระดับต่ำเป็นอันดับที่ 2 ในอาเซียน จาก 8 ประเทศที่มีการประกาศเงินเฟ้อ (ใช้ข้อมูลเดือนต.ค.67) โดยประเทศที่เงินเฟ้อต่ำสุดในอาเซียน คือ บรูไน อยู่ที่ -0.8% ส่วนอันดับ 3 คือ สิงคโปร์ อยู่ที่ 1.4% ขณะที่ สปป.ลาว อัตราเงินเฟ้อสูงสุดในอาเซียน อยู่ที่ 20.73%
ส่วนปัญหาน้ำท่วมในภาคใต้นั้น นายพูนพงษ์ เชื่อว่า จะไม่ส่งผลกระทบทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์ได้ใช้มาตรการขอความร่วมมือห้างค้าปลีกค้าส่งไม่ให้ปรับราคา และให้ซัพพลายสินค้าให้เพียงพอกับความต้องการตามนโยบาย “ห้ามขาด ห้ามแพง” ทำให้กระทรวงพาณิชย์ยังคงเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 67 ว่าจะอยู่ระหว่าง 0.2-0.8 % ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน
พร้อมกันนี้ มองว่า ประชาชนมีความระมัดระวังในการใช้จ่าย โดยเฉพาะการเลือกซื้อสินค้าที่จำเป็นมากขึ้น เพราะต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ แต่ไม่ใช่ว่ากำลังซื้อลดลงมาก เพียงแค่เน้นการจับจ่ายใช้สอยในสินค้าที่จำเป็นมากขึ้นเท่านั้น
*แนวโน้มเงินเฟ้อทั่วไปปี 68 คาดอยู่ระหว่าง 0.3 – 1.3%
ผู้อำนวยการ สนค. ยังกล่าวถึงแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 68 คาดว่าจะอยู่ระหว่าง 0.3 – 1.3% (ค่ากลาง 0.8%) ภายใต้สมมติฐานที่สำคัญ ดังนี้ 1. อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ปี 68 ที่ 2.3-3.3% 2. ราคาน้ำมันดิบดูไบ เฉลี่ยทั้งปีที่ 70-80 ดอลลาร์/บาร์เรล และ 3. อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ย 34.00-35.00 บาท/ดอลลาร์
ทั้งนี้ ปัจจัยที่สนับสนุนให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับสูงขึ้น ประกอบด้วย 1. เศรษฐกิจไทยปี 68 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากปี 67 ทั้งการขยายตัวของการลงทุน และการบริโภคภาคเอกชน รวมถึงแนวโน้มนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้อุปสงค์ต่อสินค้าและบริการปรับตัวเพิ่มขึ้น 2. ราคาน้ำมันดีเซลในประเทศที่กำหนดเพดานไม่เกิน 33 บาท/ลิตร ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในไตรมาสที่ 1 และ 2 ของปี 67 และ 3. การใช้จ่ายของประชาชนเพิ่มขึ้นจาก “โครงการเติมเงิน 10,000 บาท”
ขณะที่ยังมีปัจจัยที่กดดันให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง ประกอบด้วย 1. ภาครัฐมีแนวโน้มดำเนินมาตรการลดภาระค่าครองชีพอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปรับลดค่าไฟฟ้า และการตรึงราคาก๊าซ LPG 2. ฐานราคาผักและผลไม้สด ในปี 2567 อยู่ในระดับสูง ซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์เอลนีโญ และลานีญา ซึ่งในปี 2568 คาดว่าสถานการณ์ดังกล่าว จะไม่รุนแรง และส่งผลกระทบต่อราคาไม่มากนัก 3. การชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ และการจำหน่ายรถยนต์ภายในประเทศ จะส่งผลให้ค่าเช่าบ้านและราคารถยนต์เพิ่มขึ้นอย่างจำกัด และ 4. สินค้าสำคัญมีแนวโน้มปรับขึ้นราคาอย่างจำกัด จากปัจจัยด้านต้นทุนสำคัญที่มีแนวโน้มปรับลดลง เช่น อัตราดอกเบี้ย และราคาน้ำมันในตลาดโลก
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 ธ.ค. 67)
Tags: กระทรวงพาณิชย์, เงินเฟ้อ