น.ส.ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) ที่มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นผู้อำนวยการฯ ได้ติดตามการระบายน้ำของเขื่อนบางลาง โดยให้บริหารจัดการน้ำอยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนในจังหวัดปัตตานีและยะลาที่อาศัยอยู่บริเวณท้ายเขื่อน โดยใน่ชวง 7 วันที่ผ่านมา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้งดการระบายน้ำ และช่วยกักเก็บปริมาณน้ำไว้กว่า 400 ล้าน ลบ.ม. และคณะทำงานบริหารจัดการน้ำเขื่อนบางลางได้มีมติให้เริ่มการระบายน้ำแบบขั้นบันไดตั้งแต่ 138.38 ลบ.ม./วินาที ถึง 185.18 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบให้พื้นที่น้ำท่วมขยายขอบเขตออกไป และรักษาระดับน้ำให้เกิดผลกระทบต่อท้ายเขื่อนให้น้อยที่สุด
“ที่ประชุม ศปช.ได้ย้ำว่าการระบายน้ำดังกล่าวต้องเกิดผลกระทบกับพื้นที่ท้ายน้ำให้น้อยที่สุด ซึ่งจากการวิเคราะห์ปริมาณน้ำเมื่อรวมกับแหล่งอื่นที่จะไปถึงสถานีตรวจวัด X40A ที่ อ.เมือง จ.ยะลาจะต้องไม่เกิน 1,400 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะยังต่ำกว่าระดับสูงสุดที่ระดับ 1,500 ลบ.ม./วินาที ทั้งนี้ได้ทำความเข้าใจกับประชาชนท้ายน้ำและแจ้งเตือนพื้นที่ลุ่มต่ำ พร้อมเตรียมเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เสี่ยงแล้ว” น.ส.ศศิกานต์ กล่าว
ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานว่า ขณะนี้ยังมีสถานการณ์อุทกภัยใน 7 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช พัทลุง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ครอบคลุมพื้นที่ 78 อำเภอ 508 ตำบล 3,387 หมู่บ้าน มีบ้านเรือนได้รับผลกระทบ 617,386 ครัวเรือน โดยได้ช่วยเหลืออพยพประชาชนไปยังพื้นที่ปลอดภัยและศูนย์พักพิงชั่วคราวแล้ว 213 แห่ง 14,855 คน
ขณะที่ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชนได้ระดมกำลังคนรวม 3,470 นาย และเครื่องจักรเครื่องมือจาก 2,073 หน่วย พร้อมเฮลิคอปเตอร์บรรเทาสาธารณภัย KA-32 และทีมกู้ภัยประจำการในพื้นที่ภาคใต้ปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือประชาชนจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 ธ.ค. 67)
Tags: ระบายน้ำ, ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์, เขื่อนบางลาง