นายกฯ กำชับเร่งป้องกันน้ำท่วมภาคเหนือให้เสร็จทันฤดูฝนปีหน้า

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นำคณะ ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการฟื้นฟูหลังเหตุการณ์อุทกภัยในภาคเหนือ โดยได้รับฟังแผนการดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและดินโคลนถล่มที่อำเภอแม่น้ำสาย จังหวัดเชียงราย จากผู้บริหารสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช. ) กรมการทหารช่าง กรมโยธาธิการและผังเมือง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หากดำเนินการตามแผนงานดังกล่าวเสร็จแล้วจะสามารถลดความเสียหายและช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ได้ โดยขอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเร่งดำเนินการโดยเร็วให้ทันสถานการณ์ ส่วนเรื่องงบประมาณต้องไม่ซ้ำซ้อนและวางแผนให้ชัดเจน รวมทั้งให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่น้อยที่สุด

โดยนายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปตรวจคันดินบริเวณตลาดสายลมจอยและทักทายประชาชนที่รอต้อนรับ ก่อนจะเป็นประธานพิธีเปิดงาน “ปรับ ฟื้น คืนสุข เมืองล้านนา” เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ และส่งมอบมาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อหลายมาตรการให้ประชาชนที่บริเวณด่านศุลกากรแม่สาย จังหวัดเชียงราย

“นายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมบริเวณด่านตรวจคนเข้าเมืองอำเภอแม่สาย เพื่อติดตามการฟื้นฟูซึ่งได้กลับคืนสู่ภาวะปรกติแล้ว โดยมีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศเดินทางมาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก โดยบรรยากาศของการค้าขายกลับมาคึกคักเช่นเดิม” นายจิรายุ กล่าว

สำหรับแผนแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและดินโคลนถล่ม จังหวัดเชียงราย จะเป็นการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างพื้นฐาน (Hard Side) แบ่งเป็น 3 ระยะ ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้ดำเนินการตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ได้แก่

1.แผนระยะเร่งด่วน (1 ปี) ได้แก่ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการไหลของน้ำในลำน้ำ โดยการขุดลอกคูคลอง รื้อถอนสิ่งกีดขวางลำน้ำ ทำพนังกั้นน้ำชั่วคราว/กึ่งถาวรในแม่น้ำสายระยะทาง 15 กม. และแม่น้ำรวกระยะทาง 44 กม. โดยกองทัพบกจะดำเนินการออกแบบและจัดทำแผนพัฒนางานขุดลอก และทำพนังกันน้ำชั่วคราว/กึ่งถาวรระยะทาง 14.5 กม. ซึ่งจะแล้วเสร็จกลางเดือน ธ.ค.นี้ และให้เสนอแผนพัฒนางานขุดลอกและกลไกในการขับเคลื่อนในการประชุม JCR ครั้งที่ 4/2567 ในวันที่ 19-20 ธ.ค.67 ดำเนินการโดย Sub JCR และกองทัพบก จากนั้นกองทัพบกจะดำเนินการขุดลอก รื้อถอนสิ่งกีดขวางลำน้ำ และพนังกั้นน้ำชั่วคราว/กึ่งถาวรแผนดำเนินการ ในช่วงกลางเดือน ม.ค.-พ.ค.68 ให้เสร็จก่อนฤดูฝนในปี 2568

2.แผนระยะกลาง 1-3 ปี ประกอบด้วย 2 แผนงาน ได้แก่

  • โครงสร้างป้องกันน้ำท่วมและป้องกันตลิ่งบริเวณริมฝั่งแม่น้ำ ให้วิเคราะห์จุดเสี่ยงการกัดเซาะตลิ่งหลังจากการขุดลอกในระยะเร่งด่วน โดยให้กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมชลประทาน กรมเจ้าท่า และ สทนช.ดำเนินการสำรวจและออกแบบโครงสร้างป้องกันตลิ่งระหว่างเดือน ก.ค.68-มิ.ย.69 และให้ดำเนินการก่อสร้างในปี 2570-2572
  • โครงการขุดคลองผันน้ำ ให้วิเคราะห์ตำแหน่งและศึกษาผลกระทบ โดยให้กรมชลประทานสำรวจ ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และออกแบบระหว่างเดือน ก.ค.68-มิ.ย.69 และให้ดำเนินการก่อสร้างในปี 2570-2572

3.แผนระยะยาว (3-5 ปี) ได้แก่ โครงการจัดการพื้นที่รับน้ำชั่วคราว (แก้มลิง) ให้วิเคราะห์ตำแหน่งและศึกษาผลกระทบ โดยให้กรมชลประทานสำรวจ ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และออกแบบภายในปี 2567 และให้กรมชลประทาน และ อปท.ดำเนินการก่อสร้างในปี 2571-2573

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 ธ.ค. 67)

Tags: , ,
Back to Top