กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยถึงผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอม ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 22-28 พฤศจิกายน 2567 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 835,284 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 655 ข้อความ
สำหรับช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 609 ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 44 ข้อความ Website จำนวน 2 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 245 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 69 เรื่อง
ทั้งนี้ กระทรวงดีอี ได้แบ่งข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจเป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย
กลุ่มที่ 1 : นโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ ความสงบเรียบร้อยของสังคม ขัดศีลธรรมอันดี และความมั่นคงภายในประเทศ จำนวน 113 เรื่อง
กลุ่มที่ 2 : ผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมายจำนวน 62 เรื่อง
กลุ่มที่ 3 : ภัยพิบัติ จำนวน 15 เรื่อง
กลุ่มที่ 4 : เศรษฐกิจ จำนวน 18 เรื่อง
กลุ่มที่ 5 : กลุ่มอาชญากรรมออนไลน์ จำนวน 37 เรื่อง
เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจในลำดับต้นๆ ในสัปดาห์นี้ พบว่าเป็นข่าวเกี่ยวกับสุขภาพ และหน่วยงานของรัฐ รวมถึงเรื่องภัยพิบัติ และผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสุขภาพ ซึ่งมีผลกระทบต่อสังคมส่วนใหญ่ อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด วิตกกังวลได้ โดยข่าวที่ได้รับความสนใจจากประชาชนมากที่สุด 10 อันดับ ได้แก่
อันดับที่ 1 : เรื่อง หาวมากอาจเป็นเพราะไตบกพร่อง
อันดับที่ 2 : เรื่อง ประเทศไทย ไม่เข้าร่วมพิธีปิดการประชุม ASEAN Summit
อันดับที่ 3 : เรื่อง ทหารเรือเตือนรัฐบาล ต้าน MOU44 ประกาศรักษาอธิปไตยทางทะเล
อันดับที่ 4 : เรื่อง ลักษณะของเมฆเตือนภัยแผ่นดินไหว
อันดับที่ 5 : เรื่อง ศธ. ประกาศให้ชุดยุวกาชาดใส่แค่หมวกหรือผ้าพันคอ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายได้
อันดับที่ 6 : เรื่อง ผู้หญิงที่ดื่มเบียร์ทุกวันจะทำให้หน้าอกใหญ่ขึ้น 80%
อันดับที่ 7 : เรื่อง ลักษณะของเมฆควันสีขาวเป็นเมฆเตือนภัย จะมีการเกิดเหตุคลังแก๊ส คลังน้ำมันระเบิดครั้งใหญ่
อันดับที่ 8 : เรื่อง กฟภ. ออกเอกสารแจ้งผู้ใช้ไฟฟ้า เรื่องการสับเปลี่ยนมิเตอร์อิเล็กทรอนิกส์ ทดแทนมิเตอร์จานหมุน
อันดับที่ 9 : เรื่อง เอกสารห้ามเผยแพร่ ชุด ช.10 ช.11 และ ช.12 จัดทำโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
อันดับที่ 10 : เรื่อง หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล บริษัท ชิอิน ลอสแอนเจลิส จำกัด
สำหรับอันดับ 1 เรื่อง “หาวมาก อาจเป็นเพราะไตบกพร่อง” กระทรวงดีอี ได้ประสานงานร่วมกับโรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าเป็นข้อมูลเท็จ โดยขอชี้แจงว่า อาการหาว เป็นพฤติกรรมปกติของมนุษย์ กลไกการเกิดยังไม่สามารถอธิบายได้แน่ชัด แต่มักถูกกระตุ้นเมื่อง่วงนอน อยู่ในภาวะเหนื่อยล้า ความรู้สึกเบื่อ หรือความเครียด อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ที่ระบุว่า อาการหาวมีความสัมพันธ์กับโรคไต
ดังนั้นขอเตือนให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ โดยประชาชนที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารจากโรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ที่เว็บไซต์ www.rajavithi.go.th หรือโทร. 02 206 2900
ด้านข่าวปลอม อันดับ 2 “ประเทศไทย ไม่เข้าร่วมพิธีปิดการประชุม ASEAN Summit” กระทรวงดีอี ได้ประสานงานร่วมกับ กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ พบว่าเป็นข้อมูลเท็จ โดยขอชี้แจงว่า เป็นการเผยแพร่ข้อมูลให้เกิดความเข้าใจผิด เนื่องจากเดิมนายกรัฐมนตรี มีกำหนดเข้าร่วมพิธีปิดดังกล่าว แต่ด้วยที่มีภารกิจก่อนหน้าที่แน่น จึงได้มอบหมายให้ รมว.ต่างประเทศ เข้าร่วมแทน ซึ่งการมอบผู้แทนระดับสูงเข้าร่วมงานในลักษณะนี้ เป็นแนวปฏิบัติสากลของการประชุมระหว่างประเทศ โดยจะเห็นได้ว่า ในภาพดังกล่าว มีผู้นำของบางประเทศที่ได้มอบหมายให้ รมว.ต่างประเทศ ของตนเข้าร่วมแทนเช่นกัน
ทั้งนี้ เก้าอี้สำหรับผู้นำไทย ซึ่งมีการวางธงชาติไทยบนโต๊ะหน้าเก้าอี้ด้วย ไม่ได้ว่างตามที่เป็นข่าว โดยมี รมว.ต่างประเทศ ในฐานะผู้แทนนายกฯ ยืนอยู่หน้าตำแหน่งของเก้าอี้ดังกล่าว และมีเก้าอี้ว่างอยู่ด้านขวา แต่ด้วยมุมของการถ่ายภาพ อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด ดังนั้นขอเตือนให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 พ.ย. 67)
Tags: ข่าวปลอม, ดีอี, เฟคนิวส์