นายปิยสวัสด์ อัมมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บมจ.การบินไทย (THAI) เปิดเผยว่า การประชุมเจ้าหนี้ของ THAI วันนี้ที่มาประชุม ที่ประชุมเห็นชอบข้อเสนอทั้ง 3 วาระ โดยในประเด็นการเพิ่มผู้บริหารแผนอีก 2 ราย มีคะแนนใกล้เคียงกันมาก
วาระที่ 1 ให้อำนาจแก่ผู้บริหารแผนลดมูลค่าที่ตราไว้ (Par Value) เพื่อนำไปล้างขาดทุนสะสม เห็นชอบ 87% หรือคิดเป็นมูลหนี้ 96,450 ล้านบาท และไม่เห็นชอบ 13% คิดเป็นมูลหนี้ 14,347 ล้านบาท รวมจำนวนหนี้ 110,797 ล้านบาท
วาระที่ 2 ให้บริษัทสามารถจ่ายเงินปันผลได้ มีผู้เห็นชอบ 86% มูลหนี้ 94,482 ล้านบาท และไม่เห็นชอบ 14% มูลหนี้ 14,939 ล้านบาท รวมจำนวนหนี้ 109,421 ล้านบาท
วาระที่ 3 เพิ่มผู้บริหารแผนจำนวน 2 คน คือนายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม และนายพลจักร นิ่มวัฒนา รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กระทรวงการคลัง โดยวาระนี้มีเจ้าหนี้รวมมูลหนี้ 107,552 ล้านบาท เห็นชอบ 50.4% มูลหนี้ 52,210 ล้านบาท และไม่เห็นชอบ 49.6% มูลหนี้ 53,341 ล้านบาท
นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า ขั้นตอนต่อไปบริษัทจะเสนอผลการประชุมเจ้าหนี้ต่อศาลล้มละลายกลาง โดยศาลฯ ได้นัด 12 ธ.ค.นี้เพื่อให้ความเห็นชอบผลการประชุมเจ้าหนี้ โดยคาดว่าจะมีเจ้าหนี้ที่ลงมติไม่เห็นชอบยื่นคัดค้านทั้ง 3 เรื่อง ซึ่งศาลฯ คงจะต้องนัดไต่สวนต่อไป
*ตีความวุ่น “คลัง” เป็นเจ้าหนี้หรือไม่?
รายงานข่าวระบุว่า ในที่ประชุมเจ้าหนี้วันนี้ ตัวแทนจากสหกรณ์ออมทรัพย์สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นหนึ่งในเจ้าหนี้ได้สอบถามว่าสถานะของกระทรวงการคลังเป็นอย่างไร ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ระบุว่า กระทรวงพาณิชย์ ยังไม่จดทะเบียนใหม่ของ THAI เพราะฉะนั้นก็ยังมีสิทธิโหวต
ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมาย THAI เห็นแย้งว่า ภาระหนี้ของกระทรวงการคลังยุติเมื่อแปลงหนี้เป็นทุนเมื่อ 25 พ.ย.ที่ผ่านมาที่ผู้บริหารแผนฯ ได้มีมติไปเมื่อ 25 พ.ย.แปลงหนี้เป็นทุนของกระทรวงการคลังทั้ง 100% ส่วนเจ้าหนี้สถาบันการเงิน และเจ้าหนี้หุ้นกู้แปลงหนี้เป็นทุน 25% ในส่วนภาคบังคับ และในส่วนภาคสมัครใจก็มีการแปลงหนี้เป็นทุนเพิ่มเติมด้วย
และต่อมาผู้บริหารแผนฯ ได้ยื่นรายละเอียดการแปลงหนี้ฯ ที่ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ หลังจากนั้นก็ยื่นไปที่ศาลล้มละลายกลางเมื่อวันที่ 26 พ.ย.และวันที่ 27 พ.ย.ศาลฯก็มีคำสั่ง ต่อมาก็ส่งไปยังกระทรวงพาณิชย์เพื่อจดทะเบียนทุนใหม่
“มีความเห็นแตกต่างกัน นักกฎหมาย บางท่านก็ตีความว่ากระทรวงการคลังไม่ได้เป็นเจ้าหนี้ THAI ตั้งแต่ผู้บริหารแผนมีมติแล้ว แต่บางรายก็มองว่ากระทรวงการคลังพ้นจากการเป็นเจ้าหนี้ในวันที่ศาลฯ มีคำสั่งเมื่อ 27 พ.ย. ขณะที่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ชี้ขาดให้กระทรวงการคลังโหวตได้” นายปิยสวัสดิ์ กล่าว
นายปิยสวัสด์ กล่าวว่า ทางกระทรวงการคลัง ตีความว่ายังคงสถานะเป็นเจ้าหนี้เมื่อยังไม่มีการจดทะเบียนใหม่หลังแปลงหนี้เป็นทุน ซึ่งเป็นที่มาของการที่กระทรวงการคลังขอให้กระทรวงพาณิชย์ ชะลอการจดทะเบียนใหม่ ทั้งนี้ คาดว่าจะเป็นประเด็นถกเถียงกันต่อไป คงต้องให้ศาลฯ เป็นผู้พิจารณา
แต่คาดว่าประเด็นนี้จะไม่กระทบกับแผนฟื้นฟูของการบินไทย โดยมีกำหนดยื่นออกจากแผนในไตรมาส 2/68 แต่สิ่งสำคัญคือต้องการให้มีการลดพาร์เพื่อล้างขาดทุนสะม ไม่ให้มีผลต่องบกำไรขาดทุน เพื่อให้จ่ายเงินปันผลได้ ไม่เช่นนั้นต้องรออีก 10 ปี เพราะหากออกจากแผนแล้วค่อยไปลดพาร์จะมีความยุ่งยากมากกว่า เพราะฉะนั้นก็ยังมีเวลาหลายเดือนสามารถให้ศาลวินิจฉัยเห็นชอบออกจากแผน เบื้องต้นเห็นว่าขั้นตอนการลดพาร์ไม่ควรเกินเดือน มี.ค.68
โดยประเด็นลดพาร์และจ่ายเงินปันผล คาดว่าผู้คัดค้านเป็นเจ้าหนี้ธนาคารแห่งหนึ่ง
*ขายหุ้นเพิ่มทุนอาจสะดุดหลังมีสัญญาณรัฐแทรกแซง
นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า จากการเพิ่มผู้บริหารแผน 2 ราย ที่มาจากภาครัฐเป็นสัญณาณว่าการบินไทยจะถูกครอบงำและแทรกแซงจากภาครัฐเช่นเดียวในอดีต จึงคาดว่าน่าจะมีผลกระทบการขายหุ้นเพิ่มทุน โดยเฉพาะนักลงทุนที่เป็น High Net Worth เพราะเป็นประเด็นที่วิตกกังวลมากที่จะมีการครอบงำ แทรกแซงจากรัฐ โดยบริษัทจะเปิดให้จองซื้อหุ้นเพิ่มทุนในวันที่ 6-12 ธ.ค. นี้ เกรงว่าอาจไม่สามารถระดมทุนได้ตามที่ตั้งเป้าไว้
“น่าเป็นห่วง การขายหุ้นเพิ่มทุนอาจจบไม่สวย ไม่ได้เงินเท่าที่ควร กลุ่มนักลงทุน High Net Worth ไม่เกิน 50 ราย แสดงความวิตกเรื่องนี้มาก” นายปิยสวัสดิ์ กล่าว
ช่วงทำโรดโชว์หลายครั้งกับผู้ถือหุ้นเดิมก็มีคำถามถึงบทบาทภาครัฐที่มีต่อการบินไทยในระยะต่อไป ซึ่งทุกคนกลัวมาก ซึ่งถือว่าเป็นประเด็นสำคัญ รวมถึงมีผลกระทบต่อความมั่นใจในการเลือกกรรมการบริษัทด้วยที่จะบริหารบริษัทต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 พ.ย. 67)
Tags: THAI, การบินไทย, ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์, หุ้นไทย