ยูนิโคล่ (Uniqlo) แบรนด์เสื้อผ้าชื่อดังจากญี่ปุ่น กำลังเผชิญกระแสสังคมในจีนเรียกร้องให้คว่ำบาตร หลังจากที่ซีอีโอของบริษัทแม่ระบุว่า บริษัทไม่ได้ใช้ฝ้ายที่มาจากเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ของจีน ซึ่งในช่วงหลายปีมานี้ถูกกล่าวหาว่ามีการบังคับใช้แรงงานชาวอุยกูร์
ทาดาชิ ยานาอิ ซีอีโอบริษัท ฟาสต์ รีเทลลิ่ง (Fast Retailing) มีถ้อยแถลงดังกล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซี ณ กรุงโตเกียว ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันพฤหัสบดี (28 พ.ย.)
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า สองแฮชแท็กที่เกี่ยวกับความเห็นของยานาอิได้กลายเป็นไวรัลบนเวยป๋อ (Weibo) แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียจีนในวันนี้ (29 พ.ย.) โดยผู้ใช้หลายรายวิพากษ์วิจารณ์บริษัทอย่างรุนแรงและสาบานว่าจะไม่ซื้อสินค้าอีกต่อไป
ผู้ใช้รายหนึ่งเขียนว่า “ท่าทีจากยูนิโคล่ และความหยิ่งผยองของผู้ก่อตั้ง พวกเขาคงคิดว่าผู้บริโภคในจีนแผ่นดินใหญ่จะลืมเรื่องนี้ในอีกไม่กี่วันและกลับมาซื้อสินค้าเหมือนเดิม เพราะฉะนั้น ครั้งนี้เราจริงจังกันหน่อยไหม”
จีนเป็นตลาดต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดของบริษัท ฟาสต์ รีเทลลิ่ง โดยมีร้านมากกว่า 900 สาขาในจีนแผ่นดินใหญ่ นอกจากนี้ รายได้รวมจากจีนแผ่นดินใหญ่ ไต้หวัน และฮ่องกง ยังคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 20% ของรายได้ทั้งหมดของบริษัท
ทั้งนี้ ประเด็นเรื่องการจัดหาวัตถุดิบจากซินเจียงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนทางการเมืองระหว่างประเทศสำหรับบริษัทต่างชาติที่มีธุรกิจขนาดใหญ่ในจีน เห็นได้จากกรณีที่เอชแอนด์เอ็ม (H&M) คู่แข่งของยูนิโคล่ ถูกผู้บริโภคในจีนคว่ำบาตรเมื่อปี 2564 สืบเนื่องมาจากข้อความบนเว็บไซต์ทางการที่แสดงความกังวลเกี่ยวกับข้อกล่าวหาเรื่องการบังคับใช้แรงงานในซินเจียง และประกาศว่าจะไม่จัดหาฝ้ายจากซินเจียงอีกต่อไป
ร้าน H&M ถูกถอดออกจากบรรดาแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ของจีน และตำแหน่งร้านถูกลบออกจากแอปแผนที่ในจีน ท่ามกลางความโกรธแค้นของผู้บริโภคชาวจีนที่มีต่อบริษัทที่ปฏิเสธการใช้ฝ้ายจากซินเจียง ขณะเดียวกัน แบรนด์ตะวันตกอย่างไนกี้ (Nike), พูม่า (Puma), เบอร์เบอรี่ (Burberry) และอื่น ๆ ก็ได้รับผลกระทบจากข้อพิพาทนี้เช่นกัน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 พ.ย. 67)
Tags: UNIQLO, ซินเจียง, ยูนิโคล่