น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ช่วงระหว่างวันที่ 11-26 พ.ย.67 คณะผู้แทนจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้เดินทางมาประเทศไทย เพื่อประเมินภาพรวมภาวะเศรษฐกิจและหารือกับหน่วยงานของไทย เช่น กระทรวงการคลัง, ธปท., สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์), สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กระทรวงพาณิชย์ รวมทั้งภาคธุรกิจต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาคการเงิน และภาคเศรษฐกิจจริง ซึ่งมีการจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ทั้งนี้ เพื่อประเมินภาวะเศรษฐกิจ การเงิน และมุมมองของนโยบายภาครัฐที่สำคัญ
โดยจากที่ IMF ได้ประเมินภาพเศรษฐกิจไทย พบว่าเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวได้แบบค่อยเป็นค่อยไป โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักจากการบริโภคภาคเอกชน และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว แม้ว่าในช่วงแรกของปีนี้ การเบิกจ่ายภาครัฐจะยังมีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ไม่มากนัก อันเนื่องจากความล่าช้าในการจัดทำ พ.ร.บ.งบประมาณร่ายจ่าย ประจำปี 2567 แต่ IMF ก็คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้ จะขยายตัวได้ 2.7% และคาดว่าในปี 68 เศรษฐกิจไทย จะขยายตัวได้ 2.9% โดยมีปัจจัยหลักจากการใช้จ่ายภาครัฐ และการลงทุนภาคเอกชนที่จะกลับมาเป็นแรงขับเคลื่อนได้ดีขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับประมาณการของ ธปท. และหน่วยงานด้านเศรษฐกิจของไทย
โฆษก ธปท. กล่าวต่อว่า IMF มองว่ายังมีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การค้าโลก ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจในภูมิภาค รวมทั้งไทยด้วย โดยอาจจะมีผลกระทบต่อการส่งออก และการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่ลดลง นอกจากนี้ ยังมีความกังวลต่อความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งจะส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และการเงินของประเทศได้ รวมถึงความเสี่ยงจากภาระหนี้ของเอกชน ที่อาจจะส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป
สำหรับนโยบายการคลังนั้น IMF มองว่า เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวได้แล้ว ในระยะต่อไปการทำนโยบายจะต้องเน้นการสร้าง Policy Space มากขึ้น ซึ่งนโยบายการคลังขยายตัวได้น้อยกว่าแผนที่คาดไว้ แต่ก็ยังสามารถทำหน้าที่ในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ และต้องรักษา Policy Space ไว้ หรือจัดสรรงบประมาณบางส่วนไปลงทุนในการเพิ่มการผลิตภาพ และปฏิรูปการคุ้มครองทางสังคม เพื่อทำให้การเติบโตเป็นไปอย่างทั่วถึงมากขึ้น และลดสัดส่วนหนี้สาธารณะลงด้วย
สำหรับนโยบายการเงินนั้น IMF เห็นด้วยกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา และเห็นว่ายังสามารถลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมได้ เพื่อช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และช่วยเพิ่มความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ เนื่องจากปัจจุบันความเสี่ยงในการก่อหนี้ใหม่อาจจะมีไม่มาก เพราะสินเชื่อชะลอตัว
“ตอนที่หารือ เราก็มองตรงกันว่า เป็นเรื่องของการปรับให้อยู่ในภาวะ Neutral หรือภาวะปกติ ไม่ได้เป็น Easing Cycle ซึ่งอันนี้เห็นตรงกัน เพียงแต่ range ของการประเมินอาจจะมีบวก/ลบ ต่างกันบ้าง ซึ่ง IMF มองว่าถ้าปรับลดอีกครั้งหนึ่งก็น่าจะได้ และแนะนำให้ ธปท.เตรียมพร้อม และปรับนโยบายที่เป็น Data และ Outlook Dependent เพื่อรองรับความเสี่ยง และความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้น ซึ่งก็สอดคล้องกับมุมมองของ กนง.” น.ส.ชญาวดี ระบุ
นอกจากนี้ IMF ยังสนับสนุนการใช้หลักเกณฑ์การปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Responsible Lending) และการปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ที่ยังมีศักยภาพในการชำระหนี้ โดยที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหา Moral Hazard ตลอดจนการส่งเสริมความรู้ทางการเงิน และการทำกระบวนการล้มละลายที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้สามารถจัดการปัญหาหนี้ได้ และที่สำคัญคือนโยบายปฏิรูปเชิงโครงสร้างที่จะช่วยเรื่องการเพิ่มศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ยั่งยืน
“IMF ได้พูดถึงการส่งเสริมการแข่งขัน การเปิดกว้าง การเพิ่มความซับซ้อนของสินค้าส่งออกให้สามารถแข่งขันได้มากขึ้น โดยใช้ประโยชน์จากดิจิทัลที่เป็น trend อยู่ในขณะนี้ รวมทั้งการเพิ่มและพัฒนาทักษะใหม่ให้แก่แรงงาน อาจเปิดเสรีในภาคบริการเพิ่มขึ้น และเพิ่มการแข่งขันของ Governance ต่าง ๆ รวมถึงยกระดับโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เพื่อจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยสามารถใช้โอกาสจากการเติบโตจากฝั่ง Digital และ Green ได้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้ครัวเรือนที่มีรายได้น้อย สามารถรับมือกับความผันผวน และแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนด้วย” โฆษก ธปท.ระบุ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 พ.ย. 67)
Tags: GDP, IMF, ชญาวดี ชัยอนันต์, เศรษฐกิจไทย