SCB ลุยฝ่า 3 ความท้าทาย เสริมแกร่งดิจิทัลรับ Virtual Bank มุ่งเน้นลด Cost ปั้นธุรกิจรายย่อย-Wealth ขึ้นเบอร์ 1

นายกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กล่าวว่า ธนาคารยังพบกับความท้าทาย 3 ด้านใหญ่ๆ ได้แก่ 1. ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ยังคงเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตช้าลง โดยคาดการเติบโตของเศรษฐกิจไทย (GDP) อยู่ที่ 2.4% 2. ระดับหนี้ครัวเรือนไทยที่ยังสูงซึ่งเพิ่มความท้าทายในธุรกิจสินเชื่อมากขึ้น และ 3. เทรนด์ AI และกฎกติกาด้าน ESG ยังคงมีผลต่อการดำเนินธุรกิจ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเกิดขึ้นของธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) ซึ่งคาดว่าจะมีการประกาศผู้ที่ได้ใบอนุญาต Virtual Bank อย่างเป็นทางการภายในไตรมาส 2/68 จะเป็นอีกจุดเปลี่ยนที่สำคัญในระบบการเงินของไทย

สิ่งที่ธนาคารยังคงเดินหน้าในการสร้างประสิทธิภาพในการทำงาน คือ การปรับโครงสร้างองค์กรของธนาคารไทยพาณิชย์อย่างต่อเนื่อง เพื่อลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน โดยที่มีเป้าหมายอยากให้ Cost to income ลดลงมาอยู่ที่ 30% ซึ่งอาจจะต้องใช้ระยะเวลาอีก 3-5 ปี จากปัจจุบันอยู่ที่ 36.7% ซึ่งลดลงมาจากวันแรกที่ได้เข้ามารับตำแหน่งที่ 41%

ในปี 68 ธนาคารจะดำเนินกลยุทธ์ Digital Bank with Human Touch โดยมุ่งสร้างการเติบโตธุรกิจและพัฒนากระบวนการภายใน (Scale & Operate) ให้เป็นธนาคารดิจิทัลที่เหนือกว่าทั้งเทคโนโลยีและบริการ เพื่อเป็นรากฐานไปสู่องค์กรยั่งยืนจากนี้ จึงเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับกับความท้าทายใหม่ที่จะเกิดขึ้น โดยจะให้ความสำคัญกับการสร้างคุณภาพใน 3 ส่วน ได้แก่ การมอบคุณภาพให้ลูกค้าด้วยบริการที่ตรงใจ การยกระดับคุณภาพขององค์กร และการสร้างพนักงานที่มีคุณภาพ ผ่านการปรับโครงสร้างและวิถีการทำงาน สร้างความสามารถในการแข่งขัน พร้อมพัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่องเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ท่ามกลางสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนไป โดยจะดำเนินการบน 3 แนวทาง ดังนี้

1. ปรับโครงสร้างการดูแลลูกค้าโดยยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง โดยควบรวมช่องทางให้บริการ พัฒนาผลิตภัณฑ์ และช่องทางดิจิทัลเข้าไว้ด้วยกันเพื่อมอบประสบการณ์ไร้รอยต่อให้เกิดขึ้นจริง ทั้งยังสร้างความคล่องตัวในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่ม

2. วางรากฐานดิจิทัลให้แข็งแกร่ง เร่งเสริมความสามารถทางด้าน Digital และ AI ให้ครอบคลุมทั้งองค์กร และแบ่งทีมดิจิทัลเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้าน AI & DATA Intelligence (Center of Excellence: COE) เป็นศูนย์กลางสนับสนุนการพัฒนาทางด้านดิจิทัลโดยเฉพาะ และอีกส่วนหนึ่งจะถูกจัดลงสู่ทีมธุรกิจเพื่อส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินของแต่ละกลุ่มธุรกิจเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าทุกกลุ่มอย่างแท้จริง

3. เสริมศักยภาพในการสร้างผลิตภัณฑ์และบริการ ภายใต้โจทย์ เร็ว ดี มีนวัตกรรม เพื่อให้รูปแบบการทำงานแบบใหม่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เข้าถึงความต้องการลูกค้าอย่างแท้จริง และไม่หยุดที่จะพัฒนาเพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์แบบเฉพาะบุคคล (Hyper-personalization)

“ยอมรับว่ายังมีความท้าทายในการลด Cost to income ลงมา จาก Legacy ที่ไทยพาณิชย์มีมา แต่ก็พยายามในการปรับโครงสร้างของธนาคารมาต่อเนื่อง ซึ่งอยากให้ SCB อยู่คู่สังคมไทยไปอีกร้อยปี” นายกฤษณ์ กล่าว

ขณะเดียวกันธนาคารยังคงมีเป้าหมายในการผลักดัน 2 กลุ่มธุรกิจ ของธนาคารให้ขึ้นไปเป็นเบอร์ 1 ของอุตสาหกรรม ได้แก่ ธุรกิจสินเชื่อรายย่อย และธุรกิจการบริหารจัดการความมั่งคั่ง (Wealth management) ซึ่งเป็นธุรกิจที่จะมีการเร่งตัวขึ้นในปี 68 จากที่ปัจจุบันกลุ่มสินเชื่อรายใหญ่ และสินเชื่อเอสเอ็มอี ได้เป็นเบอร์ 1 ของอุตสาหกรรม ประกอบกับการเพิ่มสัดส่วนรายได้จากการให้บริการผ่านดิจิทัล ที่จะเพิ่มความสามารถในการทำธุรกรรมผ่าน SCB Easy ให้มากขึ้น เพื่อทำให้ลูกค้าเข้าถึงบริการต่างผ่านดิจิทัล และทำให้สัดส่วนรายได้จากดิจิทัลเพิ่มเป็น 25% ในปี 68 จากปีนี้ที่ 15%

“ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจและธุรกิจที่มีความท้าทาย ธนาคารต้องเร่งเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันเพื่อสร้างการเติบโตของกำไรอย่างยั่งยืน ความสำเร็จที่เราเป็นในวันนี้อาจไม่เพียงพอต่อการเป็นผู้นำในวันข้างหน้า ดังนั้น เพื่อรักษาความสามารถทางการแข่งขันในอนาคต ธนาคารไทยพาณิชย์จึงต้องเร่งพัฒนาเพื่อให้เรายังคงวิ่งไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็วและเป็นผู้นำต่อไปได้ และสร้างไทยพาณิชย์ให้เป็นองค์กรแห่งนวัตกรรมที่สร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืนแก่ผู้ถือหุ้น” นายกฤษณ์ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 พ.ย. 67)

Tags: , , , ,
Back to Top