“อัสสเดช” เปิด 3 กลยุทธ์หลักตลาดหุ้นไทย ผุด Jump+ เพิ่ม Value บจ., พัฒนา Bond Connect Platform

นายอัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิด 3 กลยุทธ์ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ 3 ปี (68-70) ภายใต้แนวคิด “เพื่อส่วนรวมและความเท่าเทียม” (Fair & Inclusive Growth) มุ่งสร้างความแข็งแกร่งเข้าถึงได้ง่ายและสร้างประโยชน์แก่ทุกภาคส่วน พร้อมปรับตัวท่ามกลางความท้าทายทางเศรษฐกิจและตลาดทุนโลก ประกอบด้วย

1. มุ่งมั่นเพื่อโอกาสการเติบโต (Enable Growth Ambitiously)

– เพิ่มความน่าสนใจด้านบริษัทจดทะเบียน

+ ริเริ่มโครงการ “Jump+” เพื่อสร้างการเติบโตให้กับตลาดทุนไทย โดยเฉพาะการเพิ่มมูลค่าให้กับบริษัทจดทะเบียน โดยเน้นบริษัทที่มีศักยภาพและมีความมุ่งมั่นในการเพิ่มมูลค่าของบริษัท โดยบริษัทจดทะเบียนสามารถเข้าร่วมตามความสมัครใจ ในขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะสนับสนุนให้เกิดพัฒนาการด้านการดำเนินงาน การขับเคลื่อนความยั่งยืนตามหลัก ESG การใช้เครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูล และปัญญาประดิษฐ์ (AI) บริการให้คำปรึกษา และเพิ่มช่องทางสื่อสารกับผู้ลงทุนเพื่อช่วยเพิ่มความน่าสนใจ และการรับรู้ให้แก่ผู้ลงทุน รวมทั้งสิทธิประโยชน์จากทั้งตลาดหลักทรัพย์ฯ หน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานพันธมิตร

+ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังเตรียมพัฒนาดัชนีใหม่ที่จะช่วยสะท้อนผลการดำเนินงานของบริษัทที่ประสบความสำเร็จจากโครงการ Jump+ และร่วมกับสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) จัดทำบทวิเคราะห์เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจลงทุน

– สร้างความน่าเชื่อถือและความเชื่อมั่น ด้วยการนำ AI มาใช้ในงานด้านกำกับบริษัทจดทะเบียน เพื่อติดตามเฝ้าระวัง ดำเนินมาตรการ และแจ้งเตือนแก่ผู้ลงทุนอย่างทันท่วงที พร้อมขยายองค์ความรู้ด้านบรรษัทภิบาล (corporate governance) สร้างความเข้าใจกลไกตลาดทุนแก่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยจะมีการประเมินประสิทธิผล และทบทวนมาตรการให้สอดคล้องกับบริบทปัจจุบัน

– ส่งเสริมและขยายการใช้ผลิตภัณฑ์ตลาดทุน นำเสนอข้อมูลและบริการที่ตอบโจทย์รองรับผู้ลงทุนที่หลากหลายและแตกต่าง พร้อมกับพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับการบริหารพอร์ตและการลงทุนทุกสถานการณ์ และขยายเวลาซื้อขายผลิตภัณฑ์ที่เชื่อมโยงกับต่างประเทศ ควบคู่กับการดึงดูดผู้ลงทุนสถาบันต่างประเทศ โดยเฉพาะจากจีน ออสเตรเลีย และตะวันออกกลาง ผ่านการนำเสนอข้อมูล (roadshow) ทั้งภายในและภายนอกประเทศ

” เราพบว่าครึ่งหนึ่งของ บจ.มี Price/Book Value (P/BV) ต่ำ ไม่ได้สะท้อนมูลค่าที่แท้จริง จะทำยังไง …โครงการ Jump+ เราคาดหวังให้บจ.เพิ่มศักยภาพ และเพิ่มมูลค่าได้”นายอัสสเดช กล่าว

ทั้งนี้ โครงการสนับสนุนการเติบโตของบริษัทจดทะเบียน ผ่าน jump+ โดยตลาดหลักทรัพย์จะพิจารณากลุ่มเป้าหมาย ในด้านการซื้อขาย ได้แก่ P/BV , Research coverage ,ด้านผลการดำเนินงาน อาทิ Revenue, growth , Margin และ ด้านผู้ถือหุ้น อาทิ ROE , Dividend

โดยสิ่งที่ บจ.ดำเนินการคือ วิเคราะห์ผลการดำเนินงาน , จัดทำแผนและกำหนดเป้าหมายการเติบโต และ สื่อสารความคืบหน้าของแผนให้กับผู้ลงทุน

นายอัสสเดช กล่าวว่า นอกจากนี้ ตลท.ต้องการช่วยเหลือ บจ.ขนาดเล็กที่ไม่ค่อยได้รับความสนใจจากผู้ลงทุน และไม่ได้มีบทวิเคราะห์หลักทรัพย์ครอบคลุม โดยปัจจุบันมี บจ.ในตลาด mai ย้ายเข้าตลาด SET ประมาณ 56-57 บริษัท รวมถึงกระบวนการ M&A ที่เป็นกลไกสำคัญสร้างการเติบโตของกิจการ หรือเพิ่มความหลากหลายธุรกิจ และการเพิ่มขนาด (Scale) ซึ่งก็สำคัญในการแข่งขัน

ขณะเดียวกันจะผลักดันให้ตลาดหลักทรัพย์ไทยเป็น Listing Hub ที่จะเป็นแหล่งระดมทุนของธุรกิจที่มีศักยภาพเชื่อมโยงการขับเคลื่อนประเทศจากทั้งในและต่างประเทศ เหมือนตลาดหุ้นสิงคโปร์ ฮ่องกง เป็นต้น โดยต้องชูจุดแข็งของไทย ในอุตสาหกรรมอาหาร ท่องเที่ยว และ Healthcare เพื่อยกระดับภาคธุรกิจของไทย

นอกจากนี้ ตลท.กำลังศึกษาว่า จะนำสตาร์อัพ และเอสเอ็มอีเชื่อมต่อกับตลาดทุน โดยได้ศึกษากรณีตัวอย่างในตลาดหุ้นเกาหลี หรือตลาดที่อิสตันบูลประเทศตุรกี ก็มี Venture Capital โดยทำเป็น Platform ที่เป็นตัวกลางให้ผู้ประกอบการรายย่อยและนักลงทุนมาพบกัน

2. ร่วมพัฒนา เพื่อความทั่วถึง (Grow Together & Inclusively)

– สนับสนุนการทำงานของผู้ร่วมตลาด พัฒนา Bond Connect Platform เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้ลงทุนบุคคลเข้าถึงการลงทุนพันธบัตรรัฐบาลในตลาดแรกและตลาดรองได้ง่ายขึ้น โดยผู้ลงทุนบุคคลสามารถจองซื้อพันธบัตรรัฐบาลในตลาดแรกในลักษณะเดียวกับการจองซื้อหุ้น IPO และยังสามารถซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลในตลาดรองผ่าน Platform พร้อมทั้งสามารถนำไปใช้เป็นหลักประกันสำหรับการลงทุนสินทรัพย์ประเภทอื่นได้

– มีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งหนึ่งในโครงสร้างดังกล่าว ได้แก่ การพัฒนาระบบชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ใหม่ (SET Clear) กำหนดเริ่มให้บริการในปี 2570 และขยายความร่วมมือในรูปแบบ IT service partnership อย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการขยายธุรกิจของตลาดหลักทรัพย์ฯ และผู้ร่วมตลาด

– ขยายการสื่อสารแก่ผู้ลงทุนและประชาชน เน้นการสื่อสารที่เข้าถึง ทั่วถึง สร้างความเข้าใจในประเด็นที่ผู้ลงทุนควรรู้แบบเข้าใจง่ายและทันการณ์ ผ่านช่องทางใหม่ๆ ด้วยสื่อ และกิจกรรมร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรทุกภาคส่วน พร้อมเตือนประชาชนให้รู้เท่าทันมิจฉาชีพหลอกลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ

นายอัสสเดช กล่าวว่า พันธบัตรรัฐบาลถือเป็นหลักทรัพย์ที่มีเสถียรภาพ ทำอย่างไรให้นักลงทุนรายย่อยเข้าถึงพันธบัตรรัฐบาล ทั้งตลาดแรกและตลาดรอง โดย Bond Connect Platform จะแก้ pain point ที่ให้รายย่อยสามารถซื้อได้ผ่านบัญชีหลักทรัพย์ที่มีอยู่ และตลาดรองก็จะมีสภาพคล่องมากขึ้น สามารถเปลี่ยนมือได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ดี ตลท.ยังไม่มีแผนนำหุ้นกู้บริษัทเอกชนเข้ามาซื้อขายใน Platform นี้ ส่วนค่าธรรมเนียมกำลังอยู่ระหว่างการศึกษา แต่จะไม่ใช้วิธี Auto Matching

3. สรรสร้างคนและอนาคต (Groom People & Our Future)

– พัฒนาระบบนิเวศเพื่อการเรียนรู้ทางการเงิน สร้างคนรุ่นใหม่ (Next Gen) ประกอบด้วย ผู้ลงทุน ผู้ประกอบวิชาชีพ ภาคการศึกษา และ Influencer ที่มีความรู้ความเข้าใจด้านการเงิน การลงทุน พร้อมทั้งนำเสนอ SET Learn Scape Platform ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มรองรับกระบวนการการเรียนรู้แบบเฉพาะบุคคลเพื่อพัฒนาบุคลากรบริษัทจดทะเบียน ช่วยสร้างศักยภาพพนักงาน เสริมความแข็งแกร่งทางธุรกิจได้อย่างยั่งยืน ทั้ง 2 โครงการจะร่วมมือกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อนำเสนอเนื้อหาความรู้ให้กลุ่มเป้าหมายมีภูมิคุ้นกันด้านการเงินและการลงทุน

ปัจจุบัน มีบัญชีลงทุนราว 6 ล้านบัญชี โดยตลาดฯมีแผนจับมือกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่จะไปให้ความรู้เกี่ยวกับการเงินส่วนบุคคลกับนักศึกษา รวมถึงดูแลกลุ่มผู้ลงทุนสูงอายุ

– สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ low carbon economy ร่วมกับพันธมิตร ด้วยการออกแบบรูปแบบ Carbon Market Platform ที่เหมาะสม เพื่อรองรับการซื้อขายคาร์บอนเครดิตทั้งในตลาดภาคบังคับ (Compliance market) และภาคสมัครใจ (Voluntary market) พัฒนาเครื่องมือในการคำนวณ Carbon Footprint ขององค์กร (SET Carbon) พร้อมสนับสนุนการสร้างหลักสูตรและจัดสอบผู้ทวนสอบ (Verifier) เพื่อส่งเสริมการมุ่งสู่ Low Carbon Economy และ Net Zero ในปี 2593

– เตรียมพร้อมคน ปรับวิถีงาน ตอบโจทย์อนาคต เสริมสร้างทักษะด้านดิจิทัล โดยเฉพาะ AI แก่พนักงาน เตรียมความพร้อมพัฒนาบุคลากรทุกระดับ ขับเคลื่อนองค์กรสู่อนาคต

ทั้งนี้ ตลาดฯได้นำร่อง 20 บจ.แล้ว และปีหน้าจะขยายจำนวน บจ.มากขึ้น ซึ่งจะรวมถึงบริษัทนอกตลาด(Non Listed) ด้วย รวมทั้งจะพัฒนา “Carbon Professional” โดยเฉพาะกลุ่มผู้ทวนสอบ (Verifier) รองรับความต้องการของภาคธุรกิจซึ่งปัจจุบันมีเพียง 155 รายเท่านั้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 พ.ย. 67)

Tags: , , , ,
Back to Top