นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ 34.55 บาท/ดอลลาร์ ทรงตัวจากช่วงปิดตลาดเย็นวานนี้ที่ระดับ 34.56/60 บาท/ดอลลาร์
เงินบาทเช้านี้ทรงตัวเทียบท้ายตลาด โดยเมื่อคืนนี้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 3/67 และดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ออกมาตามที่ตลาดคาด ขณะที่จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ออกมาดีกว่าคาด
“เมื่อคืนนี้ดอลลาร์อ่อนค่าเทียบสกุลเงินส่วนใหญ่ ปัจจัยหลัก ๆ มาจากค่าเงินเยนที่แข็งค่าไปเร็ว ตลาดจึงมองว่ามีโอกาสมากขึ้นที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือนธ.ค. นี้”
นักบริหารเงิน กล่าว
นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ไว้ที่ 34.40 – 34.65 บาท/ดอลลาร์
โดยช่วงนี้ต้องติดตามฟันโฟลว์ต่างชาติ ส่วนคืนนี้ตลาดสหรัฐฯ ปิดทำการเนื่องในวันขอบคุณพระเจ้า
ปัจจัยสำคัญ
- เงินเยน อยู่ที่ระดับ 151.48 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเย็นวานนี้ที่ระดับ 151.36/38 เยน/ดอลลาร์
- เงินยูโร อยู่ที่ระดับ 1.0558 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเย็นวานนี้ที่ระดับ 1.0514/0515 ดอลลาร์/ยูโร
- อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท. อยู่ที่ระดับ 34.684 บาท/ดอลลาร์
- นายกฯอิ๊งค์ ถกทีมกุนซือวางแผนเศรษฐกิจรับมือการเมืองโลกเปลี่ยน หลัง’ทรัมป์’จ่อนั่ง ปธน.สหรัฐ เร่งดัน ไทยเป็นฮับโลจิสติกส์ภูมิภาค พร้อมจีบ 40 บริษัทยักษ์มะกันลงทุน
- ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ท.ท.ช.) เห็นชอบในหลักการให้มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติในการเดินทางเข้าประเทศไทยหรือค่าเหยียบแผ่นดิน โดยไม่มีหน่วยงานใดขัดข้องและมอบหมายให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาไปซักซ้อมขั้นตอนและวิธีการจัดเก็บก่อนนำเสนอ ครม. เพื่อทราบอีกครั้งว่าจะเริ่มจัดเก็บเมื่อใด
- “ไอเอ็มเอฟ” หนุน ธปท.ลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ลดภาระการชำระหนี้ของประชาชน และผู้ประกอบการ ชี้รัฐบาลอย่าเพิ่มงบใช้จ่ายมากเกินไป มองเศรษฐกิจไทยอาจโตต่ำกว่าเป้าปีหน้า จากความเสี่ยงสงครามการค้าและหนี้ภาคเอกชนไทยยังสูง
- ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) สาขาแอตแลนตา เปิดเผยว่า แบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุดแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัว 2.7% ในไตรมาส 4/2567
กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยว่าตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก ลดลง 2,000 ราย สู่ระดับ 213,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 216,000 ราย - กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เพิ่มขึ้น 2.3% ในเดือน ต.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งแม้ว่าสอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ แต่ก็ปรับตัวขึ้นมากกว่าในเดือนก.ย.ที่เพิ่มขึ้น 2.1% ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เพิ่มขึ้น 2.8% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งแม้ว่าสอดคล้องกับการคาดการณ์ แต่ก็ปรับตัวขึ้นมากกว่าในเดือนก.ย.ที่เพิ่มขึ้น 2.7%
- ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการลงทุนจากบริษัท Certuity กล่าวว่า ดัชนี PCE ล่าสุดสะท้อนให้เห็นว่าเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าที่เฟดคาดหวังไว้ และอาจทำให้เฟดชะลอการปรับลดอัตราดอกเบี้ย นอกจากนี้ ตลาดยังกังวลว่าหากสหรัฐฯ บังคับใช้มาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าของทรัมป์ ก็จะส่งผลให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น
- ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงแมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพุธ (27 พ.ย.) โดยดอลลาร์อ่อนค่าลงตามทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวลงเมื่อคืนนี้ หลังจากนักลงทุนซึมซับข้อมูลเศรษฐกิจและประเมินผลกระทบจากมาตรการภาษีการค้าของโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันพุธ (27 พ.ย.) โดยได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ อย่างไรก็ดี ราคาทองคำลดช่วงบวก หลังสหรัฐฯ เปิดเผยข้อมูลที่บ่งชี้ว่าเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง ซึ่งอาจส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ชะลอการปรับลดอัตราดอกเบี้ย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 พ.ย. 67)
Tags: ค่าเงินบาท, เงินบาท