ดาวโจนส์ปิดลบ 138.25 จุด กังวลเงินเฟ้อสูงทำเฟดชะลอหั่นดอกเบี้ย

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบในวันพุธ (27 พ.ย.) ส่วนดัชนี Nasdaq และ S&P500 ปิดในแดนลบเช่นกัน เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจชะลอการปรับลดอัตราดอกเบี้ย หลังสหรัฐฯ เปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูง

  • ทั้งนี้ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 44,722.06 จุด ลดลง 138.25 จุด หรือ -0.31%
  • ดัชนี S&P500 ปิดที่ 5,998.74 จุด ลดลง 22.89 จุด หรือ -0.38% และ
  • ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 19,060.48 จุด ลดลง 115.10 จุด หรือ -0.60%

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เพิ่มขึ้น 2.3% ในเดือนต.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งแม้ว่าสอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ แต่ก็ปรับตัวขึ้นมากกว่าในเดือนก.ย.ที่เพิ่มขึ้น 2.1% ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เพิ่มขึ้น 2.8% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งแม้ว่าสอดคล้องกับการคาดการณ์ แต่ก็ปรับตัวขึ้นมากกว่าในเดือนก.ย.ที่เพิ่มขึ้น 2.7%

นักลงทุนยังคงประเมินผลกระทบจากการที่โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศว่าจะเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากเม็กซิโกและแคนาดาในอัตรา 25% และเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มอีก 10% นอกเสียจากว่าประเทศเหล่านี้จะยับยั้งไม่ให้ยาเสพติดเฟนทานิล (fentanyl) และผู้อพยพผิดกฎหมายหลั่งไหลเข้าสู่สหรัฐฯ

สก็อต เวลช์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการลงทุนจากบริษัท Certuity กล่าวว่า ดัชนี PCE ล่าสุดสะท้อนให้เห็นว่าเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าที่เฟดคาดหวังไว้ และอาจทำให้เฟดชะลอการปรับลดอัตราดอกเบี้ย นอกจากนี้ ตลาดยังกังวลว่าหากสหรัฐฯ บังคับใช้มาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าของทรัมป์ ก็จะส่งผลให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น

ทั้งนี้ การแสดงความเห็นของเวลช์สอดคล้องกับที่โกลด์แมน แซคส์ออกรายงานเตือนว่า มาตรการภาษีของทรัมป์มีความเสี่ยงที่จะทำให้การบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% ของเฟดต้องล่าช้าออกไป

เครื่องมือ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า แม้นักลงทุนยังคงคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมเดือนธ.ค. แต่ก็คาดว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนม.ค.และเดือนมี.ค.ปีหน้า

หุ้น 7 ใน 11 กลุ่มที่คำนวณในดัชนี S&P500 ปิดในแดนลบ นำโดยหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีร่วงลง 1.19% ตามด้วยหุ้นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยปรับตัวลง 0.69% ส่วนหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวขึ้นมากที่สุด โดยดีดตัวขึ้น 0.67% ตามด้วยหุ้นกลุ่มเฮลธ์แคร์ปรับตัวขึ้น 0.47%

หุ้นเดลล์ (Dell) ร่วงลง 12.2% และหุ้นเอชพี (HP) ดิ่งลง 11.3% ซึ่งเป็นปัจจัยฉุดหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีด้านการสื่อสารร่วงลงด้วย หลังจากทั้งสองบริษัทเปิดเผยตัวเลขคาดการณ์ผลประกอบการรายไตรมาสที่อ่อนแอ

หุ้นบริษัทเทคโนโลยีที่มีมาร์เก็ตแคปสูง ดิ่งลงเช่นกัน โดยหุ้นอินวิเดีย (Nvidia) ร่วงลง 1.1% หุ้นไมโครซอฟท์ (Microsoft) ร่วงลง 1.2% ส่วนดัชนีหุ้นเซมิคอนดักเตอร์ที่ตลาดหุ้นฟิลาเดลเฟีย (Philadelphia SE Semiconductor Index) ร่วงลง 1.5%

นอกเหนือจากดัชนี PCE แล้ว ทางการสหรัฐฯ ยังได้เปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจอีกหลายรายการเมื่อคืนนี้ โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 3/2567 โดยระบุว่า GDP ขยายตัว 2.8% ไม่เปลี่ยนแปลงจากตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1

กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยว่าตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก ลดลง 2,000 ราย สู่ระดับ 213,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 216,000 ราย

สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐฯ (NAR) เปิดเผยว่า ดัชนีการทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) เพิ่มขึ้น 2% ในเดือนต.ค. เมื่อเทียบรายเดือน สู่ระดับ 77.4 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 7 เดือน ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าลดลง 2%

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน เช่น เครื่องบิน รถยนต์ และเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนต.ค. สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าลดลง 0.8% หลังจากลดลง 0.4% ในเดือนก.ย.

ตลาดหุ้นนิวยอร์กจะปิดทำการในวันนี้ (28 พ.ย.) เนื่องในวันขอบคุณพระเจ้า (Thanksgiving) และจะมีการซื้อขายเพียงครึ่งวันในวันศุกร์ที่ 29 พ.ย.

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 พ.ย. 67)

Tags: , , ,
Back to Top