พาณิชย์เคาะแผนปราบ 5 ธุรกิจเสี่ยงนอมินี เล็งแก้กม.เพิ่มยึดทรัพย์ ชงบอร์ดใหญ่ 9 ธ.ค.

นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รมช.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการป้องกันและป้องปรามธุรกิจอำพรางของคนต่างด้าว (นอมินี) ครั้งที่ 2/67 ว่า ที่ประชุมได้หารือความคืบหน้าการจัดทำแผนทำงานระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวในการแก้ปัญหานอมินี หลังจากที่มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 10 หน่วยงาน ไปร่วมกันตรวจสอบ สืบสวน สอบสวนธุรกิจเสี่ยง

โดยได้ข้อสรุปว่า จะพุ่งเป้าหมายการตรวจสอบใน 5 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ ท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง, อสังหาริมทรัพย์และค้าที่ดิน, การขนส่ง, คลังสินค้า และซื้อขายสินค้าเกษตร เพราะได้รับการร้องเรียนว่า มีคนต่างด้าวเข้ามาทำธุรกิจเป็นจำนวนมาก

สำหรับแนวทางการตรวจสอบ หลังจากกำหนดธุรกิจเป้าหมายแล้ว จะลงพื้นที่ไปตรวจสอบทันที โดยธุรกิจท่องเที่ยว กำหนดพื้นที่เป้าหมายในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ภูเก็ต เชียงใหม่ ชลบุรี สุราษฎร์ธานี และเมืองท่องเที่ยวสำคัญ, ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เน้นพื้นที่ที่เป็นเมืองใหญ่ และสอดคล้องกับการท่องเที่ยว, ธุรกิจการขนส่ง เน้นแนวชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ทางภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ และตะวันออก เพราะสินค้าจากต่างประเทศ จะเข้าสู่ไทยผ่านทางบกตามแนวชายแดน

ส่วนธุรกิจคลังสินค้า จะเน้นกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับการค้าออนไลน์ และธุรกิจซื้อขายสินค้าเกษตร พื้นที่ภาคตะวันออก และภาคใต้ ที่เป็นแหล่งปลูกผลไม้เมืองร้อน ซึ่งมีล้ง (ผู้รวบรวม รับซื้อ บรรจุ และส่งออก) จากต่างประเทศเข้ามาดำเนินการในไทย โดยต้องไปตรวจสอบว่า มีการทำผิดกฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวหรือไม่ เพราะกฎหมายอนุญาตให้เฉพาะรับซื้อแล้วส่งออก ห้ามนำมาขายต่อในประเทศ

“ธุรกิจที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือ ธุรกิจท่องเที่ยวและที่เกี่ยวเนื่อง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และค้าที่ดิน และธุรกิจขนส่ง เพราะมีผลต่อการครอบงำธุรกิจของไทย มีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก และธุรกิจมีมูลค่าสูง นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจซื้อขายที่ดินเพื่อการเกษตร ที่ยังต้องจับตาอีก ซึ่งปัจจุบัน ตามกฎหมายไทย อนุญาตให้ชาวต่างชาติเข้ามาเช่าที่ดินในไทยได้อยู่แล้ว แต่ยังไม่อนุญาตให้ซื้อขาย โดยตั้งแต่เดือนธ.ค., ม.ค.เป็นต้นไป จะเห็นการตรวจสอบกวาดล้างอย่างเข้มข้นมากขึ้น” นายนภินทร กล่าว

นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนการเข้ามาทำธุรกิจของคนต่างด้าว และนอมินี โดยมีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเป็นหน่วยงานรับเรื่อง และตรวจสอบในเบื้องต้น หากเกี่ยวข้องกับหน่วยงานใด ก็จะส่งเรื่องต่อไปยังหน่วยงานนั้น ๆ ให้ดำเนินการต่อตามอำนาจ หน้าที่และกฎหมายที่หน่วยงานมีอยู่ต่อไป

ขณะที่แผนระยะกลาง จะเป็นการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า อยู่ระหว่างจัดทำระบบวิเคราะห์แนวโน้มพฤติกรรมของนิติบุคคล ที่มีผลต่อการดำเนินธุรกิจตามกฎหมาย (IBAS) เพื่อจับผิดนิติบุคคลเสี่ยง และส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกฎหมาย คาดว่าจะเสร็จในไม่เกิน 6 เดือน

ส่วนแผนระยะยาว จะแก้ไขกฎหมายสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อเพิ่มฐานความผิดนอมินี ให้ปปง. สามารถยึด และอายัดทรัพย์สินของผู้กระทำผิดนอมินีได้ รวมถึงให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ไม่รับจดทะเบียนบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงตามกฎหมายของปปง. เช่น อาชญากรข้ามชาติ ที่มีชื่อเป็นกรรมการในบริษัท ที่จะขอจดทะเบียนจัดตั้ง จากปัจจุบันที่ต้องรับจดให้ เพราะตามอำนาจหน้าที่ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จะไม่รับจดเฉพาะบุคคลล้มละลาย และบุคคลไร้ความสามารถเท่านั้น โดยการแก้ไขกฎหมายคาดว่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปี

นายนภินทร กล่าวว่า วันที่ 4 ธ.ค. นี้ จะมีการประชุมคณะอนุกรรมการฯ อีกครั้ง โดยให้แต่ละหน่วยงานมารายงานว่า แผนทั้งหมดได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง มีความคืบหน้าอย่างไร และจะนำรายละเอียดของแผนทั้งหมดนี้ เสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ที่มีนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน ในวันที่ 9 ธ.ค. 67 พิจารณาอีกครั้ง

“แผนการทำงานทั้งหมดนี้ ตั้งเป้าหมายการทำงานไว้รวม ๆ 1 ปี 9 เดือน โดยเริ่มตั้งแต่เดือนก.ย. 67-มิ.ย. 68 เพื่อให้นอมินีหมดไปจากประเทศไทยโดยเร็วที่สุด เพราะสร้างความเสียหายให้กับธุรกิจ และเศรษฐกิจของประเทศ” นายนภินทร กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 พ.ย. 67)

Tags: , , ,
Back to Top