THAI เคาะราคาขายหุ้นเพิ่มทุนที่ 4.48 บาท ให้ผู้ถือหุ้นเดิมจองซื้อ 6-12 ธ.ค.

บมจ.การบินไทย (THAI) เสนอขายหุ้นเพิ่มทุนเพื่อการปรับโครงสร้างทุนภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ จำนวนไม่เกิน 9,822,473,626 หุ้น ในราคาหุ้นละ 4.48 บาท มูลค่าการเสนอขายประมาณ 44,005 ล้านบาท ระยะเวลาจองซื้อ 6-12 ธ.ค.67 โดยมีบล.เกียรตินาคินภัทร เป็นที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่าย เพื่อเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทฯ ก่อนการปรับโครงสร้างทุน และพนักงานบริษัทฯ ในอัตราส่วน 1 หุ้นสามัญเดิมต่อ 4.5 หุ้นสามัญเพิ่มทุน

บริษัทฯ จะนำเงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน ไปใช้ใน

1) การจัดหาเครื่องบินและค่าใช้จ่ายตามสัญญาเช่าเครื่องบินในปัจจุบัน จำนวน 26,049 ล้านบาท ในช่วงปี 68-70

2) การปรับปรุงห้องโดยสารเครื่องบิน (Retrofit) เช่น ติดตั้งที่นั่งใหม่ ติดตั้ง WiFi จำนวน 5,000 ล้านบาท ในปี 68-71

3) การพัฒนาโครงการศูนย์ซ่อมบำรุง (MRO Centers) จำนวน 2,000 ล้านบาท ในปี 68-69 ซึ่งบริษัทมีแผนลงทุนโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานดอนเมือง, สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา เพื่อขยายขอบเขตการให้บริการแก่สายการบินอื่นๆ และมีเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์กลางการซ่อมบำรุงอากศยานในภูมิภาคอาเซียน

4) เงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ จำนวน 10,000 ล้านบาทในปี 68-70

ที่มาของการกำหนดราคาเสนอขาย โดยคณะผู้บริหารแผนได้พิจารณาจากข้อมูลและปัจจัยหลายส่วนเพื่อกำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญที่เหมาะสมอย่างรอบคอบ ซึ่งรวมถึง ข้อจำกัดและโครงสร้างการเสนอขายภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ ความสมดุลของราคาเสนอขายและความต้องการของนักลงทุนควบคู่กับสภาวะตลาด ประโยชน์และผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องทั้งบริษัทฯ เจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ ผู้ถือหุ้น และนักลงทุน

ทั้งนี้ เพื่อให้บริษัทฯ ได้รับเงินทุนจากการเสนอขายที่เหมาะสม และมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต นอกจากนี้ การพิจารณาราคามูลค่ายุติธรรมของบริษัทฯ จำเป็นต้องพิจารณาถึงมูลค่าบริษัทฯ ในระยะยาวซึ่งสะท้อนความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วนและรอบด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่หุ้นของบริษัทฯ จะใช้เวลารวมกว่า 5 – 6 เดือนภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการในครั้งนี้ ก่อนที่จะสามารถกลับเข้าไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ (Illiquid Period)

ในการประเมินมูลค่ายุติธรรม ผู้บริหารแผนอ้างอิงมูลค่ายุติธรรมที่ประเมินโดยที่ปรึกษาทางการเงินของบริษัทฯ ซึ่งได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) และที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ ซึ่งได้แก่ บริษัท แคปปิตอล แอ๊ดแวนเทจ จำกัด โดยใช้วิธีต่าง ๆ เช่น EV/EBITDA, P/E และ Discounted Cash Flow อย่างไรก็ดี วิธี EV/EBITDA เป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุดในการประเมินมูลค่ากิจการ ณ ปัจจุบัน เนื่องจากสะท้อนมูลค่ากิจการในภาพรวมได้อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับธุรกิจที่ใช้เงินทุนสูง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 พ.ย. 67)

Tags: , , ,
Back to Top