นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา “2025 Net Zero กับความท้าทายของเศรษฐกิจโลกยุคใหม่ Net Zero and the Challenges of The New Global Economy” ว่า ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกกำลังเกิดภัยพิบัติต่าง ๆ ทั้งน้ำท่วม ภัยแล้ง และดินถล่ม ซึ่งทั้งหมดมนุษย์เป็นผู้สร้าง โดยหลัก ๆ เป็นผลมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน ซึ่งปัจจัยดังกล่าว กลายเป็นประเด็นของการตกลงร่วมกันกับนานาประเทศ ที่จะหาวิธีที่ไม่ทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นไปกว่านี้
ทั้งนี้ การดำเนินการได้มีการวางแผนร่วมกันกับหลายประเทศทั่วโลกอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เริ่มจากการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยในส่วนของประเทศไทย ได้ให้พันธสัญญาว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้อย่างน้อย 30%
รองนายกฯ และรมว.คลัง กล่าวว่า จากการประเมินในเบื้องต้น ไทยอาจยังไม่ได้ตระหนักถึงข้อมูลตรงนี้มากนัก สะท้อนจากระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปัจจุบันที่ยังคงใกล้เคียงกับในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งอาจแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยยังคงล้าหลังจากเป้าหมายเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่วางไว้
“ภาครัฐจำเป็นต้องเร่งดำเนินการเรื่องนี้ โดยต้องมีการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนขึ้นมา เพื่อให้เราสามารถเดินไปสู่จุดหมายได้ และรัฐบาลยินดีที่จะสร้างองค์ประกอบต่าง ๆ เพื่อให้ภารกิจเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นไปตามพันธสัญญา” นายพิชัย กล่าว
นายพิชัย กล่าวว่า ปัจจุบัน โลกกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ Digital Economy หลายประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญเรื่องเศรษฐกิจสีเขียว และพลังงานสีเขียวมากขึ้น ซึ่งรัฐบาลพร้อมจะสร้างองค์ประกอบต่าง ๆ เพื่อรองรับการดำเนินการในเรื่องนี้ โดยเฉพาะเรื่องคาร์บอนเครดิต ที่จะเป็นตัวสะท้อนสำคัญ และจะเป็นปัจจัยที่นำไปสู่ความยั่งยืน ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
ขณะที่ประเทศในแถบยุโรป ได้เริ่มเดินหน้ามาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) เพื่อป้องกันไม่ให้เกิด Carbon leakage ซึ่งถือเป็นอีกปัจจัยที่ภาคธุรกิจไทยต้องเร่งปรับตัว
ขณะเดียวกัน รัฐบาลได้พยายามปรับปรุงโครงสร้างต่าง ๆ ที่ตอบสนองและสนับสนุนเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อช่วยดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) รวมทั้งข้อได้เปรียบของไทยในการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค พื้นที่ของประเทศไทยที่มีจำนวนมาก รวมถึงนโยบายการสนับสนุนอุตสาหกรรมใหม่ ส่งผลให้ปัจจุบันมีเม็ดเงินลงทุนจากทั้งสหรัฐ ยุโรป และจีน ได้ทยอยเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
“รัฐบาลได้พยายามเพื่อสนับสนุนการลงทุน ที่สอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจสีเขียวของโลกในปัจจุบัน สะท้อนจากยอดการขอรับการส่งเสริมการลงทุน (BOI) 9 เดือนของปี 67 อยู่ที่ 7.2 แสนล้านบาท สูงสุดในรอบ 10 ปี” นายพิชัย กล่าว
ทั้งนี้ สิ่งที่นักลงทุนต่างชาติยังมีความต้องการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย 3 เรื่อง ได้แก่ 1. ที่ดินที่มีการพัฒนาแล้ว และราคาไม่แพง 2. พลังงานไฟฟ้าสีเขียว และ 3. แรงงานที่มีทักษะเพื่อรองรับอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ซึ่งตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญ โดยยืนยันว่ารัฐบาลยินดีที่จะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ในการสร้างองค์ประกอบเหล่านี้ให้ครบถ้วน
นายพิชัย มองว่าเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้น คือ การที่คนไทยตระหนักว่า เการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นเรื่องใกล้ตัว และในภาคธุรกิจเอง หากเร่งดำเนินการก็จะไม่ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น
“สิ่งหนึ่งที่ต้องเข้าใจ คือ อะไรเป็นปัญหา อยากให้มองปัญหาเป็นความท้าทายมากกว่า และอะไรที่เป็นโอกาส ซึ่งวันนี้ยังมีปัญหา ก็แก้ไขปัญหาไปก่อน” รองนายกฯ และรมว.คลัง ระบุ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 พ.ย. 67)
Tags: Digital Economy, Net Zero, นักลงทุนต่างชาติ, พิชัย ชุณหวชิร, รัฐบาลไทย, เศรษฐกิจสีเขียว