กระทรวงมหาดไทยแห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) แถลงเมื่อวันอาทิตย์ (24 พ.ย.) ว่า เจ้าหน้าที่ได้จับกุมผู้ต้องสงสัย 3 รายที่เกี่ยวข้องกับคดีฆาตกรรมชาวอิสราเอล
แถลงการณ์ของกระทรวงมหาดไทยไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ต้องสงสัย หรือแจ้งว่ามีการตั้งข้อหากับผู้ต้องสงสัยหรือไม่ แต่ระบุว่าจะใช้อำนาจทางกฎหมายทั้งหมดที่มี “เพื่อดำเนินการตอบโต้อย่างเด็ดขาดและไม่ผ่อนปรนต่อการกระทำหรือความพยายามใด ๆ ที่จะคุกคามความมั่นคงของสังคม”
ด้านสำนักนายกรัฐมนตรีอิสราเอลประณามการสังหารแรบไบ ซวี โคแกน อายุ 28 ปี โดยระบุว่าเป็น “การก่อการร้ายต่อต้านชาวยิวอันโหดร้าย” พร้อมยืนยันว่าอิสราเอลจะดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม
ตามข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น โคแกนถือสถานะเป็นทั้งผู้พำนักใน UAE และพลเมืองประเทศมอลโดวา เขาทำงานร่วมกับขบวนการชาบัด (Chabad) องค์กรยิวออร์โธดอกซ์ที่มีสำนักงานใหญ่ในนิวยอร์ก โดยมีรายงานการหายตัวครั้งแรกเมื่อวันพฤหัสบดี (21 พ.ย.) ก่อนที่จะพบศพในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (24 พ.ย.)
กระทรวงการต่างประเทศอิสราเอลระบุว่า หน่วยงานด้านความมั่นคงทุกหน่วยของอิสราเอลได้เข้าร่วมในการสืบสวนคดีนี้ โดยจากการสอบสวนเบื้องต้นพบว่า ครั้งสุดท้ายที่มีผู้พบเห็นโคแกนคือที่ซูเปอร์มาร์เก็ตอาหารโคเชอร์แห่งหนึ่งในดูไบ
ศพของโคแกนถูกพบในเมืองอัลอายน์ของ UAE ซึ่งตั้งอยู่ติดพรมแดนประเทศโอมาน อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเขาถูกสังหารในพื้นที่ดังกล่าวหรือที่อื่น ตามคำให้สัมภาษณ์ของอายูบ คารา อดีตนักการเมืองชาวอิสราเอล แก่สำนักข่าวรอยเตอร์ที่นครดูไบ
คารา ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคลิคุด (Likud) พรรครัฐบาลฝ่ายขวาของอิสราเอล และผู้ผลักดันความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างอิสราเอลกับประเทศอาหรับ เปิดเผยว่า มีข้อบ่งชี้ว่าคณะผู้สืบสวนสงสัยถึงการมีส่วนเกี่ยวข้องของอิหร่านในคดีนี้
หลังจากข้อสงสัยเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของอิหร่าน ทางสถานทูตอิหร่านประจำ UAE ได้ออกแถลงการณ์ “ปฏิเสธข้อกล่าวหาเรื่องการมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหารบุคคลดังกล่าวอย่างสิ้นเชิง”
จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทางการอิสราเอลได้ออกคำเตือนให้พลเมืองของตนหลีกเลี่ยงการเดินทางที่ไม่จำเป็นไปยัง UAE พร้อมกับแนะนำให้ชาวอิสราเอลที่พำนักอยู่ใน UAE จำกัดการเดินทางให้น้อยที่สุด พักอาศัยในพื้นที่ที่มีความปลอดภัย และงดเว้นการไปยังสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับชาวอิสราเอลและชาวยิว
ด้านทำเนียบขาวของสหรัฐฯ แถลงว่า กำลังประสานงานอย่างใกล้ชิดกับทั้งอิสราเอลและ UAE ในประเด็นนี้
นับตั้งแต่ปี 2563 ชุมชนชาวอิสราเอลและชาวยิวใน UAE ขยายตัวอย่างเห็นได้ชัด หลังจากที่ UAE กลายเป็นรัฐอาหรับที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในรอบ 30 ปี ด้วยการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอลผ่าน “ข้อตกลงอับราฮัม” โดยมีสหรัฐฯ เป็นตัวกลางในการเจรจา
อย่างไรก็ตาม การปรากฏตัวของชาวอิสราเอลและชาวยิวในที่สาธารณะลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด นับตั้งแต่เหตุการณ์ที่กลุ่มฮามาสโจมตีชุมชนชาวอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2566 ซึ่งเป็นชนวนเหตุที่นำไปสู่ความขัดแย้งในฉนวนกาซา ทว่า UAE ยังคงรักษาความสัมพันธ์กับอิสราเอลในช่วงที่เกิดสงครามระหว่างอิสราเอลกับฮามาสในฉนวนกาซาที่ยืดเยื้อมานาน 13 เดือน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 พ.ย. 67)
Tags: UAE, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, อิสราเอล