ZoomIn: หนุน “เราเที่ยวด้วยกัน” คัมแบ็ค!! ดึงไทยเที่ยวไทยฟื้น

ภาคท่องเที่ยว จัดเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทย และการฟื้นการท่องเที่ยวถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เร็วที่สุด แต่สถานการณ์ท่องเที่ยวภายในประเทศยังฟื้นตัวได้น้อย เป็นผลจากปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง ดังนั้นมองว่ารัฐบาลควรฟื้นมาตรการคล้ายรูปแบบ “เราเที่ยวด้วยกัน” จ่ายเงินอุดหนุนเพิ่ม หลังมาตรการดังกล่าวพิสูจน์แล้วว่าค่อนข้างประสบความสำเร็จ ช่วยได้ตรงจุดในการกระตุ้นกำลังซื้อ

นายธนา ตุลยกิจวัตร นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย ให้มุมมองต่อนโยบายด้านการท่องเที่ยว ที่รัฐบาลควรดำเนินการช่วงสิ้นปี 67 ต่อเนื่องถึงต้นปี 68 ว่า สถานการณ์ท่องเที่ยวภายในประเทศที่ยังฟื้นตัวได้น้อย เป็นผลจากนักท่องเที่ยวไทยเป็นหลัก เพราะแม้จำนวนนักท่องเที่ยวไทยจะกลับมาได้มากกว่าช่วงโควิด-19 แล้วประมาณ 20% แต่การใช้จ่ายต่อคนต่อทริป กลับลดลงค่อนข้างมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง จึงทำให้กำลังซื้อของประชาชนหายไป

ทั้งนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ตั้งเป้าไทยเที่ยวไทยปีนี้ไว้ที่ 200 ล้านคน/ครั้ง โดยล่าสุดช่วง 9 เดือนแรกของปี 67 ไทยเที่ยวไทยแล้วประมาณ 150 ล้านคน/ครั้ง ขณะที่รายได้ช่วง 9 เดือนแรกของปี อยู่ที่ 700,000 ล้านบาท หรือค่าใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวชาวไทยอยู่ที่เพียง 3,500 บาท/คน/ทริป เท่านั้น ซึ่งลดลงจากช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ที่คนไทยใช้จ่ายต่อหัวถึง 4,700 บาท/คน/ทริป หรือหายไปถึง 25%

ดังนั้น มองว่ารัฐบาลควรมีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยทำรูปแบบมาตรการคล้ายกับโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ที่เคยดำเนินการมาในอดีต และควรใช้มาตรการดังกล่าวช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองรอง และการท่องเที่ยวในวันธรรมดา เพื่อช่วยผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม-ที่พัก ร้านอาหาร บริษัทนำเที่ยว ธุรกิจเช่ารถ ฯลฯ และยังเป็นการช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวในภาพรวมด้วย

“ปัญหาหลัก คือเรื่องกำลังซื้อ จำนวนคนไปเที่ยวเยอะ คนอยากไปเที่ยวแต่ไม่มีเงินใช้จ่าย ดังนั้น ถ้ารัฐบาลช่วยเติมเงินเข้าไปให้ประชาชน อาจจะครึ่งหนึ่ง 60% หรือ 40% ก็ตาม ซึ่งที่ผ่านมา มาตรการดังกล่าวพิสูจน์แล้วว่าค่อนข้างประสบความสำเร็จ เข้ามาช่วยได้ตรงจุดในการกระตุ้นกำลังซื้อ และทำให้เกิดการจูงใจให้คนไปเที่ยวมากขึ้น” นายธนา กล่าวกับ “อินโฟเควสท์”

พร้อมมองว่า รัฐบาลควรเร่งดำเนินนโยบายดังกล่าวตั้งแต่ปลายปีนี้ ต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า เนื่องจากเชื่อว่ากำลังซื้อของคนไทยในปีหน้าก็น่าจะยังไม่กลับมา โดยในช่วงไตรมาส 4/67 และไตรมาส 1/68 รัฐบาลอาจไม่จำเป็นต้องทุ่มงบประมาณมากนัก เพราะช่วงนี้เป็นช่วงไฮซีซันอยู่แล้ว แต่ควรนำงบประมาณไปทุ่มในช่วงไตรมาส 2/68 และ 3/68 มากกว่า เนื่องจากเป็นช่วงโลว์ซีซันของทุกปี

ลุ้นเป้านทท.ต่างชาติ หลังจีนยังแผ่ว

ส่วนสถานการณ์นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ต้องจับตา คือการกลับมาของจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีน ที่มีสัญญาณแผ่วลงค่อนข้างมาก จนอาจทำให้เป้านักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้ ไปไม่ถึงเป้าหมายได้ โดยในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทยแล้ว 5.2 ล้านคน ขณะที่ ททท. ตั้งเป้าไว้ที่ 7.5 ล้านคน

ดังนั้น เหลือเวลาอีกเพียง 3 เดือนเท่านั้น ที่จะเร่งดึงนักท่องเที่ยวมาตามเป้า แต่ในช่วง Golden Week ซึ่งเป็นช่วงวันหยุดยาวของจีน ในเดือนต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งควรจะเป็นช่วงที่นักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาเที่ยวไทยจำนวนมาก แต่ในความเป็นจริง ตัวเลขที่ออกมากลับน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก ดังนั้น จึงมีโอกาสที่นักท่องเที่ยวจีนปีนี้จะมาไทยไม่ถึง 7 ล้านคน

ทั้งนี้ เห็นว่ารัฐบาลจำเป็นต้องทำการตลาดในกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนให้มากขึ้น เช่น ทำการตลาดในโซเชียลของจีนโดยเฉพาะ อย่างใน Weibo หรือ WeChat นอกจากนี้ ต้องสร้างความเชื่อมั่น โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยที่นักท่องเที่ยวจีนกังวลมาก เพื่อให้นักท่องเที่ยวจีนเข้ามาเที่ยวในไทยได้ตามเป้าที่รัฐบาลวางไว้

นายธนา มองว่า การเข้ามาของนักท่องเที่ยวจีน เป็นส่วนสำคัญในการไปให้ถึงเป้านักท่องเที่ยวต่างชาติปี 67 ที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ที่ 36.7 ล้านคน ซึ่งถ้าสามารถดึงนักท่องเที่ยวจีนกลับมาได้ทันในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี ก็มีความเป็นไปได้ที่จะถึง 36 ล้านคน แต่ถ้าไม่สามารถฟื้นตัวได้ทัน มองว่าภาพรวมนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้ คงจะไม่ถึงเป้าที่ตั้งไว้ 36 ล้านคน

“ถ้าไม่นับนักท่องเที่ยวจีน นักท่องเที่ยวชาติอื่น ๆ ฟื้นตัวกลับมามากกว่าก่อนโควิด-19 เกือบหมดแล้ว เหลือจีนที่ยังช้ากว่าชาติอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัด มองว่า มาตรการดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ เราทำทุกวิถีทางเท่าที่จะทำได้แล้ว เช่น ฟรีวีซ่า 93 ประเทศทั่วโลก หรือยกเว้นด่านทางบกก็ทำแล้ว ที่เหลือเป็นเรื่องปัจจัยภาวะเศรษฐกิจจีน ภาวะเศรษฐกิจนอกประเทศ” นายธนา กล่าว

อย่างไรก็ดี มองว่าในปี 68 นักท่องเที่ยวจีนก็ยังจะไม่กลับมาเท่าเดิมเหมือนก่อนโควิด-19 ด้วยลักษณะเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ ดังนั้น ถ้าไทยต้องการรายได้จากการท่องเที่ยวเท่าเดิม มองว่า ควรไปจับตลาดนักท่องเที่ยวที่มีการใช้จ่ายต่อหัวสูง เช่น กลุ่มนักท่องเที่ยวตะวันออกกลาง ที่แม้มีจำนวนไม่มาก แต่มียอดใช้จ่ายต่อหัวในระดับสูงถึง 100,000 บาท/คน/ทริป หรือสูงกว่านักท่องเที่ยวเอเชียถึง 3 คนรวมกัน นอกจากนี้ กลุ่ม Digital Nomad ก็เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่น่าสนใจเช่นกัน เนื่องจากจะอาศัยอยู่ไทยนานหลายเดือน ซึ่งยิ่งอยู่นานก็ยิ่งใช้จ่ายมากตามไปด้วย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 พ.ย. 67)

Tags: , , , , ,
Back to Top