ราคาที่ดินเปล่าในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ไตรมาส 3/67 เพิ่มขึ้น 2.9% จากช่วงเดียวกันปีก่อน 2.9% โดยเฉพาะตามแนวรถไฟฟ้า และพื้นที่ใกล้เคียง สะท้อนการฟื้นตัวของการลงทุนภาคอสังหาริมทรัพย์ คาดปี 68 ราคาปรับเพิ่มขึ้นอีก รองรับความต้องการที่อยู่อาศัยตามแนวรถไฟฟ้าที่ยังคงเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) รายงานดัชนีราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาในกรุงเทพฯ – ปริมณฑล ไตรมาสที่ 3 ปี 2567 พบว่า จากการติดตามการเปลี่ยนแปลงของราคาที่ดินเปล่า ก่อนการพัฒนา (ไม่รวมสิ่งปลูกสร้าง ที่มีขนาดที่ดินตั้งแต่ 200 ตารางวาขึ้นไป) ในพื้นที่กรุงเทพ – ปริมณฑล รวม 6 จังหวัด (กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม) มีค่าดัชนีเท่ากับ 391.1 เพิ่มขึ้น 2.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ซึ่งถือว่าอยู่ในอัตราที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยดัชนีราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนา 5 ปีย้อนหลังในช่วงก่อนเกิดวิกฤต COVID-19
สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เริ่มกลับมาฟื้นตัวขึ้น แม้จะยังไม่สูงมากเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 แต่เริ่มเห็นสัญญาณการกลับมาซื้อที่ดินสำหรับการลงทุนก่อสร้างโครงการจัดสรรตามแนวรถไฟฟ้ามากขึ้น เห็นได้จากราคาที่ดินในหลายพื้นที่ขยับเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากเป็นทำเลที่มีศักยภาพด้านการลงทุน รวมถึงพื้นที่ปริมณฑล ที่ได้รับอานิสงส์จากการพัฒนาทางหลวงระหว่างเมือง อาทิ โซนจังหวัดนครปฐม เพิ่มขึ้นมากที่สุด 22.7% โซนอำเภอเมืองปทุมธานี ลาดหลุมแก้ว สามโคก จังหวัดปทุมธานี เพิ่มขึ้น 18.3% โซนตลิ่งชัน บางแค ภาษีเจริญ หนองแขม ทวีวัฒนา ธนบุรี คลองสาน บางพลัด บางกอกน้อย บางกอกใหญ่ เพิ่มขึ้น 7.0% โซนเขตจตุจักร ห้วยขวาง ยานนาวา วัฒนา คลองเตย พญาไท บางคอแหลม ป้อมปราบศัตรูพ่าย บางซื่อ ดินแดง ราชเทวี และบางรัก หรือ กรุงเทพชั้นใน เพิ่มขึ้น 6.2% และโซนจังหวัดสมุทรสาคร เพิ่มขึ้น 5.9%
เปิดทำเลที่ดินตามแนวรถไฟฟ้าที่ราคาเพิ่มขึ้นสูงสุด 5 อันดับแรก
นอกจากนี้ ยังพบว่าราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนา ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ถือเป็นทำเลที่มีศักยภาพสูง ในไตรมาส 3 ปี 2567 ซึ่งมีอัตราการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนามากที่สุด 5 อันดับแรก เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (YoY) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นที่ดินที่รถไฟฟ้าเปิดให้บริการแล้ว และเป็นที่ดินที่มีจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าตั้งแต่ 2 สายขึ้นไป ได้แก่
1. รถไฟฟ้า สายสีน้ำเงิน (บางแค-พุทธมณฑล สาย 4) มีค่าดัชนีเท่ากับ 458.8 เพิ่มขึ้น 7.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) โดยราคาที่ดินที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นในเขตบางแค และหนองแขม
2. รถไฟฟ้า สายสีน้ำเงิน (หัวลำโพง-บางแค) มีค่าดัชนีเท่ากับ 534.5, รถไฟฟ้าสายสีทอง (ธนบุรี-ประชาธิปก) มีค่าดัชนีเท่ากับ 526.8 และรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม) มีค่าดัชนีเท่ากับ 518.7 โดยมีอัตราการเพิ่มขึ้นของราคาที่ดิน เท่ากันที่ 6.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) โดยราคาที่ดินที่ปรับเพิ่มขึ้นมาก ส่วนใหญ่อยู่ในเขตภาษีเจริญ, บางกอกใหญ่ และบางกะปิ
3. รถไฟฟ้า สายสีลม มีค่าดัชนีเท่ากับ 503.6, รถไฟฟ้า สายสีน้ำเงิน (บางซื่อ-ท่าพระ) มีค่าดัชนีเท่ากับ 495.9 และรถไฟฟ้า สายสีแดงเข้ม (หัวลำโพง-มหาชัย) มีค่าดัชนีเท่ากับ 501.4 มีอัตราเพิ่มขึ้นของราคาที่ดิน 6.3% เท่ากันทั้ง 3 สาย เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) โดยราคาที่ดินที่ปรับเพิ่มขึ้น อยู่ในเขตภาษีเจริญ, สาทร และบางกอกใหญ่
4. รถไฟฟ้าใต้ดิน ตลอดเส้นทาง มีค่าดัชนีเท่ากับ 552.4 และรถไฟฟ้า สายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-หัวลำโพง) มีค่าดัชนีเท่ากับ 543.8 โดยมีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดิน เพิ่มขึ้น 6.2% เท่ากันทั้ง 2 สาย เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) โดยเฉพาะในเขตสาทร, คลองเตย และดินแดง
5. รถไฟฟ้า สายสีเขียว (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) มีค่าดัชนีเท่ากับ 508.2 และรถไฟฟ้า สายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต) มีค่าดัชนีเท่ากับ 500.3 มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดิน เพิ่มขึ้น 5.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) โดยราคาที่ดินที่ปรับเพิ่มขึ้นมากอยู่ในเขตสามโคก, ธัญบุรี และบางเขน
ทั้งนี้ จากอัตราการเติบโตของราคาที่ดินตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า ที่มีการเปลี่ยนแปลงราคาสูง สะท้อนถึงความต้องการที่ดินในบริเวณดังกล่าวมากขึ้น เนื่องจากมีระบบโครงข่ายรถไฟฟ้ารองรับทั้งที่เปิดให้บริการแล้ว และโครงการที่กำลังจะพัฒนาขึ้นในอนาคต โดยแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของราคาที่ดินในพื้นที่แนวเส้นทางรถไฟฟ้า ที่มีผลต่อการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมนั้น อยู่ในพื้นที่ที่มีการเชื่อมต่อรถไฟฟ้าหลายสาย (Interchange) และบริเวณที่เป็นสถานีสำคัญ
แนะผู้ประกอบการอาศัยจังหวะราคาที่ดินยังไม่พุ่ง เร่งพัฒนาโครงการฯ ตามแนวรถไฟฟ้า
REIC จึงคาดการณ์ว่า ราคาที่ดินตามแนวรถไฟฟ้ามีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการ หรือเริ่มเปิดให้บริการใหม่ เนื่องจากเส้นทางดังกล่าว เป็นทำเลที่ยังมีความต้องการในด้านที่อยู่อาศัย และใช้เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ และหากภาวะเศรษฐกิจขยายตัวดีขึ้น ตามการคาดการณ์ของกระทรวงการคลัง ว่าจะขยายตัวมากกว่า 3% ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล อาทิ มาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองเหลือ 0.01% และการจัดทำสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำของ ธอส. ประกอบกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปัญหาหนี้ครัวเรือนลดลง และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโครงการรถไฟฟ้าสายใหม่ และโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ
“ถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม หากผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ จะเร่งพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ เพื่อรองรับความต้องการที่อยู่อาศัยตามแนวรถไฟฟ้า เนื่องจากยังเป็นในช่วงเวลาที่ราคาที่ดินชะลอการปรับขึ้นราคา ก่อนจะปรับเพิ่มสูงขึ้นในอนาคตต่อไป” REIC ระบุ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 พ.ย. 67)
Tags: รถไฟฟ้า, ราคาที่ดิน, อสังหาริมทรัพย์