“ศิริกัญญา” ข้องใจ! 2 เดือนที่รอคอย มาตรการกระตุ้นศก. ยังไร้ความชัดเจน

น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาชน โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว กล่าวถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 3 เรื่อง จากการประชุมคณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ครั้งแรกเมื่อวานนี้ (19 พ.ย. 67) หลังจากที่รอมาเป็นระยะเวลา 2 เดือนเต็ม คือ

  1. แจกเงินหมื่นรอบที่ 2 (ยังไม่เป็น Digital Wallet) กับคนอายุ 60 ปีขึ้นไป 3-4 ล้านคน โดยจะแจกประมาณต้นปีหน้า ช่วงตรุษจีน ยังไม่ชัดว่าแจกวันที่เท่าไร ลงทะเบียนเพิ่มเมื่อไร
  2. ปรับโครงสร้างหนี้ครัวเรือน 3 กลุ่ม คือ กลุ่มบ้าน กลุ่มรถยนต์ และกลุ่มหนี้บริโภคที่เป็น NPL ไม่เกิน 1 ปี วงเงินหนี้ประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท จะได้รับพักชำระดอกเบี้ยค้างจ่าย รายละเอียดยังไม่ชัดต้องรอหลังวันที่ 20 พ.ย.
  3. โครงการไร่ละพัน (ปกติต้องเป็นคณะกรรมการนโยบายข้าว (นบข.) เป็นคนเคาะ) แต่จะมีการปรับรายละเอียดอีก เพื่อไม่ให้เป็นภาระงบประมาณในระยะยาว ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะปรับอะไร ได้ข่าวว่าน่าจะปรับจากแจกไม่เกิน 20 ไร่ เหลือไม่เกิน 12 ไร่ เท่ากับจะได้บ้านละไม่เกิน 12,000 บาท จากเดิม 20,000 บาท

“สรุปว่า ยังไม่มีอะไรชัดเจน แค่เปลี่ยนนายกฯ คนเดียว แต่เหมือนตั้งรัฐบาลใหม่ เหมือนไม่เคยคิดเรื่องกระตุ้นเศรษฐกิจกันมาก่อนหน้านี้ เลยต้องเริ่มต้นใหม่ ใช้เวลาถึง 2 เดือน หรือว่าเศรษฐกิจไตรมาส 3/67 ที่สภาพัฒน์เพิ่งออกมาประกาศว่าโต 3% ดีกว่าที่ตลาดคาดไว้ อาจจะทำให้รัฐบาลรู้สึกว่า ไม่มีความจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจแล้วหรือไม่ ถึงได้ดูลังเล ไม่รีบร้อน” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว

พร้อมเห็นว่า ถ้าเจาะไส้ในของ GDP จะพบว่า การที่เศรษฐกิจโตดี มาจากงบปี 67 ที่ออกมาไตรมาส 2/67 และเร่งเบิกจ่ายกันในไตรมาส 3/67 ทั้งส่วนของรายจ่ายลงทุน และรายจ่ายประจำ บวกกับการส่งออกที่กลับมาดี และแน่นอนการท่องเที่ยวยังคงเติบโตได้ดี แต่ส่วนที่ยังเป็นปัญหา คือ การลงทุนภาคเอกชน ที่ยังหดตัวมา 2 ไตรมาสติดแล้ว จากหมวดยานยนต์ และหมวดก่อสร้าง สอดคล้องกับยอดขายรถกระบะที่หดตัวลง (รถกระบะเชิงพาณิชย์นับเป็นการลงทุน) และยอดขายบ้านที่ลดลง ซึ่งทั้ง 2 เรื่อง เป็นเรื่องของการไม่ปล่อยสินเชื่อของธนาคาร

ทั้งนี้ แน่นอนว่าทั้ง 2 เรื่องโยงกลับไปที่ปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งรัฐบาลเองก็มีมาตรการแก้ปัญหาเรื่องนี้ คือ การปรับโครงสร้างหนี้ให้คนที่เป็น NPL ซึ่งก็ดูเหมือนจะมาถูกทาง แต่ต้องรอดูว่าการปรับโครงสร้างหนี้รอบนี้จะช่วยอะไรบ้าง ช่วยให้ยอด NPL ลดลง ทำให้แบงก์ตั้งทุนสำรองลดลง แบงก์มีกำไรเพิ่ม แต่จะปล่อยกู้เพิ่มหรือไม่นั้น ก็ไม่แน่เสมอไป เพราะสาเหตุที่แบงก์ไม่ปล่อยกู้ คือความเสี่ยงของลูกหนี้เองที่มีรายได้ไม่พอจ่ายหนี้ (credit risk) แปลว่าถึงแบงก์มีเงินเพิ่ม ก็ไม่ได้หมายความว่าจะปล่อยกู้บ้าน กู้รถเพิ่มในปริมาณเท่ากัน

“เหตุการณ์คล้ายกับการที่แม้ดอกเบี้ยลด ก็ไม่ได้หมายความว่าแบงก์จะปล่อยกู้เพิ่ม วิธีที่จะแก้ปัญหานี้ คือต้องทำให้รายได้ประชาชน รายได้ผู้ประกอบการดีขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงฝั่งลูกหนี้ จะหวังแค่ว่าให้ GDP โตอย่างเดียวไม่ได้ ประชาชนต้องมีเงินมากขึ้นด้วย ดังนั้น วิธีแก้ของรัฐบาล ก็เลยแจกเงินหมื่นให้คนอายุเกิน 60 ปี จำนวน 3 ล้านคน ขอตั้งคำถามว่า มาตรการนี้จะช่วยได้จริง ๆ หรือ” น.ส.ศิริกัญญา ระบุ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 พ.ย. 67)

Tags: , , ,
Back to Top