วิจัยกสิกรฯ คง GDP ปี 67 โต 2.6% มองปีหน้าความเสี่ยงเพิ่ม จับตานโยบาย “ทรัมป์”

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3/67 ขยายตัวเร่งขึ้นที่ 3.0% (YoY) และหากเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าขยายตัวที่ 1.2% (QoQ) โดยมีปัจจัยหนุนจากดุลการค้า (ฐานดุลบัญชีเดินสะพัด) ที่เกินดุลสูงขึ้นตามการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวได้ดี ประกอบกับรายได้จากภาคการท่องเที่ยว และการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวต่อเนื่อง รวมถึงการลงทุนภาครัฐ และการบริโภคภาครัฐที่ขยายตัวเร่งสูงขึ้นอย่างมาก

ขณะที่ปัจจัยกดดันหลัก มาจากการนำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับการลงทุนภาคเอกชนที่ยังหดตัวตามภาคก่อสร้าง ส่งผลให้ใน 3 ไตรมาสแรกของปี 67 เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ที่ 2.3% YoY

โดยเมื่อมองไปในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้น ส่งผลให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 67 ขยายตัวที่ 2.6% โดยมีปัจจัยสนับสนุนดังต่อไปนี้

1. การส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวสูงกว่าที่เคยประเมินไว้ ท่ามกลางแรงหนุนสำคัญจากวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขาขึ้น ประกอบกับการส่งออกไปสหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ก่อนการประกาศปรับขึ้นภาษีศุลกากรขาเข้าของประธานาธิบดีทรัมป์ แม้มีแนวโน้มจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้

2. การลงทุนและการบริโภคภาครัฐ ในไตรมาส 4/67 คาดว่าจะขยายตัวได้ดี โดยส่วนหนึ่งจากปัจจัยฐานที่อยู่ในระดับต่ำ จากผลของการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้า ขณะที่งบประมาณปี 2568 เริ่มมีการเบิกจ่ายไปแล้วตั้งแต่เดือนต.ค.67 และมีแนวโน้มเป็นไปตามแผน

3. การบริโภคภาคเอกชนในไตรมาส 4/67 มีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เมื่อเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว ประกอบกับมาตรการแจกเงิน 10,000 บาท ที่คาดว่าจะช่วยสนับสนุนการบริโภคได้ในระดับหนึ่ง แม้ผลกระตุ้นอาจต่ำกว่าที่ภาครัฐประมาณการไว้ เนื่องจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และผลกระทบจากอุทกภัย

ขณะที่เศรษฐกิจไทยปี 68 มีแนวโน้มเผชิญความเสี่ยงสูงขึ้น โดยยังคงต้องติดตามนโยบายของประธานาธิบดีนายโดนัลด์ ทรัมป์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาตรการปรับขึ้นภาษีศุลกากรขาเข้า ที่อาจส่งผลให้การส่งออกไทยในระยะข้างหน้าเผชิญความท้าทายมากขึ้น นอกจากนี้ ภาคการท่องเที่ยวไทย คาดว่าจะเผชิญขีดจำกัดในการขยายตัวจากทิศทางเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนที่ชะลอลง

อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ คาดว่าจะขยายตัวในอัตราที่เร่งขึ้น และเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญในปีหน้า ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น โดยได้รับแรงหนุนจากทิศทางเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 พ.ย. 67)

Tags: , , , ,
Back to Top