เช็คความพร้อม 4 ภาคธุรกิจไทย สู่ Thailand Taxonomy เฟส 2

ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นหนึ่งในความท้าทายสำคัญที่ทั่วโลกต้องเร่งหาทางแก้ไข หลายประเทศทั่วโลกได้นำระบบ Taxonomy มาใช้เป็นเครื่องมือในการจัดประเภทกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ที่สนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเป็นการกำหนดมาตรฐานกิจกรรมทางเศรษฐกิจยั่งยืนที่ชัดเจน เพื่อสนับสนุนการลงทุนในกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

สำหรับประเทศไทย ได้มีการเผยแพร่ Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 ฉบับสมบูรณ์แล้วในปี 66 ซึ่งครอบคลุมกิจกรรมในภาคพลังงานและภาคขนส่งที่มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 67% ของประเทศ

ส่วน Thailand Taxonomy ระยะที่ 2 ปัจจุบันอยู่ในช่วงการรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณะระหว่างวันที่ 28 ต.ค.67 ถึง 10 ม.ค.68 และคาดว่าจะเผยแพร่ฉบับสมบูรณ์ในปี 68 โดยครอบคลุมเพิ่มเติมอีก 4 ภาคเศรษฐกิจ ได้แก่ 1) ภาคการเกษตร 2) ภาคอุตสาหกรรมการผลิต 3) ภาคอาคารและอสังหาริมทรัพย์ และ 4) ภาคการจัดการของเสีย โดยเมื่อรวมกับภาคเศรษฐกิจที่อยู่ในขอบเขตของ Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 อย่างภาคพลังงาน และภาคขนส่งแล้ว จะครอบคลุมกิจกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยมากถึง 355 MtCO2eq หรือคิดเป็น 95% ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของไทยต่อปี

  • ขอบเขตกิจกรรม และเกณฑ์ชี้วัดกิจกรรมสีเขียวของ 4 ภาคเศรษฐกิจ

กิจกรรมที่มีนัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายใต้ Thailand Taxonomy ระยะที่ 2 เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของไทย โดยกิจกรรมในภาคเกษตรมีมูลค่า GDP ครอบคลุมกว่า 91% ของมูลค่า GDP ทั้งหมดในภาคเกษตร รองลงมาคือกิจกรรมในภาคอาคารและอสังหาริมทรัพย์ และอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งครอบคลุม 39% และ 23% ตามลำดับ

1. ภาคเกษตร ครอบคลุมกิจกรรมทั้งหมดที่เกิดขึ้นภายในพื้นที่การเกษตรที่เกี่ยวข้องกับการผลิตพืชผลและปศุสัตว์ เช่น การปลูกข้าว การปลูกพืชยืนต้น และไม่ยืนต้น การเลี้ยงปศุสัตว์ การกำจัดของเสีย การใช้ปุ๋ย การกำจัดศัตรูพืช รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ ที่อยู่ในพื้นที่ เช่น การครอบครองและจัดการป่าไม้ แต่ไม่ครอบคลุมถึงกิจกรรมหลังจากการเก็บเกี่ยวผลิตภัณฑ์ อาทิ การแปรรูป การจำหน่าย การบรรจุภัณฑ์ และการขนส่ง เป็นต้น

สำหรับเกณฑ์ชี้วัดกิจกรรมสีเขียวของกิจกรรมที่อยู่ในภาคเกษตร ไม่ได้มีการกำหนดในเชิงปริมาณที่ชัดเจน เพียงแต่มีการกำหนดให้ปรับเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติในการทำการเกษตร และปศุสัตว์ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยจะต้องเป็นแนวทางที่ไม่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับหลักการ Do No Significant Harm และ Minimum Social Safeguards รวมทั้งมีส่วนสนับสนุนวัตถุประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อมของ Taxonomy อย่างน้อย 1 ข้อ

2. ภาคอุตสาหกรรมการผลิต ครอบคลุมหลากหลายกิจกรรมการผลิตที่มีการปล่อย CO2 ระดับสูง คือ 1) การผลิตปูนซีเมนต์ ครอบคลุมตั้งแต่การทำเหมืองหินปูน จนถึงขั้นตอนการผลิตปูนซีเมนต์ผสมขั้นสุดท้าย 2) การผลิตสารเคมี ครอบคลุมเฉพาะกระบวนการผลิตสารเคมีพื้นฐาน และ 3) การผลิตเหล็กและเหล็กกล้า ครอบคลุมตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมวัตถุดิบ จนถึงผลิตภัณฑ์เหล็กขั้นสุดท้าย นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมการผลิตอื่นๆ อีก เช่น การผลิตอะลูมิเนียม แบตเตอรี่ และเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ เป็นต้น

โดยเกณฑ์ชี้วัดกิจกรรมสีเขียวของกิจกรรมที่อยู่ในภาคการผลิตโดยรวมแล้ว จะเกี่ยวข้องกับปริมาณการปล่อย CO2 การปล่อยมลพิษ รวมถึงการเลือกใช้แหล่งเชื้อเพลิง ซึ่งโดยรายละเอียดมีความแตกต่างกันในแต่ละอุตสาหกรรมการผลิต

3. ภาคอาคารและอสังหาริมทรัพย์ ครอบคลุม 4 กิจกรรมหลัก ได้แก่ 1) การก่อสร้างอาคารใหม่ ทั้งอาคารเพื่ออยู่อาศัยและอาคารเชิงพาณิชย์ 2) การปรับปรุงบูรณะเดิมที่มีอยู่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร 3) การติดตั้ง บำรุง ซ่อมแซม อุปกรณ์อาคารเพื่อวัตถุประสงค์พิเศษ รวมทั้งระบบเตือนภัยเกี่ยวกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ และ 4) การรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและการเตรียมพื้นที่ โดยไม่ครอบคลุมถึงอาคารที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรม การผลิตวัสดุก่อสร้าง เช่น เหล็ก คอนกรีต พลาสติก ซึ่งอยู่ภายใต้เกณฑ์ของภาคการผลิตในข้อ 2 แล้ว

สำหรับเกณฑ์สีเขียวในกิจกรรมการก่อสร้าง และการปรับปรุงซ่อมแซมอาคาร จะอ้างอิงตามการรับรองมาตรฐานอาคารสีเขียวระดับนานาชาติ เช่น LEED EDGE และ TREES เป็นต้น โดยไม่ครอบคลุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกระบวนการก่อสร้าง ส่วนเกณฑ์สีเขียวสำหรับกิจกรรมการเตรียมพื้นที่ก่อสร้างและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง จะเกี่ยวข้องกับการวางแผนและจัดการของเสียที่เกิดจากการรื้อถอนเป็นหลัก

4. ภาคการจัดการของเสีย ครอบคลุม 13 กิจกรรมการจัดการของเสียทั้ง 6 ชนิด ได้แก่ 1) ขยะมูลฝอย 2) ขยะอาหาร 3) ขยะพลาสติก 4) ของเสียอันตราย รวมถึงเศษเหลือทิ้งของผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและเล็กทรอนิกส์ 5) ของเสียอันตรายจากอุตสาหกรรม โดยครอบคลุมตั้งแต่จุดปล่อยหลังจากผ่านแหล่งกำเนิดของเสียต่างๆ การคัดแยก รวบรวม จนถึงการบำบัดและกำจัด และ 6) น้ำเสีย ครอบคลุมการบำบัดน้ำเสียแบบกระจายศูนย์ และการบำบัดน้ำเสียแบบรวมศูนย์

สำหรับเกณฑ์สีเขียวของแต่ละกิจกรรมในภาคการกำจัดของเสีย ต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ของการประเมินทางเทคนิค (TSC) ของวัตถุประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรม อย่างน้อย 1 ข้อในแต่ละวัตถุประสงค์

  • ความท้าทายของผู้ประกอบการในการเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจสีเขียว

1. เทคโนโลยีที่ยังไม่แพร่หลายมีราคาแพง ทำให้การลงทุนเทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิต และการเข้าถึงเทคโนโลยีที่เหมาะสมยังมีข้อจำกัด

2. ข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SME

3. ข้อจำกัดด้านองค์ความรู้

Krungthai COMPASS วิเคราะห์ความท้าทายในการปรับตัวของผู้ประกอบการแต่ละกิจกรรมหลัก ภายใต้ขอบเขตของ Thailand Taxonomy ระยะที่ 2 จากการพิจารณา 3 ปัจจัยหลัก คือ 1. ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) 2. สัดส่วนของผู้ประกอบการรายย่อย และ 3. ต้นทุนในการลงทุนเทคโนโลยีหรือโครงการต่างๆ เพื่อที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งพบว่า

– การปลูกข้าว อาคารและอสังหาริมทรัพย์ และการผลิตซีเมนต์ เป็นกลุ่มที่มีความท้าทายสูงสุดในการเปลี่ยนผ่านให้สอดคล้องกับแนวทางของ Thailand Taxonomy โดยเป็นกิจกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับสูง รวมกันกว่า 69 MtCO2eq/ปี คิดเป็นราว 19% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของไทยในแต่ละปี

– กิจกรรมปศุสัตว์ การปลูกพืชยืนต้นและไม่ยืนต้น เป็นกลุ่มที่มีความท้าทายรองลงมา จากปัจจัยหลัก คือ การมีสัดส่วนของผู้ประกอบการรายย่อยสูง ถึง 93-95%

– กิจกรรมการผลิตสารเคมี และการผลิตเหล็กและเหล็กกล้า ถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่มีความท้าทายที่ค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับกิจกรรมอื่นๆ แต่ยังมีปัจจัยท้าทายหลักจากต้นทุนในการลงทุนที่สูง

  • แนะภาคส่วน เตรียมพร้อมสู่ธุรกิจสีเขียว ตาม Thailand Taxonomy ระยะที่ 2

1. ผู้ประกอบการ แนะนำให้ผู้ประกอบการเริ่มจัดทำข้อมูลการใช้ทรัพยากรและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเองเป็นลำดับแรก เพื่อตรวจสอบว่าธุรกิจมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ระดับใดและต้องปรับปรุงอะไรบ้าง เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการเปลี่ยนผ่านของกิจกรรมสีเขียวตาม Thailand Taxonomy ระยะที่ 2

1.1 ภาคเกษตร

– ผู้ประกอบการหรือเกษตรกรรายย่อย สามารถเริ่มต้นปรับตัวจากแนวทางปฏิบัติในระดับเบื้องต้นก่อน เช่น การปรับปรุงคุณภาพดิน การทำให้มูลสัตว์แห้งด้วยการตากแห้ง ซึ่งจะช่วยลดการเกิดมีเทน

– ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีความพร้อมอยู่แล้ว อาจพิจารณานำเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินกิจกรรมในพื้นที่ เช่น IoT (Internet of thing) โดรน และระบบดาวเทียม มาใช้ในการเก็บข้อมูลเพื่อตรวจสอบสภาพดิน น้ำ และพืชผล

1.2 ภาคอุตสาหกรรมการผลิต

– เร่งศึกษาแนวทางการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยนำเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำมาใช้ในแต่ละอุตสาหกรรม

– หาแนวทางที่จะปรับจากการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิล มาเป็นเชื้อเพลิงทดแทนที่มีการปล่อยคาร์บอนต่ำ ให้สอดคล้องกับเกณฑ์ชี้วัดสีเขียว

1.3 ภาคอาคารและอสังหาริมทรัพย์

– ออกแบบและปรับปรุงอาคารตามมาตรฐานอาคารสีเขียว รวมทั้งศึกษาเทคโนโลยีในต่างประเทศ เพื่อปรับใช้ในการออกแบบการใช้ทรัพยากรของตัวอาคารอย่างมีประสิทธิภาพ

– มีแผนการในการจัดการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการจัดการของเสีย และการนำวัสดุก่อสร้างที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้

2. ภาครัฐ ภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนและเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่กิจกรรมสีเขียว ด้วยมาตรการที่ช่วยลดอุปสรรคและสร้างแรงจูงใจในการปรับตัว โดยอาจพิจารณามาตรการสนับสนุนให้เหมาะสมกับแต่ละประเภท และขนาดธุรกิจ ซึ่งเผชิญกับข้อจำกัดและความท้าทายที่แตกต่างกัน เช่น

2.1 ภาคเกษตร : รัฐต้องสร้างความเข้าใจและความตระหนักรู้ให้แก่ผู้ประกอบการในภาคการเกษตร โดยมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านทั้งในแง่เงินทุน การให้ความรู้ คำปรึกษา และการสนับสนุนการรวมกลุ่มให้กับผู้ประกอบการภาคเกษตรซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นรายย่อย

2.2 ภาคอุตสาหกรรมการผลิต : รัฐต้องยกระดับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง, เร่งพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว แสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศที่มีความก้าวหน้าในการพัฒนาเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยี

2.3 ภาคอาคารและอสังหาริมทรัพย์ : ภาครัฐต้องกำหนดมาตรฐานด้านการใช้พลังงานในอาคาร เพื่อการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม, กำหนดพื้นที่นำร่องในการพัฒนาอาคารสีเขียว เพื่อเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในการเปลี่ยนผ่าน และมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านทั้งในแง่เงินทุนและการให้ความรู้ให้กับผู้ประกอบการรายย่อยในภาคอาคารและอสังหาริมทรัพย์

3. ภาคการเงิน ภาคการเงินสามารถมีบทบาทในการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่กิจกรรมสีเขียว ผ่านการเป็นที่ปรึกษาในการลงทุนและนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้เหมาะสมกับแต่ละธุรกิจ เช่น สินเชื่อเพื่อการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนและเครื่องจักรประหยัดพลังงานสำหรับภาคการผลิต หรือสินเชื่อสำหรับโครงการก่อสร้างหรือปรับปรุงอาคารที่เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานสำหรับอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ เป็นต้น

สำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ สถาบันการเงินสามารถเสนอทางเลือกในการระดมทุนผ่านตราสารหนี้สีเขียว (Green Bond) หรือตราสารหนี้เพื่อการเปลี่ยนผ่าน (Transition Bond) เพื่อช่วยให้ธุรกิจเข้าถึงเงินทุนในอัตราดอกเบี้ยที่น่าสนใจ และดึงดูดนักลงทุนที่มุ่งเน้นการลงทุนเพื่อความยั่งยืน เป็นต้น

ทั้งนี้ แม้ว่า Thailand Taxonomy ไม่ใช่กฎหมายหรือข้อบังคับ แต่นับว่ามีความสำคัญ เนื่องจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงสถาบันการเงิน จะใช้เป็นกลไกสนับสนุนการลงทุนในกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และกระตุ้นให้ประเทศไทยเกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่การดำเนินธุรกิจสีเขียวมากขึ้น

  • ทำความรู้จักกับ Thailand Taxonomy

Taxonomy คือ มาตรฐานที่ใช้อ้างอิงในการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคต่าง ๆ สำหรับการเปลี่ยนผ่านสู่การดำเนินงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยแบ่งประเภทกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามระดับการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็น 3 ระดับ ตามระบบไฟสัญญาณจราจร (Traffic light system) ได้แก่

– สีเขียว (Green) หมายถึง กิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกใกล้เคียงหรือเท่ากับศูนย์ หรือมีเส้นทางที่ชัดเจนที่จะนำไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่ากับศูนย์

– สีเหลือง (Amber) หมายถึง กิจกรรมที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน (Transition) หรือกิจกรรมที่ยังไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ แต่สามารถปรับปรุงได้ด้วยการกำหนดแนวทางในการลดคาร์บอน (Decarbonization pathway) และจะต้องผ่านเกณฑ์ชี้วัดในช่วงกรอบเวลาที่ชัดเจน อีกทั้งมีการกำหนดจุดสิ้นสุดของกิจกรรมที่ต้องปรับตัว (Sunset date)

โดยหลังจากปี 2583 กิจกรรมสีเหลืองทั้งหมด จะถูกประเมินตามเงื่อนไขและตัวชี้วัดสำหรับสีเขียวเท่านั้น ยกเว้นภาคการจัดการของเสียที่มีจุดสิ้นสุดของกิจกรรมที่ต้องปรับตัวในปี 2572 เพื่อให้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี 2564-2573

– สีแดง (Red) หมายถึง กิจกรรมที่ไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ ซึ่งหลังจากวันสิ้นสุดการเปลี่ยนผ่านในปี 2583 หรือ ปี 2572 เฉพาะในภาคการจัดการของเสีย กิจกรรมดังกล่าวจะต้องยุติลง (Phased out) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่การบรรลุเป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions)

Thailand Taxonomy ยังมี 2 หลักการสำคัญ ที่ช่วยสนับสนุนการจัดหมวดหมู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงความยั่งยืน คือ

1) การไม่สร้างผลกระทบเชิงลบอย่างมีนัยสำคัญ (Do No Significant Harm) เป็นแนวทางในการประเมินว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีวัตถุประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อมหนึ่ง จะไม่สร้างผลกระทบเชิงลบต่อเป้าหมายของวัตถุประสงค์อื่นอย่างครอบคลุมในทุกมิติ เช่น การดำเนินงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จะต้องไม่สร้างผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมในด้านอื่น รวมทั้งไม่สร้างผลกระทบเชิงลบในด้านสังคมและเศรษฐกิจ

2) การคำนึงถึงผลกระทบทางสังคม (Minimum Social Safeguards) เป็นแนวทางในการประเมินว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจมีการดำเนินการตามกรอบกฎเกณฑ์และนโยบายของไทย รวมถึงหลักกติกาที่เป็นที่ยอมรับระดับสากล และมีระบบการจัดการทางสังคมรองรับ เพื่อป้องกันการเกิดผลกระทบเชิงลบต่อสังคมและมนุษยชน โดยมาตรฐานและกฎระเบียบขั้นต่ำที่ผู้ดำเนินกิจกรรมควรพิจารณา เช่น อนุสัญญาหลักขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และสนธิสัญญาตราสารระหว่างประเทศ ด้านสิทธิมนุษยชน เป็นต้น

โดยทั้ง 2 หลักการนี้ ถูกนำมาใช้เป็นเกณฑ์สำคัญในกรอบการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมในหลายประเทศ เช่น EU Taxonomy และ UK Green Taxonomy เป็นต้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 พ.ย. 67)

Tags: , , , ,
Back to Top