In Focus: ใครเป็นใครในคณะบริหาร “ทรัมป์ 2.0”

หลังจากคว้าชัยในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ก็ไม่รอช้าเตรียมความพร้อมในการหวนคืนสู่บัลลังก์ทำเนียบขาวสมัย 2 ด้วยการเดินหน้าประกาศแต่งตั้งผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ในคณะบริหารชุดใหม่ของเขาแบบรัว ๆ เป็นรายวันกันเลยทีเดียว

In Focus ในสัปดาห์นี้จะพาไปเปิดโผรายชื่อ… ใครที่ถูกเลือกแล้วบ้าง และใครคือตัวเต็งที่ได้รับการคาดหมายว่าทรัมป์น่าจะวางตัวให้มาดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ

*ซูซี ไวลส์ – หัวหน้าเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาว

ตำแหน่งแรกที่ทรัมป์ประกาศแต่งตั้ง คือ หัวหน้าเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาว ซึ่งผลปรากฏว่าตำแหน่งนี้ตกเป็นของ ซูซี ไวลส์ หนึ่งในสองแกนนำคณะหาเสียงที่ช่วยให้ทรัมป์และพรรครีพับลิกันชนะการเลือกตั้ง โดยไวล์ส วัย 67 ปี ถือเป็นผู้หญิงคนแรกที่จะได้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว

ในฐานะด่านหน้าของประธานาธิบดี หัวหน้าเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวนับว่ามีอิทธิพลอย่างมาก โดยบุคคลที่ดำรงตำแหน่งนี้มีหน้าที่บริหารจัดการเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาว จัดสรรเวลาและตารางงานของปธน. รวมทั้งติดต่อประสานงานกับหน่วยงานของรัฐและสมาชิกรัฐสภา

ทรัมป์กล่าวในแถลงการณ์แต่งตั้งไวลส์เมื่อวันที่ 7 พ.ย. หรือเพียงสองวันหลังวันเลือกตั้งว่า “ซูซีแข็งแกร่ง หัวดี มีความคิดสร้างสรรค์ และเป็นที่ชื่นชมและได้รับความเคารพจากคนทั่วไป … เธอจะทำให้ประเทศชาติภูมิใจได้อย่างแน่นอน”

ขณะที่หลายคนซึ่งเคยร่วมงานกับไวล์สกล่าวกว่า เธอจะสร้างความมั่นคงและให้คำแนะนำที่ชาญฉลาดแก่ทรัมป์ในทำเนียบขาว

*ทอม โฮแมน – ผู้คุมชายแดน

อดีตรักษาการผู้อำนวยการสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากรในรัฐบาลทรัมป์สมัยแรกได้รับแต่งตั้งให้มาคุมชายแดนสหรัฐฯ ในรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งตำแหน่งนี้เป็นหนึ่งในตำแหน่งที่ได้รับความสนใจมาก เนื่องจากนโยบายผู้อพยพถือเป็นหนึ่งในวาระใหญ่ที่ส่งให้ทรัมป์ก้าวขึ้นคว้าชัยชนะในศึกเลือกตั้งครั้งนี้

ภารกิจสำคัญที่โฮแมนต้องรับผิดชอบในบทบาทผู้คุมชายแดน คือ การเนรเทศผู้ที่ทรัมป์เรียกว่าเป็นคนต่างด้าวผิดกฎหมายให้กลับประเทศ ซึ่งโฮแมนก็ตระหนักถึงหน้าที่นี้ดี โดยเขากล่าวหลังได้รับเลือกจากทรัมป์ว่า เขาจะให้ความสำคัญกับการเนรเทศผู้อพยพที่ลักลอบเข้าสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ

*เอลิส สเตฟานิก – เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรัฐนิวยอร์กจากพรรครีพับลิกัน วัย 40 ปี ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ ซึ่งเป็นบทบาทสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่โลกกำลังสั่นสะเทือนจากสงครามในยูเครนและในตะวันออกกลาง

ทรัมป์กล่าวในแถลงการณ์แต่งตั้งสเตฟานิกเมื่อวันจันทร์ที่ 1 พ.ย. ว่า “เอลิสเป็นนักสู้ เพื่อให้อเมริกาต้องมาก่อน เธอแข็งแกร่ง ทรหด และฉลาดอย่างเหลือเชื่อ”

สเตฟานิกเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนคนสำคัญของทรัมป์จนได้รับฉายา “องครักษ์พิทักษ์ทรัมป์”

*ลี เซลดิน – หัวหน้าสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อม

ทรัมป์กล่าวในแถลงการณ์แต่งตั้งเซลดินว่า อดีตสส.รัฐนิวยอร์กผู้นี้จะรักษา “มาตรฐานสูงสุดในด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมถึงอากาศและน้ำที่สะอาดที่สุดในโลก”

ขณะที่เซลดิน วัย 44 ปี โพสต์ข้อความบนโซเชียลมีเดียว่า รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้เข้าร่วมคณะรัฐมนตรีของทรัมป์ “เราจะฟื้นคืนความเป็นผู้นำด้านพลังงานของสหรัฐฯ ฟื้นฟูอุตสาหกรรมรถยนต์เพื่อนำการจ้างงานชาวอเมริกันกลับคืนมา”

ทั้งนี้ ทรัมป์ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์นโยบายสภาพภูมิอากาศของปธน.โจ ไบเดนอยู่บ่อยครั้ง โดยรัฐบาลไบเดนซึ่งให้ความสำคัญกับการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้เพิ่มความเข้มงวดของกฎระเบียบเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซไอเสียจากยานพาหนะ ตลอดจนควบคุมการทำเหมือง รวมถึงการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ โดยทรัมป์ให้คำมั่นว่า เขาจะยกเครื่องนโยบายพลังงาน และจะเร่งผลักดันการผ่อนปรนข้อจำกัดต่าง ๆ หลังเข้ารับตำแหน่ง

*มาร์โก รูบิโอ – รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

วุฒิสมาชิกจากรัฐฟลอริดา วัย 53 ปี จะเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายลาตินคนแรกที่ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ

รูบิโอได้ชื่อว่ามีแนวคิดสายเหยี่ยวมากที่สุดในบรรดารายชื่อที่ทรัมป์พิจารณาคัดเลือกมาเป็นรมว.ต่างประเทศ โดยรูบิโอเคยกล่าวเตือนถึงความร่วมมือกันมากขึ้นของจีน อิหร่าน เกาหลีเหนือ และรัสเซียเพื่อต่อต้านสหรัฐฯ ก่อนที่ในช่วงที่ผ่านมา เขาจะผ่อนปรนท่าทีลงเพื่อให้สอดคล้องกับทรัมป์มากขึ้น เนื่องจากทรัมป์ได้ออกมาโจมตีบรรดาอดีตปธน.ว่า เป็นผู้ที่นำสหรัฐฯ เข้าสู่สงครามที่สิ้นเปลืองและไร้ประโยชน์ พร้อมผลักดันนโยบายต่างประเทศที่แทรกแซงน้อยลง

*พีท เฮกเซธ – รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

“เมื่อพีทเป็นผู้นำ ศัตรูของอเมริกาจงระวังไว้ กองทัพของเราจะยิ่งใหญ่อีกครั้ง และอเมริกาจะไม่มีวันยอมถอย” ทรัมป์ระบุในแถลงการณ์แต่งตั้งเฮกเซธ อดีตทหารผ่านศึกในอิรักและอัฟกานิสถาน “ไม่มีใครสู้เพื่อกองทัพได้มากกว่านี้แล้ว และพีทจะเป็นผู้นำที่กล้าหาญและรักชาติที่สนับสนุนนโยบายสันติภาพผ่านความแข็งแกร่งของเรา”

ทั้งนี้ เฮกเซธ วัย 44 ปี เป็นพิธีกรร่วมในรายการ “Fox & Friends Weekend” ของสถานีโทรทัศน์ฟ็อกซ์นิวส์ และมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเครือข่ายสถานีนับตั้งแต่ปี 2557 จากการพัฒนาความสัมพันธ์ฉันมิตรกับว่าที่ปธน.ทรัมป์ ซึ่งมาปรากฏตัวในรายการของเขาอยู่เป็นประจำ นอกจากนี้ เขายังเป็นผู้เขียนหนังสือ “The War on Warriors: Behind the Betrayal of the Men Who Keep Us Free” ซึ่งเรียกร้องให้มีการปฏิรูปครั้งใหญ่ในระดับผู้บริหารอาวุโสของเพนตากอน

สำหรับเส้นทางการเมืองนั้น ก่อนเข้าทำงานที่ฟ็อกซ์นิวส์ เฮกเซธเคยลงสมัครศึกชิงเก้าอี้วุฒิสมาชิกรัฐมินนิโซตาในปี 2555 แต่ไม่ประสบความสำเร็จ

*ไมค์ วอลซ์ – ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติ

ในฐานะที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติ วอลซ์ วัย 50 ปี จะทำหน้าที่ประสานงานด้านนโยบายการต่างประเทศกับชาติพันธมิตรตะวันตก และจะสรุปประเด็นสำคัญด้านความมั่นคงแห่งชาติ ตลอดจนข้อมูลความเป็นไปของโลกให้ทรัมป์ทราบ รวมถึงประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ

วอลซ์เป็นสส.รัฐฟลอริดา และเป็นอดีตนายทหารที่เคยประจำการในอัฟกานิสถานหลายครั้ง เขาเป็นสส.รีพับลิกันเบอร์ต้น ๆ ที่ออกโรงวิพากษ์วิจารณ์ความล้มเหลวของรัฐบาลไบเดนที่ตัดสินใจถอนทหารสหรัฐฯ ออกจากอัฟกานิสถานเมื่อปี 2564

ในทางกลับกัน วอลซ์ได้ออกมาชื่นชมมุมมองนโยบายต่างประเทศของทรัมป์อย่างเปิดเผย ขณะเดียวกัน เขายังแสดงความเห็นว่า สหรัฐฯ จำเป็นต้องเตรียมพร้อมสำหรับความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก อันเนื่องมาจากการแผ่ขยายอิทธิพลของจีน

*อีลอน มัสก์ และวิเวก รามาสวามี – เจ้ากระทรวงประสิทธิภาพของรัฐบาล

ทรัมป์ได้ประกาศตั้งกระทรวงใหม่ที่มีชื่อว่า กระทรวงประสิทธิภาพของรัฐบาล (Department of Government Efficiency – DOGE) พร้อมแต่งตั้งให้อีลอน มัสก์ และวิเวก รามาสวามี คุมกระทรวงใหม่นี้

การแต่งตั้งบุคคลทั้งสองดังกล่าวนับเป็นการให้รางวัลตอบแทนแก่ผู้สนับสนุนทรัมป์จากภาคเอกชน โดยมัสก์เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเทสลา (Tesla) เอ็กซ์ (X) และสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ขณะที่รามาสวามีเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทด้านเภสัชกรรม และเคยลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกันก่อนถอนตัวและหันมาสนับสนุนทรัมป์

ทรัมป์ระบุในแถลงการณ์ว่า “มัสก์และรามาสวามีจะปูทางให้รัฐบาลของผมรื้อระบบราชการ ลดระเบียบข้อบังคับที่เกินความจำเป็น ตัดค่าใช้จ่ายที่สิ้นเปลือง และปรับโครงสร้างหน่วยงานของรัฐบาลกลาง”

*คริสตี โนเอม – รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ

กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิมีหน้าที่ตั้งแต่ป้องกันชายแดน จัดการเรื่องผู้อพยพ ไปจนถึงการตอบสนองต่อภัยพิบัติ และดูแลหน่วยอารักขาประธานาธิบดี (U.S. Secret Service)

ทรัมป์กล่าวในแถลงการณ์ว่า “คริสตีโดดเด่นมากในเรื่องความมั่นคงชายแดน เธอเป็นผู้ว่าการรัฐคนแรกที่ส่งทหารกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิ (National Guard) ไปช่วยรัฐเท็กซัสต่อสู้กับวิกฤตชายแดนของไบเดน และส่งไปถึง 8 ครั้งด้วยกัน”

ทรัมป์เสริมว่า โนเอมจะทำงานอย่างใกล้ชิดกับทอม โฮแมน ผู้ควบคุมชายแดน ซึ่งโนเอมก็ได้โพสต์บนบัญชีเอ็กซ์ของเธอว่า เธอตั้งตารอที่จะได้ร่วมงานกับโฮแมนเพื่อ “ทำให้อเมริกากลับมาปลอดภัยอีกครั้ง”

ทั้งนี้ ผู้ว่าการรัฐเซาท์ดาโคตา วัย 52 ปี เคยเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วประเทศจากการที่เธอปฏิเสธการบังคับสวมหน้ากากอนามัยในช่วงโควิด-19 ระบาดรุนแรง

*จอห์น แรตคลิฟฟ์ – ผู้อำนวยการซีไอเอ

อดีตผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองแห่งชาติ วัย 59 ปี ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองกลาง หรือซีไอเอ (CIA)

ในช่วงเวลาที่เขาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองแห่งชาตินั้น แรตคลิฟฟ์มักขัดแย้งกับบรรดาข้าราชการพลเรือน และถูกโจมตีจากพรรคเดโมแครตว่า เขาทำให้หน่วยข่าวกรองกลายเป็นเรื่องการเมือง

*สก็อตต์ เบสเซนต์ – ตัวเก็งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ที่ปรึกษาเศรษฐกิจคนสำคัญของทรัมป์ ถือเป็นตัวเก็งอันดับหนึ่งในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

เบสเซนต์ วัย 62 ปี เป็นนักลงทุนเฮดจ์ฟันด์ผู้มากประสบการณ์ ทั้งยังเคยสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยเยลหลายปี เขามีความสัมพันธ์อันดีกับทรัมป์ โดยเขายกย่องปรัชญาเศรษฐกิจของว่าที่ผู้นำคนใหม่ ทั้งยังสนับสนุนการใช้กำแพงภาษีศุลกากรเป็นเครื่องมือในการเจรจาต่อรอง

*โรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์ – ตัวเก็งผู้แทนการค้าของสหรัฐฯ หรือรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง

ไลต์ไฮเซอร์ วัย 77 ปี ได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่จงรักภักดีต่อทรัมป์ตลอดระยะเวลาที่ทรัมป์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก

นักวิเคราะห์มองว่า เบสเซนต์มีภาษีดีกว่าที่จะได้เป็นรัฐมนตรีคลัง และเชื่อว่า ไลท์ไฮเซอร์น่าจะได้กลับมารับบทบาทเดิมของเขานั่นคือ ผู้แทนการค้าของสหรัฐฯ

ไลท์ไฮเซอร์ไม่เห็นด้วยกับการค้าเสรี โดยเขามีบทบาทสำคัญในการช่วยทรัมป์ทำสงครามการค้ากับจีน รวมไปถึงการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) ฉบับใหม่กับเม็กซิโกและแคนาดาในรัฐบาลทรัมป์สมัยแรกด้วย

*โฮเวิร์ด ลุตนิก – ตัวเก็งรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารแคนเตอร์ ฟิตซ์เจอรัลด์ บริษัทบริการทางการเงิน เป็นหนึ่งในผู้เข้าชิงเก้าอี้รมว.คลัง

ลุตนิก วัย 63 ปี เป็นชาวนิวยอร์กเหมือนทรัมป์ เขามักชื่นชมนโยบายเศรษฐกิจของทรัมป์ ซึ่งรวมถึงการใช้ภาษีศุลกากร อย่างไรก็ตาม พันธมิตรของทรัมป์บางคนไม่ค่อยชอบเขา เนื่องจากมองว่า ลุตนิกพยายามเสนอตัวมากเกินไปในระหว่างการหาเสียง

*ลินดา แม็กมาฮอน – ตัวเก็งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

อดีตซีอีโอ WWE แฟรนไชส์มวยปล้ำชื่อดัง และอดีตผู้อำนวยการสำนักงานบริหารธุรกิจขนาดเล็ก วัย 76 ปี ได้รับการคาดหมายว่าจะได้รับเลือกจากทรัมป์ให้มาดำรงตำแหน่งรมว.พาณิชย์

แม็กมาฮอนเป็นผู้บริจาครายใหญ่และเป็นผู้สนับสนุนทรัมป์ตั้งแต่สมัยที่เขาลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก และในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดนี้ ทรัมป์เลือกเธอให้ร่วมเป็นหนึ่งในผู้นำทีมงานเปลี่ยนผ่านอำนาจ และมีส่วนในการร่างนโยบายก่อนการเลือกตั้งวันที่ 5 พ.ย.

*แมตต์ เกตซ์ – รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

สส.รัฐฟลอริดา วัย 42 ปี ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ทั้งที่เกตซ์ไม่เคยทำงานในกระทรวงยุติธรรมหรือเป็นอัยการมาก่อน หนำซ้ำยังเคยถูกกระทรวงสอบสวนเกี่ยวกับข้อกล่าวหาค้ามนุษย์เพื่อการค้าประเวณีอีกด้วย

ทั้งนี้ เกตซ์ลาออกจากตำแหน่งสส. ในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากที่ทรัมป์ประกาศว่าจะแต่งตั้งให้เขาคุมกระทรวงยุติธรรม อย่างไรก็ตาม บรรดานักวิเคราะห์และสื่อหลายสำนักมองว่า โอกาสที่เกตส์จะได้รับแต่งตั้งอย่างเป็นทางการนั้นยังไม่แน่นอน เพราะเขามีศัตรูอยู่เยอะ หนึ่งในนั้นคือ เควิน แมคคาร์ธี อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ จากพรรครีพับลิกัน โดยเกตซ์เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการปลดแมคคาร์ธีออกจากตำแหน่งประธานสภาเมื่อปีที่แล้ว

*ทัลซี แกบบาร์ด – ผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองแห่งชาติ

“ผมเชื่อมั่นว่า ทัลซีจะนำจิตวิญญาณที่ไม่หวั่นไหวมาสู่ชุมชนข่าวกรองของเรา ปกป้องสิทธิตามรัฐธรรมนูญของเรา และรักษาสันติภาพด้วยความแข็งแกร่ง” ทรัมป์กล่าวถึงอดีตสส.ฮาวายผู้แปรพักตร์จากพรรคเดโมแครต

ขณะที่แกบบาร์ดเองก็ออกแถลงการณ์ขอบคุณทรัมป์ที่ไว้วางใจให้โอกาสเธอได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลชุดใหม่

แกบบาร์ดวัย 43 ปี มีจุดยืนต่อต้านการสนับสนุนยูเครนทำสงครามกับรัสเซีย แถมยังเคยแสดงความเห็นในทำนองว่า ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน มีเหตุผลอันสมควรในการรุกรานยูเครน

ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่ง และหลายตำแหน่งยังต้องรอการลงมติรับรองจากวุฒิสภาสหรัฐฯ ก่อน ซึ่งจนกว่าจะถึงวันที่ทรัมป์สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 ม.ค. 2568 เราน่าจะได้เห็นโฉมหน้าครม.ทรัมป์ 2.0 ที่ชัดเจนมากกว่านี้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 พ.ย. 67)

Tags: , , ,
Back to Top