นักวิชาการ แนะไทยผนึกกำลังอาเซียน เพิ่มบทบาท-พลังต่อรองในเกมอำนาจโลก

นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานคณะมนตรีเพื่อสันติภาพ และความปรองดองแห่งเอเชีย กล่าวในเวทีเสวนา หัวข้อ “บทบาทไทยในเกมอำนาจโลก” โดยให้มุมมองในประเด็นการรับมือของไทย กับนโยบายสหรัฐในการขึ้นภาษีทั่วโลก หลังจากที่นายโดนัล ทรัมป์ รับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาอีกครั้ง ว่า สิ่งที่ไทยต้องทำ คือ ทำใจอยู่กับโลกที่มีความไม่แน่นอน และจะมีความเปลี่ยนแปลงมากขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าสหรัฐจะขึ้นภาษีกับทุกประเทศ ไทยต้องผนึกกำลังในกลุ่มอาเซียน หรือ RCEP (ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค) มากขึ้น แต่หากเรื่องใดที่สามารถร่วมมือสหรัฐได้ ก็ร่วมมือต่อไป หรือเรื่องใดที่สามารถร่วมมือกับจีนได้ เราก็ร่วมมือเลย แต่ต้องเตรียมตัวตลอดเวลา เพราะอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอด 4 ปีข้างหน้า

สำหรับการวางตัวของไทย ระหว่างการแข่งขันของจีนกับสหรัฐนั้น นายสุรเกียรติ มองว่า ไทยต้องเลือกทั้งคู่ ดูที่ตัวเราก่อนว่าผลประโยชน์เราอยู่ที่ไหน เราไม่เลือกข้าง ไม่เป็นคู่ขัดแย้ง แต่ต้องมีจุดยืน ต้องมีหลักการ หากทำได้ไทยจะเป็นที่ยอมรับของประเทศมหาอำนาจ พร้อมมองว่า ไทยต้องดึงอาเซียนมาเป็นพวก ต้องมีการหารือกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น เพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรอง

“เราต้องเอาอาเซียนมาเป็นพวก เอาตามจุดยืนอาเซียน เพื่อเป็นการซื้อเวลา จุดยืนบางอย่าง เราไม่ต้องดำหรือขาว แต่จุดยืนสีเทาเป็นประโยชน์กับเรา แต่อาเซียนต้องใกล้ชิดกัน ต้องจับเข่าคุยกัน และรัฐมนตรีต่างประเทศของแต่ละประเทศ ควรมีการพบปะกันอย่างไม่เป็นทางการได้ แต่ช่วงหลังอาเซียนขาดตรงนี้ ซึ่งหากพูดคุยกันได้จะมีส่วนช่วยรักษาอำนาจได้” นายสุรเกียรติ์ กล่าว

ทั้งนี้ มองว่าไทยยังตกลงบทบาทตัวเองไม่ถูกว่าจะไปทางไหน และไทยไม่เคยแสดงบทบาทชัดเจนในกลุ่มประเทศพัฒนา และตราบใดสิ่งที่เราคิดกับทำไม่ไปด้วยกัน เราอาจเสียประโยชน์ พร้อมกับย้ำว่า ไทยอยู่ในภูมิรัฐศาสตร์ที่ดี อยู่ที่ตั้งที่สามารถเจรจากับมหาอำนาจโลก แต่เราไม่ได้ใช้ประโยชน์ตรงนี้

นายสุรเกียรติ์ ยังเห็นว่า ไทยจำเป็นต้องเร่งยกเครื่องการศึกษา ตั้งแต่ระดับประถมถึงมหาวิทยาลัย เพราะที่ผ่านมา ไทยไม่สามารถผลิตบุคลากรสนองความเปลี่ยนแปลงของโลกได้

ส่วนการที่ไทยจะเพิ่มอำนาจต่อรองในเวทีโลกได้อย่างไรนั้น นายสุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ทั้งหมดขึ้นอยู่กับผู้นำของไทย ที่ต้องเข้าใจภูมิทัศน์การเมืองโลก และมิติการแข่งขันของรัฐมหาอำนาจใหญ่ได้ และต้องสามารถเชื่อมต่อกับรัฐมหาอำนาจใหญ่ทั้ง 2 ฝ่ายได้อย่างสมดุล

นายสุรชาติ มองว่า ไทยต้องดำรงความเป็นอิสระในกระบวนการกำหนดนโยบาย และต้องไม่สร้างเงื่อนไขกับตัวเองจนถูกบังคับให้เลือกข้าง ผู้นำไทยต้องคิดจัดวางประเทศบนแผนที่ภูมิรัฐศาสตร์โลกให้ได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ ไทยควรสนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งของ regionalism ผ่านอาเซียน และไทยควรดำเนินความสัมพันธ์เชิงสร้างสรรค์กับประเทศเพื่อนบ้าน และผู้นำไทยต้องกล้าที่สัมผัสโลกภายนอก ไม่หนีจากจอเรดาร์โลก

สำหรับบทบาทของไทยต่อสถานการณ์ในเมียนมานั้น นายสุรชาติ กล่าวว่า บทบาทของไทยง่ายสุด คือ เปิดให้ความช่วยเหลือชาวเมียนมาตามแนวชายแดน ซึ่งจะทำให้ไทยกลายเป็นพระเอก และถือเป็น Soft Power ดีที่สุดที่จะเอาไปโฆษณาได้ จึงอยากเห็นความช่วยเหลือกลุ่มชาติพันธุ์ตามแนวชายแดน ซึ่งไม่ใช่การแทรกแซงเมียนมา

โดยนายสุรเกียรติ กล่าวเสริมว่า ถ้าไทยสามารถเชิญผู้เห็นต่างกับรัฐบาลเมียนมา กับฝ่ายรัฐบาลเมียนมา มาพูดคุยเรื่องการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในประเทศไทย รับรองว่าถ้าทำได้ นายกรัฐมนตรีไทยไปที่ไหนทุกคนก็อยากให้เข้าพบ และการพูดคุยเรื่องความขัดแย้งในเมียนมาให้จบได้ต้องมีประเทศจีน สหรัฐ อินเดีย และญี่ปุ่นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

ส่วนประเด็นการอ้างสิทธิ์ MOU 44 กับประเทศกัมพูชานั้น นายสุรเกียรติ อธิบายว่า MOU 44 เป็นการเจรจาเส้นเขตแดนทางทะเล เป็นสิทธิเรียกร้องทับซ้อนกัน ซึ่งในกฏหมายทะเล 1982 เขียนไว้ว่าถ้าตกลงไม่ได้ ให้หามาตรการชั่วคราวตกลงร่วมกัน ถ้าเจรจาได้ก็ตกลงกันได้ และยืนยันว่า MOU 44 ไม่เกี่ยวกับเกาะกูด เป็นเรื่องตกลงว่าจะตั้งคณะกรรมการว่าสิทธิเรียกร้องจะทำอย่างไร ถ้าตกลงกันได้ ก็เข้ารัฐสภา

“ข้อดี MOU 44 คือ มีการตั้งคณะกรรมการเจรจามาหลายรัฐบาล แต่ยังไม่มีความคืบหน้า และการเจรจา จะมีการเจรจาผลประโยชน์ด้านปิโตรเลียม พร้อม ๆไปกับเรื่องของเส้นเขตแดนทางทะเลที่ทับซ้อนกันอยู่ และ MOU 44 จะไม่กระทบกับสิ่งที่เคยเคลมเอาไว้ของทั้ง 2 ประเทศ และถ้าหากคณะกรรมการที่ตั้งขึ้น เจรจาแล้วไม่ได้ผลที่น่าพอใจ ก็ไม่ต้องตกลง” นายสุรเกียรติ์ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 พ.ย. 67)

Tags: , , ,
Back to Top