ดัชนีเชื่อมั่นหอการค้าไทย ต.ค. ร่วงยาว 6 เดือน เอกชนหวังรัฐออกมาตรการกระตุ้นศก.ปลายปี

นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC INDEX) เดือน ต.ค.67 ซึ่งเป็นการสำรวจจากความคิดเห็นของภาคธุรกิจ และหอการค้าทั่วประเทศ จำนวน 369 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 24-31 ต.ค.67 โดยดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 48.9 ลดลงจากระดับ 49.4 ในเดือนก.ย. 67 โดยเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 ซึ่งเป็นระดับปกติ ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2

นายวชิร กล่าวว่า การที่ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ยังคงลดลงต่อเนื่อง เนื่องจากอิทธิพลของปัจจัยด้านลบยังมีมากกว่าปัจจัยด้านบวก ซึ่งภาคธุรกิจมองว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมของหลายจังหวัด ทั้งการลงทุน การท่องเที่ยวยังไม่โดดเด่น ขณะที่ภาคการเกษตร แม้สินค้าเกษตรจะมีราคาสูงขึ้น แต่เป็นเพราะผลผลิตที่เสียหายจากน้ำท่วม ทำให้สินค้าเข้าสู่ตลาดลดลง

นอกจากนี้ การที่รัฐบาลแจกเงินหมื่นบาทให้กับกลุ่มเปราะบางนั้น อาจทำให้การบริโภคขยับขึ้นบ้าง แต่ผลจากมาตรการนี้ก็ยังไม่ทำให้ปริมาณการค้าในหลายพื้นที่โดดเด่นได้มากนัก ขณะที่บางจังหวัดแม้จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาต่อเนื่อง แต่การบริโภค และการจับจ่ายใช้สอย ก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากจากเดือนก่อนหน้า

“ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ยังมีสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่อง แม้จะมีมาตรการต่าง ๆ จากภาครัฐออกมา…ภาคธุรกิจ ยังมองว่าเศรษฐกิจในปัจจุบันไม่อยู่ในภาวะปกติที่จะเดินได้โดยลำพัง ซึ่งคงต้องรอดูว่าภาครัฐ จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปีนี้อย่างไร” นายวชิร ระบุ

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ในแต่ละภูมิภาค เป็นดังนี้

  • กรุงเทพฯ และปริมณฑล อยู่ที่ 48.8 ลดลงจากเดือนก.ย. ซึ่งอยู่ที่ 49.1

  • ภาคกลาง อยู่ที่ 48.9 ลดลงจากเดือนก.ย. ซึ่งอยู่ที่ 49.4

  • ภาคตะวันออก อยู่ที่ 51.8 ลดลงจากเดือนก.ย. ซึ่งอยู่ที่ 52.1

  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ 47.7 ลดลงจากเดือนก.ย. ซึ่งอยู่ที่ 48.0

  • ภาคเหนือ อยู่ที่ 48.7 ลดลงจากเดือนก.ย. ซึ่งอยู่ที่ 49.3

  • ภาคใต้ อยู่ที่ 48.0 ลดลงจากเดือนก.ย. ซึ่งอยู่ที่ 48.6

ปัจจัยลบ ได้แก่

  1. ความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ของโลกที่ยังยืดเยื้อ ทั้งรัสเซีย-ยูเครน และอิสราเอล-ฮามาส

  2. การฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง และอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทยในอนาคต

  3. ความเสียหายของประชาชนและภาคธุรกิจ จากเหตุน้ำท่วมใหญ่ ทำให้ต้องหยุดกิจการและซ่อมแซมบ้านเรือนที่เสียหาย

  4. นโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐที่ยังไม่มีความชัดเจน

  5. ความผันผวนของค่าเงินบาท และเงินบาทปรับแข็งค่า ซึ่งกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกไทย

ปัจจัยบวก ได้แก่

  1. รัฐบาลดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการแจกเงิน 10,000 บาท แก่กลุ่มเปราะบางและผู้พิการ

  2. คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่ 2.25%

  3. จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

  4. ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวสูงขึ้น ทำให้เกษตรกรมีรายได้ดีขึ้น

  5. การส่งออกไทยเดือน ก.ย.67 ขยายตัว 1.1% มูลค่าเกือบ 26,000 ล้านดอลลาร์

  6. ครม. ขยายเวลาคงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่ 7% ออกไปอีก 1 ปี

  7. มาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองรอง 55 จังหวัด มีผลตั้งแต่ พ.ค.-พ.ย.67

  8. ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศทรงตัว

ทั้งนี้ ภาคเอกชนยังได้เสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่อภาครัฐ ดังนี้

  • กระตุ้นมาตรการเศรษฐกิจในช่วงปลายปี โดยการเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชน การส่งเสริมการท่องเที่ยวทั่วไทยในช่วงปลายปี

  • เร่งพิจารณามาตรการเสริมทักษะแรงงาน, เสริมศักยภาพให้แก่ SMEs

  • วางมาตรการควบคุมสินค้าจีนที่อาจทะลักเข้าไทยอย่างต่อเนื่อง จนกระทบกับผู้ประกอบการในอนาคต

  • รักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 พ.ย. 67)

Tags: , ,
Back to Top