ม.หอการค้าฯ เชียร์รัฐแจกดิจิทัลวอลเล็ต เฟส 2 เพิ่มเงื่อนไขใช้จ่าย “คูณสอง” เห็นแน่พายุศก.

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เสนอแนะความเห็นต่อนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในช่วงปลายปี ซึ่งจะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ วันที่ 19 พ.ย.นี้ โดยมองว่า การทำโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจในเฟส 2 ต่อจากเฟสแรกที่แจกเงินสด 10,000 บาท ให้แก่กลุ่มเปราะบางไปแล้วนั้น รัฐบาลสามารถแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตผ่านแอปพลิเคชั่นได้ เนื่องจากกลุ่มประชาชนที่จะได้รับเงินในเฟสถัดไปนี้ จะเป็นผู้มีความพร้อมในการใช้สมาร์ทโฟน และอยู่ในสังคมเมือง ทำให้การรับเงินดิจิทัลวอลเล็ตไม่ใช่เรื่องยาก

อีกทั้งรัฐบาลยังสามารถกำหนดเงื่อนไขการใช้จ่ายได้ ว่าต้องเป็นการซื้อสินค้าจำเป็น เป็นสินค้าที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก และไม่ใช่สินค้าที่เกี่ยวกับอบายมุข ซึ่งเป็นการกำหนดเงื่อนไขการใช้เงินได้ดีกว่าในเฟสแรกที่แจกเป็นเงินสด ซึ่งยากต่อการติดตามการใช้จ่าย

นายธนวรรธน์ ยังเห็นสอดคล้องกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่เสนอให้การแจกเงิน 10,000 บาทในเฟสต่อไป ใช้รูปแบบเงินดิจิทัล และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบคนละครึ่ง หรืออาจใช้คำว่า “คูณสอง” โดยเป็นการใช้เงินประชาชนส่วนหนึ่ง และเงินของรัฐบาลอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งจะทำให้เม็ดเงินในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เหลืออยู่อีก 3 แสนล้านบาท ลงสู่ระบบเศรษฐกิจได้ทวีคูณเป็น 6 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ ยังจะทำให้ประชาชนใช้เงินหมื่นบาทได้อย่างคุ้มค่า และมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะเป็นการใช้เงินของตัวเองส่วนหนึ่ง และจะสร้างวินัยการใช้เงินได้ส่วนหนึ่ง ดังนั้น การใช้งบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น รัฐบาลอาจจะแปลงจากดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท แล้วเติมเงื่อนไขคนละครึ่ง หรือ “คูณสอง” เข้าไปด้วย น่าจะเป็นเม็ดเงินที่คุ้มค่ามากขึ้น แต่สุดท้ายแล้ว ต้องอยู่ที่บอร์ดกระตุ้นเศรษฐกิจจะพิจารณาตามความเหมาะสม

“ถ้าเฟส 2 จะใช้ในรูปแบบของดิจิทัลวอลเล็ต ก็น่าจะเหมาะสม วงเงินที่เหลืออีก 3 แสนกว่าล้าน ถ้าอยากหลบคำว่าคนละครึ่ง ก็มาใช้คำว่า “คูณสอง” ตามที่ กกร.เสนอว่าให้มีการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบคนละครึ่ง ซึ่งการลงเงิน 3 แสนล้านบาท จะมีเงินหมุนเวียนคูณสองทันที 6 แสนล้านบาท ก่อให้เกิดพายุลูกใหญ่ทางเศรษฐกิจ ที่ช่วยหนุนให้เศรษฐกิจเติบโตได้มากกว่า” นายธนวรรธน์ ระบุ

พร้อมกันนี้ ยังเห็นว่ารัฐบาลอาจเลือกใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน โดยไม่จำเป็นต้องใช้เงินงบประมาณสูงมากนัก ผ่านโครงการ E-receive ซึ่งรัฐอาจจะสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีไปบ้าง แต่ก็เชื่อว่าจะมีความคุ้มค่ามากกว่า

“ให้ประชาชนใช้จ่ายเงิน และได้รับลดหย่อนภาษี ทำให้รัฐไม่ต้องนำเงินออก รัฐอาจเสียรายได้ในอนาคตบ้าง แต่ไม่ต้องใช้งบประมาณของรัฐทั้ง 100%” นายธนวรรธน์ ระบุ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 พ.ย. 67)

Tags: , ,
Back to Top