“วิรไท” ชี้ “โลกรวน” ความท้าทายใหม่ระบบศก. ห่วงไทยตั้งรับช้า แนะรัฐเร่งบูรณาการแผนรับมือ

นายวิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2024 หัวข้อ “รับมือโลกรวนอย่างไร ให้เท่าทัน” โดยระบุว่า ปัญหาโลกรวนที่เห็นได้ชัดเจนในปัจจุบัน ได้แก่ อุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้นในแต่ละปี, ภาวะ rain bomb, สภาวะแห้งแล้ง, ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น เป็นต้น ซึ่งภาวะเหล่านี้ ถือเป็นความเสี่ยงที่สำคัญของมวลมนุษยชาติ เนื่องจากมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจใน 3 ด้าน คือ 1.ด้านผลิตภาพ 2.การกระจายประโยชน์ 3.การสร้างภูมิคุ้มกัน

โดยในด้านผลิตภาพนั้น หากยังมีการทำนโยบายแบบเดิม ๆ โดยไม่คำนึงถึงปัญหาโลกรวนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ย่อมจะนำมาซึ่งต้นทุนการดำเนินชีวิต และต้นทุนการดำเนินธุรกิจที่เพิ่มขึ้น ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันลดลง ส่วนการกระจายประโยชน์นั้น ประเทศที่ยากจนหรือด้อยพัฒนา อาจได้เป็นผู้รับภาระที่มากกว่า จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้ว มักเป็นผู้สร้างปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่า ส่วนการสร้างภูมิคุ้มกันต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศภายใต้ภาวะโลกรวน อาจทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นในการดูแลระบบสวัสดิการประชาชน รวมทั้งหลักประกันสังคม

นายวิรไท กล่าวว่า การที่แต่ละประเทศจะก้าวไปข้างหน้าให้ได้ เมื่ออยู่ภายใต้ภาวะโลกรวนนั้น จำเป็นต้องปรับตัวให้เท่าทันกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งมองว่าในส่วนของประเทศไทยเอง ความสามารถในการปรับตัวดังกล่าวยังถือว่าต่ำ เนื่องจากระบบการทำงานของภาครัฐยังไม่ดีพอ ส่งผลต่อการปรับตัวของภาคเอกชนที่อาจไม่ทันสถานการณ์ ดังนั้นปัญหาโลกรวน จึงถือเป็นความท้าทายใหม่ต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของไทย

“หลายประเทศในปัจจุบันต่างหันมาให้ความสำคัญกับปัญหาโลกรวน โดยมองว่าประชากรในประเทศของตนจำเป็นต้องมีความรู้พื้นฐานที่เพียงพอ เพื่อให้สามารถติดตามปัญหาและตั้งรับได้ทันสถานการณ์ ดังนั้น จะทำอย่างไรที่จะให้เกิดทั้งการตระหนก ควบคู่ไปกับการตระหนักในเรื่องนี้” นายวิรไท กล่าว

พร้อมเห็นว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ยังพึ่งพารายได้ภาคการเกษตร ในขณะที่ภาคเกษตร ถือว่ามีความอ่อนไหวต่อปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศเป็นอย่างมาก ดังนั้นสิ่งเร่งด่วนที่ประเทศไทยจำเป็นต้องดำเนินการ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะโดนผลกระทบจากภาวะโลกรวน คือ บูรณาการมาตรการตั้งรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ยังกระจัดกระจายอยู่ในแต่ละหน่วยงาน มารวมไว้เป็นแผนหลักแผนเดียวของประเทศ เพื่อให้เกิดการปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม และการปรับตัวเพื่อรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องเริ่มทำตั้งแต่วันนี้ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในในระบบสาธารณูปโภค และโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งต้องใช้งบประมาณในจำนวนที่สูงในการลงทุน แต่ก็ถือว่าเป็นความจำเป็นสำหรับประเทศไทยที่มีความอ่อนไหวต่อเรื่องนี้

“การปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นเรื่องใหญ่ ต้องทำตั้งแต่วันนี้ อาจต้องอาศัยการลงทุนที่สูงมาก ประเทศที่อ่อนไหวอย่างเรา อาจต้องใช้เงินเป็นหลักแสนล้านต่อปี และต้องทำอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งต้องคิดถึงเรื่องการเยียวยาความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น มีเม็ดเงินไว้พร้อมช่วยเหลือ…สิ่งสำคัญคือต้องทำแผน และคำนวณตัวเงินให้ได้ เพื่อจัดสรรทรัพยากรให้เพียงพอ และจัดลำดับความสำคัญให้ถูกต้อง” อดีตผู้ว่าฯ ธปท. กล่าว

และเห็นว่า รัฐบาลต้องกล้ายอมรับว่าประเทศเราช้ากว่าหลายประเทศค่อนข้างมากในการรับมือกับภาวะโลกรวน ดังนั้นจะต้องปรับวิธีการทำงาน และหาหน่วยงานที่ทำหน้าที่รับผิดชอบดูแลเรื่องนี้โดยตรง รวมทั้งแก้ปัญหาความล้มเหลวในการประสานงานระหว่างกระทรวง หรือระหว่างรัฐบาลกับหน่วยงานท้องถิ่น หรือระหว่างรัฐกับเอกชน รวมทั้งเปิดให้สถาบันการศึกษา ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการหาทางออกให้กับประเทศ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 พ.ย. 67)

Tags: , ,
Back to Top