กระเตื้อง!! ดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ ต.ค.ขยับขึ้น หลังน้ำท่วมคลี่คลาย-แจกเงินหมื่น-แบงก์ลดดบ.หนุน

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนต.ค. 67 อยู่ที่ระดับ 89.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จาก 87.1 ในเดือนก.ย. 67 เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่เริ่มคลี่คลาย ขณะที่ภาครัฐเร่งฟื้นฟู และเยียวยาความเสียหายให้กับประชาชน รวมถึงโครงการแจกเงิน 10,000 บาทให้กับกลุ่มเปราะบาง ส่งผลดียอดขายสินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องใช้ในบ้าน และอุปกรณ์การเกษตร และปุ๋ยเคมี

ด้านธนาคารพาณิชย์ เริ่มทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง 0.25% ภายหลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จากระดับ 2.50% สู่ระดับ 2.25% ส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการลดลง

ขณะที่ภาคการท่องเที่ยว ขยายตัวต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-27 ต.ค. 67 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทย จำนวน 28.378,473 คน สร้างรายได้ประมาณ 1,325,359 ล้านบาท

ส่วนภาคการส่งออก ขยายตัวต่อเนื่องเช่นกันตามอุปสงค์ในตลาดโลก และจากความต้องการสินค้าในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ อาทิ สหรัฐฯ ยุโรป อินเดีย และอาเซียน เป็นต้น โดยการส่งออกในเดือนก.ย. 67 มีมูลค่า 25,983.2 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 1.1% รวมถึงอัตราค่าระวางเรือ (Freight rate) ขนส่งสินค้า ปรับตัวลดลงในเส้นทางสำคัญ อาทิ สหรัฐฯ ยุโรป และเอเชีย ส่งผลให้ต้นทุนโลจิสติกส์ของผู้ประกอบการลดลง

อย่างไรก็ตาม ในเดือนต.ค. ยังมีปัจจัยลบจากกำลังซื้อในประเทศยังอ่อนแอ จากค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ปัญหาหนี้ครัวเรือนยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะหนี้เสีย (NPL) ที่เพิ่มขึ้น 13.3% YoY อยู่ที่ระดับ 1.18 ล้านล้านบาท สถานการณ์น้ำท่วมในช่วงเดือนก.ย. และต.ค. ที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาวัตถุดิบสินค้าเกษตรเพิ่มสูงขึ้น สินค้าวัสดุก่อสร้างได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นผลมาจากปัญหาหนี้ครัวเรือน

นอกจากนี้ สินค้าราคาถูกจากต่างประเทศเข้ามาทุ่มตลาด ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในประเทศโดยเฉพาะ SMESs รวมไปถึงความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกของไทย และสถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลาง ยังเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจการค้าโลก

 

ส.อ.ท. มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ดังนี้

1. เสนอให้สถาบันการเงินและธนาคารพาณิชย์ ผ่อนปรนหลักเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs อาทิ ผ่อนปรนเรื่องการขาดทุนปีล่าสุด โดยให้พิจารณากำไรจากการดำเนินงานในรูปของเงินสด (EBITDA) ของบริษัทปีล่าสุด เป็นต้น

2. เสนอให้ภาครัฐจัดตั้งกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขาดกลางและขนาดย่อม (SME) เพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิตด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ และยกระดับการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม

3. ออกมาตรการทางภาษีและการเงิน เพื่อกระตุ้นการซื้อรถยนต์ภายในประเทศ และเร่งการจัดซื้อภาครัฐในหมวดพาหนะ ปี 2568

4. เสนอให้ภาครัฐบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค และการแข่งขันทางการค้าอย่างเคร่งครัด รวมทั้งเข้มงวดในการตรวจจับสินค้านำเข้า ราคาถูกที่ไม่ได้คุณภาพ

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 พ.ย. 67)

Tags: , , ,
Back to Top