ทางการนิวซีแลนด์ขอโทษกลุ่มเหยื่อถูกทารุณกรรมในสถานสงเคราะห์ตลอด 70 ปีที่ผ่านมา

นิวซีแลนด์ได้ประกาศคำขอโทษระดับชาติในวันนี้ (12 พ.ย.) ต่อเหยื่อและครอบครัวของเยาวชนและผู้ใหญ่กลุ่มเปราะบางนับแสนราย ที่ตกเป็นเหยื่อการทารุณกรรมทั้งทางร่างกายและทางเพศในสถานสงเคราะห์ของรัฐและองค์กรศาสนาตลอดช่วง 70 ปีที่ผ่านมา

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า คำขอโทษครั้งประวัติศาสตร์นี้มีขึ้นภายหลังจากคณะกรรมการไต่สวนสาธารณะได้เผยแพร่รายงานในเดือนก.ค. ซึ่งพบว่ามีเด็กและผู้ใหญ่กลุ่มเปราะบางประมาณ 200,000 คน ถูกกระทำทารุณกรรมในหลายรูปแบบระหว่างที่อยู่ภายใต้การดูแลของสถานสงเคราะห์ของรัฐและองค์กรทางศาสนาตลอดช่วงเวลากว่า 70 ปี ตั้งแต่พ.ศ. 2493-2562

“มันเป็นเรื่องที่น่าสยดสยอง น่าสะเทือนใจ เป็นสิ่งที่ผิด และไม่ควรเกิดขึ้นเลย” นายกรัฐมนตรีคริสโตเฟอร์ ลักซอนกล่าวท่ามกลางผู้เสียหายและครอบครัวราว 200 คน ที่นั่งฟังอยู่บนที่นั่งผู้ชมในอาคารรัฐสภา ณ กรุงเวลลิงตัน

“วันนี้ในนามของรัฐบาล ผมขอโทษทุกท่านที่เคยถูกทารุณกรรม ทำร้ายร่างกาย และถูกทอดทิ้งละเลยในขณะที่อยู่ภายใต้การดูแลของรัฐ ผมขอโทษผู้เสียหายทุกท่าน ทั้งในนามของรัฐบาลชุดปัจจุบันและรัฐบาลชุดก่อน ๆ”

นายกฯ กล่าวว่า จากข้อเสนอแนะทั้งหมดที่ได้จากการสอบสวน รัฐบาลได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วบางส่วนและอยู่ระหว่างดำเนินการอีก 28 ข้อ โดยจะมีการชี้แจงความคืบหน้าอย่างละเอียดในช่วงต้นปีหน้า

ลักซอนประกาศว่าจะกำหนดให้วันที่ 12 พ.ย.ปีหน้าเป็นวันรำลึกแห่งชาติ และจะเริ่มดำเนินการยกเลิกสิ่งที่เป็นอนุสรณ์ต่าง ๆ อาทิ การเปลี่ยนชื่อถนน สถานที่สาธารณะ และการถอดถอนเกียรติยศที่เคยมอบให้แก่ผู้กระทำผิดที่มีหลักฐานชัดเจน โดยรัฐบาลจะหันมาให้เกียรติแก่เหยื่อแทน ซึ่งหลายรายถูกฝังในหลุมศพไร้ชื่อตามโรงพยาบาลจิตเวชและสถานสงเคราะห์ต่าง ๆ ทั่วนิวซีแลนด์

ร่างกฎหมายที่รวมมาตรการต่าง ๆ เพื่อยกระดับความปลอดภัยในสถานสงเคราะห์ของรัฐ จะเข้าสู่การพิจารณาวาระแรกในรัฐสภาในวันนี้

อนึ่ง การสอบสวนโดยคณะกรรมการไต่สวนหลวงครั้งนี้ถือเป็นการสอบสวนที่ยาวนานและซับซ้อนที่สุดในประวัติศาสตร์นิวซีแลนด์ โดยได้สัมภาษณ์ผู้รอดชีวิตจากการถูกทารุณกรรมมากกว่า 2,300 คน จากประชากรทั้งประเทศ 5.3 ล้านคน

การสอบสวนดังกล่าวได้เปิดเผยรายละเอียดการกระทำทารุณกรรมในสถานสงเคราะห์ของรัฐและองค์กรทางศาสนา ซึ่งรวมถึงการข่มขืน การบังคับทำหมัน และการทรมานด้วยไฟฟ้าช็อต โดยพบว่าการกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นสูงสุดในช่วงทศวรรษ 1970

รายงานระบุว่า ชนพื้นเมืองชาวเมารีและผู้พิการทั้งทางร่างกายและจิตใจเป็นกลุ่มเปราะบางที่ตกเป็นเหยื่อการทารุณกรรมมากที่สุด

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 พ.ย. 67)

Tags:
Back to Top