นางมนชญา รัชตกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารจัดการลงทุน บลจ.ดาโอ เปิดเผยว่า บริษัทจะเปิดเสนอขายกองทุนเปิด ดาโอ ไต้หวัน อิควิตี้ (DAOL-TAIWANEQ) วันที่ 14-20 พฤศจิกายน 2567 (ความเสี่ยงระดับ 6 : ความเสี่ยงสูง) ลงทุนตรงผ่าน iShares MSCI Taiwan ETF (EWT US) ซึ่งเป็น ETF บนตลาด NYSE ARCA ที่บริหารโดย BlackRock, Inc. บริษัทจัดการการลงทุนที่ใหญ่สุดในโลกและเป็นผู้นำในตลาด ETF มายาวนานกว่า 20 ปี กองทุนมีการลงทุนตามดัชนี MSCI Taiwan 25/50 ในกลุ่มหุ้นขนาดใหญ่และขนาดกลางหลากหลายกลุ่มธุรกิจตามการเติบโตของเศรษฐกิจไต้หวัน
รายชื่อหุ้นบริษัทชั้นนำที่ลงทุน
1.)TAIWAN SEMICONDUCTOR MANUFACTURING
2.)HON HAI PRECISION INDUSTRY LTD
3.)MEDIATEK INC
4.)FUBON FINANCIAL HOLDING LTD
5.)QUANTA COMPUTER INC
6.)DELTA ELECTRONICS INC
7.)CTBC FINANCIAL HOLDING LTD
8.)CATHAY FINANCIAL HOLDING LTD
9.)UNITED MICRO ELECTRONICS CORP
10.)ASE TECHNOLOGY HOLDING LTD
“ด้วยกลยุทธ์แบบ Full Replication เพื่อให้พอร์ตลงทุนออกมาใกล้เคียงกับดัชนีที่สุด ทำให้กองทุน iShares MSCI Taiwan ETF ทำผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี อยู่ที่ 36.51% ย้อนหลัง 3 ปีอยู่ที่ 5.87% ย้อนหลัง 5 ปีอยู่ที่ 16.36% และย้อนหลัง 10 ปีอยู่ที่ 11.19% (ข้อมูล BlackRock ณ วันที่ 30 กันยายน 2567)”
นางมนชญา กล่าวว่า เศรษฐกิจไต้หวันยังเติบโตได้ดี โดยธนาคารกลางไต้หวันคาดการณ์การเติบโตของ Real GDP ในปี 67 อยู่ที่ 3.82% เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน และคาดการณ์ปี 68 จะเติบโตที่ 3.08% ขณะที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัว (GDP per Capita) ของไต้หวันมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และคาดว่าจะแซงหน้าญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ภายในปีนี้
ปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจไต้หวัน จะมาจากการพัฒนาเทคโนโลยี AI ให้มีศักยภาพในการประมวลผลที่สูงขึ้น และการเติบโตอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ที่คาดว่า จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจาก 5.27 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2023 เป็นมากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2030 โดยมีการเติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ 5-6% ซึ่งไต้หวันมีส่วนแบ่งตลาดระดับโลกในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ด้านการผลิตชิป (Foundry) อยู่สูงถึง 78%, และมากกว่า 50% ในด้านการบรรจุและทดสอบชิป (IC Packaging and Testing) และมากกว่า 20% ในด้านการออกแบบชิป (IC Design)
นอกจากนี้ ไต้หวันยังมีการลงทุนเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดัคเตอร์มากกว่า 7.16 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและพัฒนาความสามารถในการประมวลผลของชิปให้สูงขึ้น โดยโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกก็เป็นบริษัทของไต้หวันนั้น คือ Taiwan Semiconductor Manufacturing Company Limited (TSMC) ผู้ผลิตชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์อันดับ 1 ของโลก และเป็นผู้นำตลาดด้านการผลิตชิปขั้นสูง โดยปัจจุบัน TSMC เป็นเพียงบริษัทเดียวของโลกที่สามารถผลิตชิปขนาดเล็กที่สุด 3 nm และยังมีแผนการพัฒนาที่จะผลิตชิป 2 nm ภายในปี 68 ซึ่งจะทำให้มีความสามารถในการทิ้งห่างคู่แข่ง และยากที่จะเลียนแบบได้
ไต้หวันยังมีบริษัทที่ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นที่ต้องการในกลุ่มอุปกรณ์สมาร์ทโฟน และคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ขณะที่เทรนด์ของเทคโนโลยี อย่างช่น Internet of Things ,5G , AI และรถยนต์ไฟฟ้า (EVs) จะยังคงสนับสนุนแนวโน้มการเติบโตนี้ต่อไป
ด้านภาคการส่งออกของไต้หวัน ยังคงมีความแข็งแกร่ง โดยชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์ไอที ยังเป็นสินค้าส่งออกหลัก ซึ่งกว่า 40% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด เป็นสินค้าเซมิคอนดักเตอร์ที่ไต้หวันส่งออกให้คู่ค้าหลักอย่างจีน สหรัฐอเมริกา และประเทศในกลุ่มอาเซียน ส่งผลบวกต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกในระยะยาว และส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจไต้หวัน
ด้วยเศรษฐกิจไต้หวันที่ยังมีความสามารถในเติบโตสนับสนุนให้ตลาดหุ้นไต้หวันมีผลการดำเนินงานที่โดดเด่น ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ดัชนี TWSE มีผลกำไรที่โดดเด่นถึง 35% แซงหน้าตลาดหุ้นหลักในเอเชียทั้งหมด และทำผลงานได้ดีกว่า S&P500 และ Nasdaq 100 ของสหรัฐฯ ในช่วงเวลาเดียวกัน
“ปัจจุบันราคาของตลาดหุ้นไต้หวันมีความน่าสนใจ ด้วย Forward PE ของตลาดไต้หวันอยู่ที่ระดับ 17 เท่า ถูกกว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ และอินเดีย ขณะที่กำไรปี 2024 และ 2025 มีแนวโน้มเติบโตดี จากเศรษฐกิจไต้หวันที่ได้แรงหนุนจากอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งคาดว่า จะเติบโตมากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2030 ‘กองทุนเปิด ดาโอ ไต้หวัน อิควิตี้’ จึงเป็นโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีจากการลงทุนที่เป็น Mega Trends ใน AI ซึ่งเป็นห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ ที่มีส่วนแบ่งการตลาดกว่า 90% ในชิปขั้นสูง” นางมนชญา กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 พ.ย. 67)
Tags: DAOL, DAOL-TAIWANEQ, ETF, กองทุนเปิด, มนชญา รัชตกุล, อุตสาหกรรม, ไต้หวัน