นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 5/2567 เพื่อเตรียมพร้อมรับมือฤดูแล้ง ปี 67/68 เนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงปลายฤดูฝน เข้าสู่ฤดูแล้ง โดยที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานตามมาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 67/68 และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ปี 68
โดยปัจจุบัน ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือเริ่มเข้าสู่ฤดูแล้งแล้ว จึงมอบหมายให้กรมชลประทาน และกรมส่งเสริมการเกษตร ประชาสัมพันธ์แผนการจัดสรรน้ำ และแผนการเพาะปลูกพืชในเขตชลประทาน พร้อมควบคุมการใช้น้ำและพื้นที่เพาะปลูก โดยเฉพาะในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา ให้เป็นไปตามแผนอย่างเคร่งครัด
สำหรับอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำมูลที่มีปริมาณน้ำน้อย ให้กรมชลประทาน สนับสนุนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคให้เพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้งนี้ พร้อมกันนี้ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อมการให้ความช่วยเหลือในพื้นที่คาดการณ์เสี่ยงขาดแคลนน้ำ และหากพื้นที่ดังกล่าวมีแนวโน้มเสี่ยงขาดแคลนน้ำมากขึ้น ให้แจ้งไปยังสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เพื่อบูรณาการหน่วยงานเก้ปัญหาอย่างทันท่วงที
รวมถึงให้หน่วยงานที่เสนอขอรับงบกลาง โครงการเพิ่มประสิทธิภาพฯ ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ปี 68 เร่งดำเนินการเตรียมความพร้อมของโครงการ เพื่อให้สามารถดำเนินการได้ทันทีเมื่อได้รับการจัดสรรงบประมาณ โดยได้กำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วางแผนบริหารจัดการน้ำตามมาตรการรองรับฤดูแล้งอย่างมีประสิทธิภาพ
นายประเสริฐ กล่าวว่า แม้ว่าขณะนี้ปริมาณฝนในหลายพื้นที่ของประเทศไทยจะเริ่มลดลงแล้ว แต่ยังคงมีประชาชนบางพื้นที่ ยังคงได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัย ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการฟื้นฟูให้กลับคืนสู่ภาวะปกติโดยเร็ว พร้อมกันนี้ ให้ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่ภาคใต้อย่างใกล้ชิด ซึ่งมีความเสี่ยงเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม จึงให้เตรียมความพร้อมรับมืออย่างเต็มที่
โดยได้เน้นย้ำเรื่องการประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ ให้ประชาชนรับทราบล่วงหน้า และเตรียมตัวได้ทันท่วงที เพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด โดยต้องมีการติดตามประเมินผล เพื่อปรับการบริหารจัดการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมสูงสุดด้วย นอกจากนี้ ต้องกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในระยะยาว เพื่อวางแผนการพัฒนาโครงการที่สามารถรองรับการป้องกันแก้ไขปัญหาอุทกภัยในทุกพื้นที่ทั่วประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
นายธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน กล่าวว่า ขณะนี้ได้เริ่มเข้าสู่ฤดูการส่งน้ำในช่วงฤดูแล้งแล้ว(เริ่ม 1 พ.ย. 67 – 30 เม.ย. 68) จึงขอให้เกษตรกรร่วมมือกันใช้น้ำตามแผนที่วางไว้ เพื่อลดเสี่ยงขาดแคลนน้ำที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต และเน้นย้ำให้ปฏิบัติตามาตรการรองรับฤดูแล้งปี 2567/68 ที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เห็นชอบ ด้วยการคาดการณ์และป้องกันพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ วางแผนจัดสรรน้ำและกำหนดพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้ง พร้อมบริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามลำดับความสำคัญ การใช้น้ำตามที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำเพื่อลดการสูญเสียน้ำในทุกภาคส่วน
รวมไปถึงการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำตลอดในช่วงฤดูแล้ง เสริมความเข้มแข็งด้านการบริหารจัดการน้ำให้ชุมชน ตลอดจนประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง
สำหรับในพื้นที่ภาคใต้ที่เริ่มเข้าสู่ฤดูฝน คาดว่าจะมีปริมาณฝนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง กรมชลประทาน ได้กำชับให้ทุกโครงการชลประทานในภาคใต้ ติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศ และสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมวางแผนบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ที่สำคัญให้หมั่นตรวจสอบอาคารชลประทานและระบบการระบายน้ำ ให้ใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
ตลอดจนเตรียมพร้อมเจ้าหน้าที่ เครื่องจักร เครื่องมือ เข้าไปประจำจุดเสี่ยง เพื่อให้สามารถเข้าไปแก้ไขสถานการณ์น้ำได้อย่างทันท่วงที หมั่นตรวจสอบ และกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการระบายน้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 พ.ย. 67)
Tags: กรมชลประทาน, การบริหารจัดการน้ำ, ประเสริฐ จันทรรวงทอง, ฤดูแล้ง