BAY มองกรอบบาทสัปดาห์นี้ 33.85-34.65 รอดูเงินเฟ้อสหรัฐฯ-นโยบายการค้า “ทรัมป์”

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (BAY) เผยมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 33.85-34.65 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 34.07 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายผันผวนในช่วง 33.59-34.46 บาท/ดอลลาร์ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 2 เดือน เงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา

ขณะที่ตลาดคาดการณ์ผลกระทบต่าง ๆ ที่อาจเกิดจากนโยบายของ “นายโดนัลด์ ทรัมป์” ซึ่งคว้าชัยชนะกลับมาเป็นผู้นำสหรัฐฯ อีกหน โดยปฏิกิริยาของตลาด สะท้อนการประเมินว่านโยบายต่าง ๆ จะส่งผลให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ และอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ สูงขึ้น และธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจไม่จำเป็นต้องลดดอกเบี้ยลงมาก นอกจากนี้ นักลงทุนกังวลอีกด้วยว่ามาตรการด้านศุลกากร จะฉุดรั้งการค้าโลก

ทางด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ เหวี่ยงตัวผันผวน โดยนักลงทุนรอดูแผนใช้จ่ายของทรัมป์ ซึ่งอาจทำให้ยอดขาดดุลงบประมาณสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอีก 7.5 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วง 10 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นและพันธบัตรไทยสุทธิ 3,641 ล้านบาท และ 24,489 ล้านบาท ตามลำดับ

สำหรับภาพรวมในสัปดาห์นี้ ผู้ร่วมตลาดจะยังคงชั่งน้ำหนักผลกระทบจากนโยบายด้านการค้าและการคลังของสหรัฐฯ ต่อไป เมื่อทรัมป์ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในช่วงต้นปีหน้า นอกจากนี้ ตลาดจะติดตามข้อมูลเงินเฟ้อ และยอดค้าปลีกเดือนตุลาคมของสหรัฐฯ อัตราผลตอบแทนพันธบัตร และราคาทองคำ รวมถึงความเห็นของเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินว่าจะมีการปรับเปลี่ยนแผนนโยบายการเงินภายใต้รัฐบาลชุดใหม่ในอีกหลายปีข้างหน้าหรือไม่

ทั้งนี้ เฟดลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 25bp สู่ระดับ 4.50-4.75% ในการประชุมรอบล่าสุด โดยประธานเฟดระบุว่า ผลการเลือกตั้งจะไม่กระทบการตัดสินใจด้านนโยบายของเฟดในอนาคตอันใกล้ ขณะที่เฟดจะประเมินข้อมูลเพื่อกำหนดดอกเบี้ย และมองว่าเงินเฟ้อกำลังลดลง สอดคล้องกับที่เฟดคาดการณ์ ส่วนภาคแรงงาน ในภาพรวมชะลอความร้อนแรงลง แต่ถือว่ายังแข็งแกร่งอยู่

อนึ่ง เราคาดว่าเงินดอลลาร์จะยังคงได้แรงหนุนในระยะสั้น ขณะที่ตลาดรอดูความชัดเจนเกี่ยวกับระดับความรุนแรงของสงครามการค้ารวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน ส่วนปัจจัยในประเทศ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนตุลาคมของไทย เพิ่มขึ้น 0.77% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่รวมอาหารสดและพลังงาน เพิ่มขึ้น 0.83% ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดว่าเงินเฟ้อทั่วไป จะอยู่ที่ 1.12% ในไตรมาสปัจจุบัน

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 พ.ย. 67)

Tags: , , , ,
Back to Top