เกาะติดประชุมเลือกประธานบอร์ดธปท.เช้านี้ ม็อบรวมพลค้านการเมืองแทรกแซง

คณะกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (บอร์ด ธปท.) นัดประชุมอีกครั้งในเช้าวันนี้ เพื่อลงมติคัดเลือกประธานบอร์ด ธปท. และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ อีก 2 คน หลังจากเลื่อนจากกำหนดเดิมเมื่อวันที่ 4 พ.ย. 67

โดยฝั่งกระทรวงการคลัง เสนอชื่อ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรมว.คลัง ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ขณะที่ฝั่งของ ธปท. เสนอชื่อ นายกุลิศ สมบัติศิริ อดีตปลัดกระทรวงพลังงงาน และนายสุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งรายชื่อที่เป็น “ตัวเต็ง” ในครั้งนี้ คือ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อันนำมาซึ่งข้อกังวลว่าการเมืองจะแทรกแซงการทำงานของ ธปท. จนเกิดกระแสคัดค้านตามมาอย่างต่อเนื่อง

สำหรับบรรยากาศที่บริเวณหน้าประตู ธปท. ฝั่งใต้สะพานพระราม 8 ช่วงสายวันนี้ มีกลุ่มมวลชน ซึ่งประกอบด้วย เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.), ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) และกองทัพธรรม เดินทางมารวมตัวกันตามนัดหมาย เพื่อยื่นรายชื่อประชาชนที่คัดค้านการเมืองแทรกแซง ธปท. อีก 51,980 รายชื่อ จากที่สัปดาห์ก่อนมายื่นไว้แล้ว 20,999 รายชื่อ โดยมี นายศรัณยกร อังคณากร ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์สื่อสารและความสัมพันธ์องค์กร ธปท. เป็นผู้รับมอบหนังสือ

พร้อมกันนี้ กองทัพธรรม คปท. และ ศปปส. ได้ออกแถลงการณ์ โดยระบุว่า มีความห่วงใยบ้านเมืองและผลประโยชน์ของประเทศชาติ ประชาชน ได้รวมพลังลงชื่อแสดงความคิดเห็นคัดค้านการเมืองแทรกแซง ธปท. เนื่องจากถ้ายอมให้ฝ่ายการเมืองแทรกแซง จะเป็นอันตรายยิ่งต่อการรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจไทย ทำลายความน่าเชื่อถือของธนาคารกลาง และทำลายหน่วยงานหลักทางเศรษฐกิจของประเทศให้อ่อนแอ จนไม่เหลือหน่วยงานที่จะทัดทานนโยบายเศรษฐกิจของฝ่ายการเมืองที่ไม่ถูกต้องได้

“บุคคลที่จะไปนั่งในตำแหน่งประธานกรรมการ และคณะกรรมการ ธปท. จึงต้องมือสะอาด ไม่มีประวัติด่างพร้อย และไม่ควรมีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับกลุ่มธุรกิจและฝ่ายการเมือง มิฉะนั้น จะเกิดกรณีแสวงหาประโยชน์มหาศาล จากนโยบายที่เป็นความลับของ ธปท. บนหายนะของประเทศ ดังที่เกิดขึ้นแล้วในอดีต”

แถลงการณ์ระบุ

ดังนั้น จึงขอเรียกร้องให้คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้พิจารณาคุณสมบัติที่เหมาะสมของกรรมการคัดเลือก และปฏิบัติหน้าที่คัดเลือก ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เที่ยงธรรม โปร่งใส และมีธรรมาภิบาล โดยไม่ยอมรับต่อแรงกดดันทางการเมือง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 พ.ย. 67)

Tags: , , , , ,
Back to Top