“พิพัฒน์” สั่งจับตาสถานการณ์แรงงานไทย เตรียมรับมือหลัง “ทรัมป์” ขึ้นแท่นผู้นำสหรัฐฯ

ภูมิพัฒน์ เหมือนจันทร์

นายภูมิพัฒน์ เหมือนจันทร์ โฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน สั่งการให้ปลัดกระทรวงแรงงานและผู้บริหาร ติดตามสถานการณ์ด้านแรงงานอย่างใกล้ชิด หลังนายโดนัล ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้ง และจะเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในช่วงต้นปีหน้า โดยพิจารณาว่าประเทศไทยจะได้รับผลกระทบอย่างไรในด้านการจ้างงาน ทั้งผลกระทบทางตรงและทางอ้อมที่เกี่ยวข้องกับนโยบายความมั่นคงและเศรษฐกิจของประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่

รวมทั้งจัดทำแผนรองรับสถานการณ์ที่บูรณาการทั้งระบบ ตั้งแต่การจ้างงาน การพัฒนาทักษะฝีมือ การชดเชยการเลิกจ้าง และสิทธิประโยชน์ของนายจ้างและลูกจ้าง ซึ่งจากการวิเคราะห์เบื้องต้นนโยบาย America First อาจกระทบต่อการส่งออกของไทย เพราะสินค้าไทยมียอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ เช่น ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ เซมิคอนดักเตอร์ ยางล้อ เครื่องปรับอากาศ และโซลาร์เซลล์ ที่อาจมีการเก็บภาษีสูงขึ้น หรือต้องการแรงงานทักษะสูง ซึ่งผู้ประกอบการและลูกจ้าง จะต้องเตรียมรับมือกับเรื่องนี้

โฆษกกกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ประเทศไทยอาจได้อานิสงส์บางส่วนจากการย้ายฐานการผลิต หรือการลงทุนโดยตรงกลุ่มการผลิตรถยนต์ และกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในไทยและอาเซียน ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการจ้างงานแรงงานไทย อย่างไรก็ตาม ค่ายรถยนต์ไฟฟ้าของจีนที่มาตั้งฐานการผลิตในไทย อาจได้รับผลกระทบและส่งผลต่อเนื่องถึงแรงงานไทย รวมทั้งผู้ผลิตสินค้าไทยในกลุ่มวัสดุก่อสร้างโดยเฉพาะเหล็ก เคมีภัณฑ์ สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม มีแนวโน้มต้องเผชิญการแข่งขันกับสินค้าจีนมากขึ้น เพราะจีนต้องหาตลาดส่งออกเพื่อระบายสินค้า

ซึ่งภาครัฐ โดยเฉพาะกระทรวงแรงงาน จะต้องเฝ้าติดตามผลกระทบต่อลูกจ้างแรงงานไทยด้วย ที่สำคัญไทยจะต้องเกาะติดเรื่องความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่เกี่ยวพันกับนโยบายความมั่นคงของสหรัฐฯ โดยหากสถานการณ์รุนแรงขึ้น ย่อมส่งผลต่อแรงงานไทยที่ไปทำงานในพื้นที่ดังกล่าว โดยเฉพาะในอิสราเอล ทำให้ภาครัฐอาจต้องประกาศชะลอให้แรงงานไทยเดินทางไปทำงาน เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้

“ในเร็ว ๆ นี้ รมว.แรงงาน จะได้พบหารือความร่วมมือด้านแรงงานกับเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ซึ่งจากข้อมูลพบว่ามีแรงงานไทยที่ทำงานอยู่ในสหรัฐอเมริกา 940 คน ส่วนใหญ่ทำงานในตำแหน่งพนักงานเสิร์ฟ พนักงานนวดสปา และบาร์เทนเดอร์ ส่วนแรงงานสัญชาติอเมริกันที่ได้รับอนุญาตทำงานในประเทศไทย มีประมาณ 6,600 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบวิชาชีพด้านการสอน รองลงมาคือ ผู้จัดการบริษัท เจ้าหน้าที่บริหารของหน่วยงานเอกชน” นายภูมิพัฒน์ กล่าว

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 พ.ย. 67)

Tags: , , ,
Back to Top