แหล่งข่าวจากบมจ.การบินไทย (THAI) เปิดเผยว่า การเลื่อนการประชุมเจ้าหนี้จากวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมาไปเป็นวันที่ 29 พ.ย.นี้ ไม่ได้กระทบต่อแผนการขายหุ้นเพิ่มทุนแต่อย่างใด และตารางเวลาการเสนอขายหุ้นต่อผู้ถือหุ้นเดิม พนักงานบริษัท และนักลงทุนเฉพาะเจาะจง(PP) ยังคงกำหนดการเดิมในเดือนธ.ค.นี้ และเป็นผลดีที่การกำหนดราคาขายหุ้นเพิ่มทุนยังเป็นอยู่กับผู้บริหารแผน 3 คนในปัจจุบัน คือนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ THAI นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร THAI และนายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ตัวแทนจากกระทรวงการคลัง เพราะหากให้มีการเพิ่มผู้บริหารแผนอีก 2 คนจากกระทรวงคลังและกระทรวงคมนาคมก็วิกตกว่าจะกดราคาขายหุ้นเพิ่มทุน
ทั้งนี้ ผู้บริหารแผนจะกำหนดราคาขายหุ้นก่อนวันประชุมเจ้าหนี้รอบใหม่ 29 พ.ย.นี้ ซึ่งราคาจะสูงกว่า 2.5452 บาท/หุ้นที่เป็นราคาแปลงหนี้เป็นทุน ขณะที่จะเปิดให้เจ้าหนี้สามารถแปลงหนี้เป็นทุนเพิ่มเติมตามความสมัครใจในวันที่ 19-21 พ.ย.
แหล่งข่าว กล่าวว่า แม้การกำหนดราคาขายหุ้นเพิ่มทุนจะไม่ถูกแทรกแซงจากกระทรวงคลัง แต่ก็กังวลเรื่องความไม่เชื่อมั่นของเจ้าหนี้ ผู้ถือหุ้นเดิมและนักลงทุนเฉพาะเจาะจง ซึ่งไม่มั่นใจหากการบินไทยจะกลับเข้ามาอยู่ในสถานะรัฐวิสาหกิจ หรือรัฐ หรือการเมืองเข้ามาแทรกแซงการทำงานของการบินไทย เพราะที่ผ่านมาก็เห็นแล้วว่า การเข้ามาแทรกแซงของนักการเมืองและรัฐทำให้ผลประกอบการมีปัญหา ซึ่งทำให้มีขาดทุนสะสมจำนวนมาก โดยเฉพาะกองทุนต่างประเทศ บริษัทต่างประเทศก็กังวลเรื่องธรรมาภิบาล (Good Governance)
ฉะนั้นก็อาจจะทำให้เจ้าหนี้แปลงหนี้เพิ่มเติมโดยสมัครใจลดลง และอาจจะขายหุ้นเพิ่มทุนไม่ได้ตามเป้าหมาย จะทำให้การระดมทุนที่บริษัทคาดหวังอาจจะต่ำลง ขณะที่บริษัทได้วางแผนลงทุนหลายโครงการ โดยเฉพาะแผนการจัดหาเครื่องบิน 10 ปี ที่จะขยายศักยภาพการบินไทยเพิ่มขึ้น โดยตั้งเป้าจะเพิ่มจำนวนเครื่องบินเป็น 150 ลำ
ทั้งนี้ ทั้งเจ้าหนี้ ผู้ถือหุ้นเดิม และนักลงทุนที่บริษัทได้เจรจาให้ร่วมทุน ต่างมั่นใจการบินไทยหลังจากที่เห็นผลประกอบการดีต่อเนื่อง และล่าสุด งบไตรมาส 3/67 บริษัทสามารถทำกำไรได้ถึง 1.25 หมื่นล้านบาท โต 711%จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และส่วนของผู้ถือหุ้น ณ มิ.ย.67 ติดลบลดลงมาที่ 27,941 ล้านบาทจาก 43,142 ล้านบาท ณ สิ้นธ.ค.66
ดังนั้น หากวันประชุมเจ้าหนี้ ในวันที่ 29 พ.ย. เจ้าหนี้ทุกรายควรมาร่วมลงคะแนน โดยวาระที่ 1-2 เป็นประโยชน์ต่อบริษัท แต่วาระที่ 3 ที่จะเพิ่มผู้บริหารแผนจากภาครัฐ 2 คน อาจจะแพ้โหวตได้หากเจ้าหนี้มาประชุมน้อย เพราะที่ประชุมจะไม่นับคะแนนเสียงที่ไม่ได้มาประชุม และลงคะแนนะเสียงไม่เห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาประชุมเท่านั้น ก็จะทำให้วาระที่ 3 ไม่ผ่าน เพราะเจ้าหนี้กระทรวงคลัง มีมูลหนี้เพียง 1.28 หมื่นล้านบาท จากหนี้ทั้งหมด 1.3 แสนล้านบาท ขณะที่เจ้าหนี้หุ้นกู้มีมูลหนี้มากสุด รองลงมาเป็นเจ้าหนี้สถาบันการเงิน
อนึ่ง วาระการพิจารณาในการประชุมเจ้าหนี้ ได้แก่
วาระที่ 1 พิจารณาลดมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (Par Value) เพื่อล้างผลขาดทุนสะสม
วาระที่ 2 พิจารณาชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟู โดยการบินไทยจะเสนอชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ก่อนกำหนด เป็นจำนวนเงินไม่น้อยกว่าจำนวนเงินปันผลที่จะมีการเสนอจ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้นในครั้งนั้น ๆ
วาระที่ 3 พิจารณาเพิ่มผู้บริหารแผนฟื้นฟู โดยกระทรวงการคลังจะพิจารณาแต่งตั้งผู้บริหารแผน 2 รายเพิ่มเติม ได้แก่ นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม และนายพลจักร นิ่มวัฒนา รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กระทรวงการคลัง
ทั้งนี้ ผู้ถือหุ้นใหญ่ก่อนปรับโครงสร้างทุน ได้แก่ กระทรวงคลัง 47.86% กองทุนวายุภักษ์หนึ่ง 17.08% ธนาคารออมสิน 2.13%
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 พ.ย. 67)
Tags: THAI, การบินไทย, หุ้นไทย