รัฐบาล เร่งตั้งคกก. JTC คุย MOU44 ไทย-กัมพูชา คาดเสร็จ 18 พ.ย.นี้

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงประเด็น MOU44 เกี่ยวกับพื้นที่อ้างสิทธิ์ระหว่างไทยกับกัมพูชาว่า การขีดเส้นของทั้งสองประเทศไม่เหมือนกัน จึงเกิด MOU 44 ขึ้นเพื่อเป็นการเจรจากันในความที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งตอนนี้รัฐบาลอยู่ในขั้นตอนการตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (Joint Technical Committee: JTC) ซึ่งคาดว่าจะเรียบร้อยหลังจากที่ตนกลับมาจากการประชุมเอเปคประมาณวันที่ 18 พ.ย. โดยไทยและกัมพูชาจะคุยกันทุกอย่างผ่านคณะกรรมการฯ

นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า MOU นี้ไม่ได้เป็นตัวชี้ว่าเป็นของฝ่ายไหน แต่เมื่อไม่เหมือนกัน ต้องพูดคุยกัน ถ้ามีข้อตกลงเพิ่มเติม จึงต้องตั้งคณะกรรมการคุยกันต่อและเมื่อขีดเส้นแบ่งเรียบร้อยแล้ว ค่อยนำเรื่องเข้าสภาฯ เพื่อให้ชัดเจนก่อนที่จะเจรจาผลประโยชน์ทับซ้อน เกี่ยวกับปิโตรเลียมและพลังงานใต้ทะเล

ส่วนกรณีทางพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จะนำเรื่องไปฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ รัฐบาลควรจะชะลอเรื่องนี้ก่อนหรือไม่ เพื่อไม่ให้มีผลผูกพันในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศตามมานั้น นายกฯ กล่าวว่า เราสามารถชะลอได้เลยแต่ที่ต้องเร่งในเรื่องเดียวคือการตั้งคณะกรรมการ ส่วนในเนื้อหาข้างในยังไม่ต้องเร่ง ซึ่งการตั้งคณะกรรมการให้เสร็จก็จะง่ายขึ้นทุกอย่างจะถูกตรวจสอบและพูดคุยกันทั้ง 2 ประเทศจะเกิดความเข้าใจขึ้น เพราะฉะนั้นข้อมูลที่ประชาชนอยากได้ก็จะครบถ้วนมากยิ่งขึ้น

“ลองคิดในกรอบง่าย ๆ สมมติว่าเราเป็นเพื่อนกันถ้าจะยกเลิกบางอย่างที่เราแชร์ร่วมกันมา ก็ต้องตกลงกัน โอเคว่าทำได้แต่ไม่ควรที่จะยกเลิกฝ่ายเดียว เพราะมันจะเกิดปัญหาระหว่างประเทศเช่นกัน เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการพูดคุยกันก่อนจึงต้องขอเวลาสักเล็กน้อยเพื่อจะคุยกันจริง ๆ ไม่มีปัญหาอะไรในเรื่องของรายละเอียดต่าง ๆ เพราะมีโอกาสได้เจอกับผู้นำกัมพูชาที่ไปประชุม GMS ที่ผ่านมาไม่มีอะไรเลย ซึ่งทางกัมพูชายังบอกเลยว่า มีอะไรให้กัมพูชาซัพพอร์ตประเทศไทยหรือไม่ ขอให้บอกมา ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องสื่อสารให้กับประชาชนเข้าใจมากกว่า ว่าเรายังไม่ได้เสียเปรียบอะไรจึงขอเน้นย้ำเรื่องนี้อีกรอบ และยืนยันว่าเรื่องเกาะกูดไม่มีปัญหาแน่นอน” นายกรัฐมนตรี ระบุ

ด้านนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวว่า MOU44 นี้ เป็นข้อที่ได้พูดคุยเพื่อให้ทุกคนเป็นข้อตกลงกันเรื่องการขยายไหล่ทวีปมาโดยไม่จำเป็นต้องเข้าสภาฯ แต่หากมีการตกลงกันเรียบร้อย หากจะต้องมีสนธิสัญญาจะต้องนำเรื่องเข้าสภาฯ อีกครั้ง อันนี้ถือเป็นความสมบูรณ์ในตัว เป็นข้อตกลงร่วมกัน เรื่องการประกาศเขตแดนของกัมพูชาเมื่อปี 2515 และของไทยประกาศปี 2516

ในการเจรจาทั้งหมดจะต้องอยู่ในกรอบนี้ เพราะถือว่ากรอบดังกล่าว ครอบคลุมทุกประเทศทั่วโลก เพราะฉะนั้นยังไม่มีปัญหาเรื่องนี้เลยซึ่งในสนธิสัญญานี้ได้พูดชัดเจนและได้แสดงออกชัดเจนว่า เป็นสนธิสัญญา เป็นข้อตกลงร่วมกันทั้งสองฝ่ายเพื่อจะเจรจา เรื่องเขตแดนโดยสันติ วัตถุประสงค์และเป้าหมายมีแค่นี้เอง หลังจากคุยกันแล้วถ้าได้ผลอะไรก็มาว่ากันอีกที ต้องรีบตั้งคณะกรรมการของเราก่อน ซึ่งทางกัมพูชามีคณะกรรมการอยู่แล้ว เมื่อตั้งเรียบร้อยก็จะเริ่มมีการเจรจากันซึ่งมี 2 ส่วนที่ผูกพันกันคือผลประโยชน์ทางทะเลและเขตแดนที่ชัดเจน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 พ.ย. 67)

Tags: , , ,
Back to Top