น้ำมัน WTI ปิดบวก 67 เซนต์ รับเฟดหั่นดอกเบี้ย-นลท.ประเมินนโยบายทรัมป์

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันพฤหัสบดี (7 พ.ย.) ขานรับธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 0.25% ขณะที่นักลงทุนยังคงประเมินว่านโยบายต่าง ๆ ของโดนัลด์ ทรัมป์ซึ่งได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะส่งผลต่ออุปทานน้ำมันอย่างไร

  • สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนธ.ค. เพิ่มขึ้น 67 เซนต์ หรือ 0.93% ปิดที่ 72.36 ดอลลาร์/บาร์เรล
  • สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนม.ค. เพิ่มขึ้น 71 เซนต์ หรือ 0.95% ปิดที่ 75.63 ดอลลาร์/บาร์เรล

ราคาน้ำมันดีดตัวขึ้น หลังจากคณะกรรมการเฟดมีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นลงอีก 0.25% สู่ระดับ 4.50-4.75% ในการประชุมเมื่อวานนี้ตามคาด ซึ่งเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 2 ในปีนี้ โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและอุปสงค์น้ำมัน

ราคาน้ำมันยังได้แรงหนุนหลังจากสำนักงานนิรภัยและการบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ (BSEE) รายงานว่า การผลิตน้ำมันในเขตกัลฟ์โคสต์ของสหรัฐฯ กว่า 22% หรือประมาณ 391,214 บาร์เรล/วันได้ถูกระงับ เพื่อรับมือกับผลกระทบจากพายุเฮอร์ริเคนราฟาเอล (Rafael)

นักลงทุนกำลังประเมินว่านโยบายต่าง ๆ ของทรัมป์จะส่งผลต่ออุปทานน้ำมันอย่างไร โดยแอนดรูว์ ลิโพว์ ประธานบริษัท Lipow Oil Associates แสดงความเห็นว่า คณะรัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การนำของทรัมป์อาจจะใช้มาตรการคว่ำบาตรที่เข้มงวดต่ออิหร่านและเวเนซุเอลา ซึ่งจะส่งผลให้อุปทานน้ำมันในตลาดปรับตัวลดลง โดยขณะนี้ตลาดกำลังประเมินว่านโยบายของทรัมป์จะออกมาเช่นไร

ด้านนักวิเคราะห์ของซิตี้กรุ๊ป (Citigroup) คาดการณ์ว่า การที่ทรัมป์กลับมาครองอำนาจในทำเนียบขาวเป็นสมัยที่สองอาจกดดันราคาน้ำมันไปจนถึงปี 2568 โดยคาดว่าราคาน้ำมันดิบเบรนท์จะอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 60 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากภาษีการค้าและการเพิ่มขึ้นของอุปทานน้ำมัน โดยนโยบายของทรัมป์อาจสนับสนุนอุตสาหกรรมน้ำมันผ่านการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในการลงทุนด้านการสำรวจและการผลิต และอาจยกเลิกการเพิ่มค่าภาคหลวงหรือค่าสัมปทานที่ใช้ในรัฐบาลของโจ ไบเดน

ซิตี้กรุ๊ประบุว่า อิทธิพลของทรัมป์ต่อกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส อาจส่งผลให้โอเปกพลัสทยอยยกเลิกการปรับลดการผลิตน้ำมันเร็วขึ้น และคาดว่านโยบายของทรัมป์อาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะในยุโรปและจีนที่เสี่ยงเผชิญกับภาษีการค้า ซึ่งอาจทำให้ความต้องการใช้น้ำมันในตลาดโลกลดลง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 พ.ย. 67)

Tags: , ,
Back to Top