นายกฯ ย้ำเวทีผู้นำ GMS มุ่งพัฒนานวัตกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ยึดหลัก 3Cs

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมอย่างไม่เป็นทางการ (Retreat Session) ในการประชุมระดับสุดยอดผู้นำ ครั้งที่ 8 แผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion: GMS) ณ Yunnan Haigeng Convention Center นครคุนหมิง มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ภายใต้หัวข้อ “การพัฒนาที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมของไทย” (Innovation-driven Development) โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวยกย่อง 4 ยอดสิ่งประดิษฐ์ (Four Great Inventions) ของจีน ได้แก่ เข็มทิศ ดินปืน กระดาษ และการพิมพ์ เป็นนวัตกรรมในการพัฒนามนุษย์และสร้างประโยชน์แก่มนุษยชาติในอดีตจนมาถึงการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ที่เทคโนโลยีจากโลกเสมือนจริง ผสมผสานกับโลกจริง รวมถึงการเกิดขึ้นของปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งหัวข้อหลักของการประชุมที่มุ่งพัฒนาด้วยนวัตกรรมเพื่อนำไปสู่การสร้างประชาคมที่ดีกว่าเดิมถือเป็นหัวใจหลักของแผนงาน GMS ตั้งแต่แรกเริ่ม

นายกรัฐมนตรีเสนอแนวทางการพัฒนาอนุภูมิภาคในการประชุมครั้งนี้ ด้วยหลักการ “นวัตกรรมที่ครอบคลุมและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” การประยุกต์ใช้นวัตกรรมที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพื่อสร้างสังคมที่มั่นคงและเท่าเทียม และสร้างโลกที่ยั่งยืนสำหรับทุกคน ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการพัฒนาของไทยในช่วงที่ผ่านมา ดังนี้

ประการแรก รัฐบาลไทยได้บูรณาการ และส่งเสริมนวัตกรรมในนโยบายและแผนพัฒนาประเทศในทุกระดับ โดยความพยายามสำคัญของรัฐบาลคือ การยกระดับการเกษตรแบบดั้งเดิม ให้เป็นเกษตรทันสมัย ผ่านแนวคิด “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” นำเทคโนโลยีมาพัฒนารูปแบบการทำเกษตร เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร และส่งเสริมราคาพืชผลทางการเกษตรให้มีเสถียรภาพ ยกระดับรายได้ของเกษตรกร

ประการที่สอง นวัตกรรมด้านการเงินของไทย ปัจจุบันประเทศไทยได้ประยุกต์การใช้เทคโนโลยียกระดับบริการทางการเงิน เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนและนักลงทุน อาทิ การพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเงินแบบไร้รอยต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ภายใต้โครงการ ASEAN Payment Connectivity ในการสร้างระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ ผ่าน QR Code เพื่อยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล มีการลดภาระค่าธรรมเนียมและค่าบริการทางการเงินที่ไม่จำเป็น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาคม GMS ในที่สุด

ประการสุดท้าย ไทยมุ่งมั่นสนับสนุนการวิจัยและพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง โดยเชื่อว่าเป็นพื้นฐานของการสร้างนวัตกรรมที่จะสร้างเศรษฐกิจและสังคมให้ดีขึ้นต่อไป รัฐบาลไทยได้สนับสนุนการวิจัยและพัฒนา ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน ผ่านมาตรการทั้งทางภาษีและที่ไม่ใช่ภาษี การพัฒนาทักษะบุคลากรให้เหมาะสมต่อการสร้างและใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมที่ทันสมัย รวมถึงสร้างระบบนิเวศในการพัฒนาประเทศที่เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ และครอบคลุมบนฐานของนวัตกรรม

นายกรัฐมนตรี ยืนยันความมุ่งมั่นของไทยที่จะร่วมเสริมสร้างการพัฒนาร่วมกันของประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงให้เป็นประชาคมที่เข้มแข็งและเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น ตามแผนงาน GMS คือ 3Cs ดังนี้

1) ไทยได้เร่งสร้างความเชื่อมโยง (Connectivity) ให้เป็นรากฐานของการบูรณาการระดับภูมิภาค ซึ่งมีความก้าวหน้าในการสร้างความเชื่อมโยงอย่างครอบคลุมทั้งภายในและระหว่างภูมิภาค อาทิ การเปิดให้บริการรถไฟระหว่างประเทศ เส้นทางกรุงเทพฯ-เวียงจันทน์, การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ที่ศรีราชา จังหวัดชลบุรี รวมทั้งแผนการก่อสร้างสนามบินล้านนาที่ภาคเหนือ และสนามบินอันดามันในภาคใต้ที่จังหวัดพังงา ใกล้กับจังหวัดภูเก็ต และยินดีที่ประเทศสมาชิกได้กลับมาดำเนินการตามความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงระยะแรก (GMS Cross-Border Transport Agreement: CBTA) หลังหยุดชะงักไปชั่วคราวจากสถานการณ์โควิด-19

2) จะส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness) โดยมุ่งเน้นการพัฒนาที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม สอดคล้องกับแนวทางของไทยที่ขับเคลื่อนไปสู่ยุคดิจิทัล ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน ปัจจุบันประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมไร้เงินสด โดยมีการใช้เงินในระบบดิจิทัล ระบบพร้อมเพย์ สำหรับการรับและโอนเงิน และการชำระผ่าน QR Code ข้ามพรมแดนอย่างแพร่หลายแล้ว โดยเชื่อว่าเทคโนโลยีทางการเงินนี้ควบคู่ไปกับการพัฒนาอุตสาหกรรมให้ทันสมัยจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่อำนวยต่อการสร้างนวัตกรรมใหม่ขึ้น

3) เสริมสร้างประชาคม (Community) ถือเป็นหัวใจสำคัญของ GMS ด้วยการสร้างความร่วมมืออย่างบูรณาการกับทุกภาคส่วน และขยายโครงข่ายการคุ้มครองทางสังคมให้ครอบคลุมประชาชนทุกคน ซึ่งไทยสนับสนุนยุทธศาสตร์ความเท่าเทียมทางเพศของกลุ่มประเทศ GMS ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาแบบครอบคลุมของไทย และให้ความสำคัญต่อเยาวชนผ่านการส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพและเท่าเทียม รวมทั้งการรักษาเสถียรภาพทางสังคม เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนในอนุภูมิภาคนี้

นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อผู้นำ 6 ประเทศและประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ว่า ประเทศไทยเชื่อมั่นว่า ยุทธศาสตร์นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ที่มีเป้าหมายในปี 2573 ซึ่งจะได้รับการรับรองในการประชุมครั้งนี้ จะทำให้มีการกำหนดแนวทางและประเด็นสำคัญในการดำเนินการ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถด้านนวัตกรรมของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ตลอดจนยืนยันความมุ่งมั่นและความพร้อมของไทยที่จะร่วมมือกับประเทศสมาชิกอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงในการพัฒนาด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านนวัตกรรม เพื่อสร้างความเป็นไปได้ใหม่ ๆ พร้อมยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ของประชาชนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงต่อไป

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ร่วมรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุม 2 ฉบับ ได้แก่ 1) ร่างแถลงการณ์ร่วมระดับผู้นำ 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 8 (Joint Summit Declaration) และ 2) ร่างยุทธศาสตร์นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง พ.ศ.2573 แผนงาน GMS (Greater Mekong Subregion Innovation Strategy for Development 2030)

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 พ.ย. 67)

Tags: , ,
Back to Top