ตลาดฯ เล็งทบทวนมาตรการกำกับฯให้ทันสถานการณ์หลังปีนี้ออกมากสุดในรอบ 50 ปี

นายรองรักษ์ พนาปวุฒิกุล รองผู้จัดการ ในฐานะโฆษกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในปี 2567 ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ออกมาตรการต่าง ๆ มากกว่า 10 มาตรการเพื่อกำกับดูแลการซื้อขายหลักทรัพย์ เพื่อยกระดับความเชื่อมั่นของนักลงทุน ซึ่งถือว่าปีนี้มีการออกมาตรการคุมเข้มมากที่สุดตั้งแต่ก่อตั้งตลาดหลักทรัพย์มา 50 ปี

อย่างไรก็ดี คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้มีการทบทวนมาตรการต่างๆ ที่ได้ออกไปในปีนี้ โดยฝ่ายจัดการรับโจทย์นำมาทบทวนแต่ละมาตรการถึงผลดีผลเสีย

โดยตลาดหลักทรัพย์ กำกับดูแลการซื้อขายให้เกิดความเป็นธรรม และมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย (Fair & Orderly)โดยหลีกเลี่ยงการแทรกแซงการซื้อขาย เพราะจะมีทั้งคนที่ได้ประโยชน์ และคนเสียประโยชน์ โดยย้ำว่าตลาดจะทำงานกำกับดูแลทุกมิติ

“ความซับซ้อนของตลาด ปัจจัยต่างๆที่มีผลกระทบตลาด ยาชนิดเดียวอาจใช้ไม่ได้ผล ก็อาจจะใช้ยาผสมผสานกัน” นายรองรักษ์ กล่าว

ล่าสุดที่ตลาดฯ เพิ่งประกาศและมีผลบังคับใช้เมื่อ 1 พ.ย.67 คือการเพิ่มบทระวางโทษสำหรับสมาชิกเข้มข้นขึ้น โดยทบทวนโทษปรับเป็นเงินให้สะท้อนตามความหนักเบาของการกระทำความผิดและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งเทียบเคียงได้กับอัตราระวางโทษปรับของตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ

โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่ม 1. การใช้ระบบส่งคำสั่งซื้อขาย การใช้ชุดคำสั่งคอมพิวเตอร์ สถานที่ติดตั้ง การต่อเชื่อมอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และบุคคลที่อาจะเข้าไปในสถานที่ดังกล่าว 2. การกำกับดูแลการซื้อขายผ่านระบบของสมาชิก 3. คุณสมบัติและหน้าที่ในการเป็นสมาชิก และ 4. การซื้อขาย

ทั้งนี้บทระวางโทษขึ้นกับระดับความผิด

ระดับน้อย ความผิดที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสมาชิกหรือผู้ลงทุนในระดับน้อย ปรับไม่น้อยกว่า 3,000 บาท ถึง 30,000 บาท เช่น ความผิดฐานไม่จัดส่งรายงานอื่นๆที่ไม่ใช่รายงานเหตุการณ์สำคัญตามเกณฑ์ที่กำหนด เป็นต้น

ระดับปานกลาง ความผิดที่อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมตลาดทุน สมาชิก หรือผู้ลงทุนในวงจำกัด ปรับ 1.5 แสนบาทถึง 1.5 ล้านบาท เช่น ความผิดฐานไม่จัดให้มีระบบควบคุมภายในที่เหมาะสม ความผิดฐานไม่ปฏิบัติตามเกณฑ์การขายชอร์ตที่ตลาดฯกำหนด เป็นต้น

ระดับรุนแรง ความผิดที่อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมตลาดทุน สมาชิก หรือผู้ลงทุนในวงกว้าง ปรับตั้งแต่ 3 ลบ.-10 ลบ. เช่น ความผิดฐานต่อเชื่อมระบบคำสั่งซื้อขายของสมาชิกไม่เป็นไปตามเกณฑ์ ความผิดฐาน False Market เป็นต้น

ระดับรุนแรงมาก ความผิดที่เป็นพฤติกรรมต้องห้าม (มีโทษตามกฎหมายหลักทรัพย์ และเป็นพฤติกรรมที่เป็นการเอาเปรียบผู้ลงทุนรายอื่น) ปรับไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท เช่น ความผิดฐาน Naked Short Selling เป็นต้น

“ตามกฎหมายเราลงโทษผู้ลงทุนไม่ได้ แต่ของเราลงโทษสมาชิก (โบรกเกอร์) ถ้าโบรกฯไม่ทำหน้าที่ เราได้ปรับการลงโทษให้เข้มข้นขึ้น”นายรองรักษ์ กล่าว

สำหรับมาตรการต่าง ๆ ที่ได้ออกใช้ในปี 67 ได้แก่

1.มาตรการการลดความผันผวนที่ผิดปกติของราคาหลักทรัพย์

– การทบทวนหลักทรัพย์ที่ Short Selling ได้

– การเพิ่ม Uptick ทุกหลักทรัพย์ เพื่อควบคุมผลกระทบจาก Short Sell

– เพิ่ม Circuit Breaker รายหุ้น (Dynamic Price Band) เฟส 1

– เพิ่มมาตรการ Auction หุ้นที่อยู่ในมาตรการกำกับการซื้อขายระดับ 2 ขึ้น

ตลาดฯเตรียมจัดให้มี Central Platform ในการ check หลักทรัพย์ก่อนขาย เพื่อป้องกันไม่ให้มีการส่งคำสั่งที่ไม่เหมาะสม อย่างไรก็ดีก็ดูสถานการรณ์ เพราะตลาดฯเองก็กลัวว่าจะกระทบ Sentiment ตลาด และการทำรายการเช็คหุ้นก่อนขายก็มีค่าใช้จ่าย ต้องมาพิจารณาว่าจะเป็นลักษณะขี้ช้างจับตั๊กแตนหรือไม่

2.มาตรการกำกับพฤติกรรมซื้อขายที่ไม่เหมาะสม

– กำหนดเวลาขั้นต่ำของ order ก่อนที่จะสามารถยกเลิกคำสั่ง (Minimum Resting Time)

– เปิดเผยข้อมูลผู้ลงทุนที่ส่งคำสั่งไม่เหมาะสม

ตลาดกำลังพิจารณาการขึ้น Auto Halt รายหุ้น และ ใช้ Central Order Screening โดยอยู่ระหว่างการกำหนดรายละเอียด

3.มาตรการเพิ่มความคุ้มครองนักลงทุน

– รายงาน Outstanding Short Position

– เพิ่มบทระวางโทษสมาชิกให้เข้มข้นขึ้น

– เปิดเผยข้อมูลการถือ NVDR

– ลงทะเบียนผู้ใช้ HFT (การส่งคำสั่งซื้อขายด้วยความถี่สูง)

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 พ.ย. 67)

Tags: , , ,
Back to Top