Power of The Act: สถานะทางกฎหมายของคาร์บอนเครดิตกับการพัฒนาตลาดคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย

หากผู้ใช้ไฟฟ้ารายหนึ่งลงทุนติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคาเพื่อผลิตไฟฟ้าสะอาดใช้เอง “ประโยชน์” ที่ผู้ลงทุนดังกล่าวจะได้รับนอกจากจะช่วยลดรายจ่ายจากค่าไฟฟ้ารายเดือนเนื่องจากไม่ต้องซื้อไฟฟ้าจากระบบจำหน่ายไฟฟ้าแล้ว

คุณค่าที่ผู้ลงทุนได้สร้างขึ้นยังได้รวมไปถึงการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอีกด้วยซึ่งการลดดังกล่าวนั้นสามารถวัดได้จากปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกรณีที่เป็นการดำเนินงานตามปกติ (Business-as-usual) เทียบกับในกรณีที่ยังไม่ได้มีการดำเนิน ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกลดกลงไปนี้อาจถูกแปลงให้กลายเป็นสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของบุคคลอื่น ในบทความนี้ ผู้เขียนตั้งประเด็นทางกฎหมายว่า การลงทุนลงแรงเพื่อช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจนก่อให้เกิดสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดหรือกักเก็บได้จากการดำเนินโครงการลดก๊าซเรือนกระจกนั้นจะกลายเป็นสิ่งที่มีการซื้อขายในตลาดได้หรือไม่ ความชัดเจนเกี่ยวกับสถานะทางกฎหมายของคาร์บอนเครดิตจะช่วยส่งเสริมการเกิดและพัฒนาของตลาดคาร์บอนในประเทศไทยหรือไม่

*การเกิดขึ้นของคาร์บอนเครดิต

เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2567 คณะกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (“TGO”) มีมติเห็นชอบรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program หรือ “T-VER”) โดยโครงการหนึ่งที่ได้รับการรับรองคือโครการติดตั้ง Solar Rooftop ณ พื้นที่ดอนเมือง โดย บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้รับการรับรองคาร์บอนเครดิต 321 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2eq)

คำถามคือการรับรองนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่ออะไร ? ประโยชน์ของคาร์บอนเครดิตคือการทำให้ผู้ซื้อเครดิตสามารถนำเอาปริมาณเครดิตที่ซื้อหรือรับโอน มา “ชดเชย” การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ตนได้สร้างขึ้นจากกระบวนการผลิตแล้ว เช่น เมื่อบริษัทผู้ผลิตปูนซีเมนต์ได้ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในการผลิตปูนซีเมนต์ บริษัทผู้ผลิตนี้จึงมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่บริษัทนี้ยังไม่อาจยุติการเผาเชื้อเพลิงได้ทั้งหมดในทันที มิฉะนั้นการประกอบการจะหยุดชะงัก บริษัทอาจพยายามสร้างประสิทธิภาพการใช้พลังงานโดยการเปลี่ยนเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นไบโอดีเซลหรือทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลด้วยขยะหรือชีวมวล อย่างไรก็ตาม ในช่วงการเปลี่ยนผ่านบริษัทยังไม่อาจลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้จนถึงเป้าหมายที่ต้องการหรือปริมาณที่กฎหมายกำหนด บริษัทผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเหล่านี้อาจซื้อ “คาร์บอนเครดิต” มาชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นแล้วได้ (ไม่ได้ย้อนเวลากลับไปทำให้ไม่มีการปล่อย แต่นำเอาปริมาณการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่บุคคลอื่นได้ลงมือทำมาชดเชยหักปริมาณการปล่อยที่เกิดขึ้น) ประโยชน์ที่ผู้ซื้อเครดิตจะได้จึงรวมไปการสนับสนุนเป้าหมายด้านความยั่งยืนของบริษัท การปฏิบัติตามกฎหมาย และอาจช่วยรักษาฐานลูกค้าที่ต้องการสินค้าที่ผลิตโดยกระบวนการที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยลง

การชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทำลงโดยบุคคลคนหนึ่ง และจะนำมาใช้ชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยบุคคลอีกคนหนึ่งนั้นจะถูกรับรองขึ้นโดยคนที่สามารถยืนยันได้ว่ามีการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างแท้จริง เช่น หากคาร์บอนเครดิตจะถูกใช้เพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 1 tCO2eq เครดิตนี้ก็จะต้องมี “ต้นทาง” ที่ถูกต้องคือมีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณที่จะถูกนำไปชดเชยให้ผู้ซื้อและใช้เครดิต

ในประเทศไทย คนรับรองดังกล่าวคือ TGO นั่นเอง โดยใช้มาตรฐาน สมมติฐาน กระบวนการ และวิธีอื่นๆ ที่นำมาประยุกต์ใช้เพื่อคำนวณหาปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกรณีของโครงการ จะเห็นได้ว่า TGO ทำหน้าที่เป็นหน่วยกำกับดูแลซึ่งรับรองการเกิดขึ้นของคาร์บอนเครดิตและรับรองความมีมูลค่าของตัวเครดิตแต่ตัว TGO เองมิได้เป็นเจ้าของตัวคาร์บอนเครดิตที่ถูกรับรองขึ้น

สถานะการเป็นทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

เมื่อถูกรับรองขึ้นแล้วคาร์บอนเครดิตมีสถานะทางกฎหมายอย่างไร ? เป็น ใน “สายตาของกฎหมาย” แล้วคาร์บอนเครดิตเป็น “ทรัพย์สิน” ที่เป็นเจ้าของ ถือเอาได้ ใช้ประโยชน์ได้หรือไม่ เป็น “สินค้า” ที่มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายจ่ายโอนไม่ว่าโดยตัวเจ้าของเครดิต นายหน้า หรือตัวแทนของเจ้าของเครดิตได้หรือไม่ หรือเป็น “สินทรัพย์” ที่อยู่ในกองทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่เจ้าหนี้จะยึดเพื่อบังคับคดีได้หรือไม่

คาร์บอนเครดิตเป็นสิ่งที่นำมาใช้ชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นหลักฐานที่แสดงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ผู้ซื้อจะนำมาใช้ชดเชยก๊าซเรือนกระจกที่ตนได้ปล่อย) ไม่ใช่วัตถุมีรูปร่าง จึงมิใช่ทรัพย์ตามมาตรา 137 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (“ปพพ.”)

อย่างไรก็ตาม คาร์บอนเครดิตนั้นเป็นสิ่งที่บุคคลได้มาจากการลงทุนลงแรงเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หลักฐานนี้เป็นสิ่งที่ถือเอาได้ หวงกันมิให้บุคคลอื่นแย่งเอาไปได้ และสามารถนำไปขายเพื่อรับค่าตอบแทนได้ ดังนั้น จึงเข้านิยามของ “ทรัพย์สิน” ตามมาตรา 138 แห่ง ปพพ. ซึ่งบัญญัติว่า “ทรัพย์สิน” หมายความรวมถึงทรัพย์และวัตถุไม่มีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้

ผู้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สร้างคาร์บอนเครดิตและได้รับการรับรองจาก TGO สามารถครอบครองคาร์บอนเครดิตของตนโดยการแสดงออกผ่านทางทะเบียนหรือบัญชีเจ้าของคาร์บอนเครดิต (ในฐานะผู้พัฒนาโครงการ) โดย TGO สามารถทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลทะเบียนหรือบัญชีดังกล่าว เพื่อดำเนินการให้แน่ใจว่าเมื่อการโอนและใช้คาร์บอนเครดิตแล้วคาร์บอนเครดิตที่ถูกใช้หรือไถ่ถอนไปแล้วจะไม่ถูกใช้ซ้ำได้อีก

ผู้ดำเนินโครงการที่เป็นเจ้าของคาร์บอนเครดิตที่ถูกรับรองขึ้นสามารถนำเอาทรัพย์สินนี้ไป “ขาย” ในตลาดคาร์บอน (Carbon Market) ซึ่งเป็นระบบหรือการบริหารจัดการเพื่อความต้องการคาร์บอนเครดิต (อุปสงค์) ได้รับการตอบสนองโดยการซื้อขายคาร์บอนเครดิต โดยมีทั้งตลาดทางการ (การซื้อขายภาคบังคับ) เช่น การซื้อขายที่ผู้ซื้อนำเอาเครดิตไปใช้เพื่อลดการปล่อยตามพันธกรณีตามพิธีสารเกียวโต และตลาดภาคสมัครใจ ซึ่งเป็นการที่ไม่ได้นำไปเพื่อปฏิบัติตามพันธกรณีของพิธีสารเกียวโต แต่เป็นไปเพื่อการบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนตามสมัครใจ ซึ่ง T-VER ของประเทศไทยจัดอยู่ในตลาดประเภทนี้

การซื้อขายและภาษีมูลค่าเพิ่มจากการขายคาร์บอนเครดิต

สินค้าจะเป็นที่ต้องการมากขึ้น หากเป็นสิ่งที่มีมูลค่าและใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ คาร์บอนเครดิตในฐานะสินค้าประเภทหนึ่งในตลาดคาร์บอนก็เช่นกัน เมื่อเป็นทรัพย์สินตาม ปพพ. จึงเท่ากับว่า ปพพ. รับรองให้คาร์บอนเครดิตถูกจำหน่ายจ่ายโอน ถูกส่งมอบ และใช้ประโยชน์ได้ กล่าวคือรับรองสถานะของผู้ซื้อและผู้ขาย เป็นฐานทางกฎหมายให้เกิดหนี้ต่างตอบแทนในการซื้อขายคาร์บอนเครดิต กล่าวคือ ผู้ซื้อมีหน้าที่ต้องชำระราคาตอบแทนการได้รับโอนคาร์บอนเครดิต ซึ่งการซื้อขายเกิดขึ้นได้ทั้งระหว่างเจ้าของโครงการกับผู้ซื้อคนแรก (ตลาดแรก) และการซื้อขายระหว่างผู้ซื้อคนแรกกับผู้ซื้ออื่นในทอดถัดมา (ตลาดรอง)

โดยมีข้อสังเกตว่าสัญญาซื้อขายคาร์บอนเครดิตนี้ไม่จำเป็นที่จะต้องมีลักษณะหรือเนื้อหาเช่นเดียวกันกับสัญญาซื้อขายสินค้าทั่วไปตามมาตรา 453 แห่ง ปพพ. ทุกประการ เนื่องจากคาร์บอนเครดิตมีลักษณะแตกต่างไปจากทรัพย์สินอื่น ๆ เช่น คาร์บอนเครดิตไม่อาจกำหนดจำนวนได้แน่นอน, ผู้ขายอาจยังไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ณ เวลาทำสัญญาซื้อขาย, ราคาคาร์บอนเครดิตอาจผันผวนไม่แน่นอน และการส่งมอบหรือโอนคาร์บอนเครดิตจะต้องมีการดำเนินการผ่านระบบทะเบียนซึ่งมีการตรวจสอบหรือรับรองการโอน

เมื่อเกิดการซื้อขายขึ้น คาร์บอนเครดิตจะกลายเป็นสินค้าที่ก่อให้เกิดภาระภาษีได้ ในประเด็นนี้ กรมสรรพากรได้ตอบข้อหารือตามหนังสือเลขที่ 0702/3026 ลงวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2561 เรื่องภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีการขายคาร์บอนเครดิต โดยกรมสรรพากรได้มีคำวินิจฉัยว่า คาร์บอนเครดิตที่ถูกรับรองตามมาตรฐาน T-VER เป็นทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่าง มีราคาและถือเอาได้ ไม่ว่าจะมีไว้เพื่อขาย เพื่อใช้ หรือเพื่อการใด ๆ อันเข้าลักษณะเป็นสินค้าตามมาตรา 77/1(9) แห่งประมวลรัษฎากร จึงอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 ตามมาตรา 77/2 และมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร โดยความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการจำหน่ายคาร์บอนเครดิตตามมาตรฐานภาคสมัครใจ เกิดขึ้นเมื่อได้รับชำระราคาสินค้า เว้นแต่กรณีได้มีการโอนกรรมสิทธิ์ในสินค้าหรือได้มีการออกใบกำกับภาษีก่อนได้รับชำระราคาแล้วแต่กรณี ตามมาตรา 78/3(1) แห่งประมวลรัษฎากร

เป็นพัสดุตามพระราชบัญญัติจัดซื้อจัดจ้างพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560

หากอุปสงค์คาร์บอนเครดิตเป็นของหน่วยงานรัฐ (เช่นรัฐวิสาหกิจที่ประกอบกิจการอาจเป็นเหตุให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก) คำถามคือ กฎหมายเปิดช่องให้หน่วยงานของรัฐ “ซื้อ” คาร์บอนเครดิตได้ย่อมมีส่วนช่วยให้ตลาดคาร์บอนถูกพัฒนาได้เนื่องจากการมีผู้ซื้อมากรายขึ้น โดยทั่วไปแล้ว การจัดซื้อของหน่วยงานของรัฐนั้นจะตกอยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 (“พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างพัสดุภาครัฐฯ”) ซึ่งได้ให้นิยามของการ “การจัดซื้อจัดจ้าง” เอาไว้ว่า “การดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งพัสดุโดยการซื้อ จ้าง เช่า แลกเปลี่ยน หรือโดยนิติกรรมอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง” ส่วน “พัสดุ” หมายความว่า สินค้า งานบริการ งานก่อสร้าง งานจ้างที่ปรึกษา และงานจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้าง รวมทั้งการดำเนินการอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง และได้ให้นิยามของ “สินค้า” เอาไว้ว่า วัสดุ ครุภัณฑ์ ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และทรัพย์สินอื่นใด รวมทั้งงานบริการที่รวมอยู่ในสินค้านั้นด้วย แต่มูลค่าของงานบริการต้องไม่สูงกว่ามูลค่าของสินค้านั้น

จากนิยามข้างต้น ผู้เขียนเห็นว่าคาร์บอนเครดิตซึ่งมีสถานะเป็นทรัพย์สินตาม ปพพ. และสามารถดำเนินการเพื่อได้มาตามสัญญาซื้อขายจึงเป็นสินค้าซึ่งเป็นพัสดุที่สามารถหน่วยงานของรัฐสามารถซื้อได้ตามพรบ. จัดซื้อจัดจ้างพัสดุภาครัฐฯ

เป็นทรัพย์สินที่นำไปเป็นหลักประกันทางธุรกิจได้

เมื่อรับโอนคาร์บอนเครดิตมาแล้วผู้รับโอน (ผู้ซื้อ) อาจใช้เพื่อชดเชยปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมที่ตนทำ ใช้แล้วหมดไปคือมีการไถ่ถอนเครดิตออกจากบัญชีเพื่อมิให้มีการใช้ซ้ำ (เทียบเคียงได้ว่าเมื่อไว้ใช้เงินในบัญชีแล้วเราก็จะต้องไม่สามารถใช้เงินจำนวนที่ใช้แล้วซ้ำอีกครั้ง) อย่างไรก็ตาม เจ้าของคาร์บอนเครดิต อาจยังไม่สามารถขายคาร์บอนเครดิตได้ทันที คำถามคือ เครดิตเหล่านี้ จะสามารถถูกใช้ประโยชน์ได้อย่างไรในรูปแบบอื่นใดได้อีกนอกจากจะขาย?

เจ้าของทรัพย์สินที่มีมูลค่า “ชิ้นหนึ่ง” อาจนำเอาทรัพย์สินชิ้นนั้นไปเป็นหลักประกันการชำระหนี้ของตนต่อเจ้าหนี้ได้ เช่น เอาแหวนเพชรไปส่งมอบไว้ให้อยู่ในความครอบครองของเจ้าหนี้ เพื่อประกันว่าจะชำระหนี้ หากลูกหนี้ผู้จำนำไม่ชำระหนี้หรือจำไม่ถูกต้องแล้วเจ้าหนี้สามารถริบหรือบังคับหลักประกันได้ หากเป็นสัญญาจำนำตามมาตรา 747 แห่ง ปพพ. การจำนำจะเกิดขึ้นเมื่อสังหาริมทรัพย์จำนำถูก “ส่งมอบ” ให้ผู้รับจำนำ อย่างไรก็ตาม คาร์บอนเครดิตเป็นสิ่งไม่มีรูปร่างและถูกรับรองเอาไว้ในระบบบัญชีคาร์บอนเครดิตจึงไม่อาจถูกส่งมอบให้กับผู้รับจำนำได้อย่างสังหาริมทรัพย์ทั่วไป

นอกเหนือจากการจำนำสังหาริมทรัพย์ตาม ปพพ. แล้ว ระบบกฎหมายไทยยังเปิดช่องให้มี “หลักประกันทางธุรกิจ” ซึ่งผู้ให้หลักประกันได้ตราทรัพย์สินไว้แก่ผู้รับหลักประกันเพื่อประกันการชำระหนี้ โดยไม่จำเป็นต้องส่งมอบทรัพย์สินนั้นแก่ผู้รับหลักประกันตามพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558 (พ.ร.บ. หลักประกันทางธุรกิจฯ”) มาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ. หลักประกันทางธุรกิจฯ บัญญัติว่าหลักประกันได้แก่ “ทรัพย์สิน” ดังต่อไปนี้ (1) กิจการ (2) สิทธิเรียกร้อง (3) สังหาริมทรัพย์ที่ผู้ให้หลักประกันใช้ในการประกอบธุรกิจ เช่น เครื่องจักร สินค้าคงค้าง หรือวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้า (4) อสังหาริมทรัพย์ในกรณีที่ผู้ให้หลักประกันประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยตรง (5) ทรัพย์สินทางปัญญา และ (6) ทรัพย์สินอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

จากลักษณะของหลักประกันข้างต้น ผู้เขียนเห็นว่าคาร์บอนเครดิตเป็นทรัพย์สินที่สามารถถูกกำหนดในกฎกระทรวงตาม พ.ร.บ. หลักประกันทางธุรกิจฯ ได้ และมีโอกาสที่จะถูกใช้เพื่อเป็นหลักประกันทางธุรกิจได้ และจะต้องมีการดำเนินการทางทะเบียนกับสำนักงานทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจต่อไป

เป็นทรัพย์สินที่ถูกยึดและบังคับคดีได้

หากเจ้าของคาร์บอนเครดิตซึ่งมีมูลค่า 1 ล้านบาท และขณะเดียวกันเป็นลูกหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงิน และตกเป็นลูกหนี้ผิดนัด จึงถูกพิพากษาให้ใช้เงินกู้คืนพร้อมกับดอกเบี้ย เจ้าหนี้จะสามารถได้รับชำระหนี้จากคาร์บอนเครดิตมาตีใช้หนี้ได้หรือไม่ ? มาตรา 214 แห่ง ปพพ. บัญญัติว่า ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งมาตรา 733 เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะให้ชำระหนี้ของตนจากทรัพย์สินของลูกหนี้จนสิ้นเชิง รวมทั้งเงินและทรัพย์สินอื่น ๆ ซึ่งบุคคลภายนอกค้างชำระแก่ลูกหนี้ด้วย จากข้อกฎหมายข้างต้น เมื่อคาร์บอนเครดิตนั้นมีสถานะเป็นทรัพย์สินตามมาตรา 138 แห่ง ปพพ. แล้ว คาร์บอนเครดิตจึงย่อมเป็นสิ่งที่เจ้าหนี้ยึดเพื่อชำระหนี้ของตนได้

โดยสรุป คาร์บอนเครดิตที่ TGO รับรองขึ้นตามมาตรฐาน T-VER นั้นมีสถานะเป็น “ทรัพย์สิน” ตาม ปพพ. ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าการระบุถึงสถานะดังกล่าวได้อย่างชัดเจนจะช่วยสร้างมูลค่าของคาร์บอนเครดิตและสนับสนุนการทำงานของตลาดคาร์บอน เนื่องจาก ปพพ. จะเป็นฐานทางกฎหมายที่รองรับการจำหน่ายจ่ายโอนและการใช้ประโยชน์ของตัวเครดิตได้ การจำหน่ายจ่ายโอนได้นั้นเป็นเงื่อนไขสำคัญของการปฏิสัมพันธ์ของผู้ซื้อและผู้ขายในตลาดคาร์บอน และเมื่อคาร์บอนเครดิตเป็นทรัพย์สิน ผู้เขียนจึงเห็นว่าคาร์บอนเครดิตเป็นสินค้าและเป็นพัสดุตาม พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างพัสดุภาครัฐฯ ได้เท่ากับว่าระบบกฎหมายเปิดช่องให้ลูกค้าในตลาดคาร์บอนสามารถรวมไปถึงหน่วยงานของรัฐได้ และการเป็นทรัพย์สินตาม ปพพ. ยังส่งผลให้คาร์บอนเครดิตมีมูลค่าเนื่องจากสามารถถูกใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจตาม พ.ร.บ. หลักประกันทางธุรกิจฯ (โดยต้องมีการดำเนินการเพิ่มเติมตามกฎหมาย) และยังสามารถถูกเจ้าหนี้บังคับชำระหนี้ในฐานะทรัพย์สินในกองทรัพย์สินของลูกหนี้ได้อีกด้วย

ผศ.ดร.ปิติ เอี่ยมจำรูญลาภ ผู้อำนวยการหลักสูตร LL.M. (Business Law)

หลักสูตรนานาชาติ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 พ.ย. 67)

Tags: , , , ,
Back to Top