CONSENSUS: BEM กำไร Q3/67 ทำ All Time High ผู้โดยสาร-ค่าโดยสารโต รอลุ้น Double Deck หนุน

โบรกเกอร์ประสานเสียงเชียร์ “ซื้อ” หุ้นบมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) คาดกำไรในไตรมาส 3/67 ทำ All Time High มาที่ 1.1 พันล้านบาท และผลักดันให้กำไรในปี 67 เพิ่มเป็น 3.7-3.8 พันล้านบาท ทำสถิติสูงสุดนับตั้งแต่เข้าตลาดหุ้น โดยในไตรมา 3/67 เห็นการเติบโตของจำนวนผู้โดยสารแตะ 4.4 แสนเที่ยว/วัน ขณะที่ปริมาณรถบนทางด่วนเติบโตเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน และบังได้รับอานิสงส์จากการปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารเมื่อก.ค.67

BEM ยังมีข่าวดีรออยู่ ทั้งการลงทุนก่อสร้างทางด่วนสองชั้น (Double Deck) 3.5 หมื่นล้านบาท ที่แลกกับการต่ออายุสัมปทานทางด่วนอีก 22 ปี 5 เดือนโดยคาดจะสรุปได้ไตรมาส 4/67 ถึงครึ่งแรกปี 68 และการเดินรถสายสีม่วงส่วนต่อขยาย ที่คาดว่าจะรู้ผลในปี 68

อย่างไรก็ดี ราคาหุ้น BEM ถูกดดันจากจากนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ที่รัฐจะซื้อคืนสัมปทาน โดยจะมีการจัดตั้งกองทุน ซึ่งมีแนวคิดจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติดมาเป็นรายได้ให้กองทุน แต่มองว่าปริมาณผู้ใช้ทางด่วนที่ลดลงจะทยอยถูกชดเชยจากผู้โดยสารรถไฟฟ้าที่สูงขึ้น

ราคาหุ้น BEM เมื่อเวลา 15.28 น. อยู่ที่ 7.90 บาท ลดลง 0.10 บาท (-1.25%)

นักวิเคราะห์จากบล.กสิกรไทย คาดว่า กำไรปกติในไตรมาส 3/67 ของ BEM อยู่ที่ 1,046 ล้านบาทสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยเติบโต 8%YoY และโต 4%QoQ เนื่องจาก Traffic ของรถไฟฟ้า MRT ดีขึ้น โดยจำนวนผู้โดยสารเติบโต 7% YoY และโต 11%QoQ มาที่ 4.38 แสนเที่ยว/วัน ขณะที่ปริมาณจราจรบนทางด่วน ทรงตัว YoY และโต 2%QoQ มาที่ 1.1 ล้านคัน/วัน

ในส่วนรถไฟฟ้า MRT นอกจากจำนวนผู้โดยสารเติบโตแล้วยังได้รับอานิสงส์จากการปรับอัตราค่าโดยสารขึ้นตั้งแต่ ก.ค.67 เฉลี่ย 1-2 บาท/เที่ยวตามเงื่อนไขสัมปทาน และในไตรมาส 3 นี้ ยังได้รับเงินปันผลจากบมจ.ทีทีดับบลิว (TTW) ส่วนบมจ.ซีเค พาวเวอร์ (CKP) ไม่ได้รับเงินปันผล

สำหรับงวด 9 เดือน คาดกำไรปกติอยู่ที่ 2.9 พันล้านบาท คิดเป็น 77% ของประมาณการกำไรปกติทั้งปี 2567

แนวโน้มในไตรมาส 4/67 กำไรปกติจะอ่อนตัวลง เพราะไม่มีเงินปันผลทั้งจาก TTW และ CKP มาที่ 867 ล้านบาท ลดลง 1%YoY และ ลดลง 17%QoQ

ทั้งนี้ กำไรปกติปี 67 คาดทำได้ 3,760 ล้านบาท เติบโต 8%YoY ถือเป็นกำไรสูงสุดตั้งแต่เข้าตลาดหุ้น

นักวิเคราะห์ กล่าวว่าภาพรวม Traffic รถไฟฟ้า MRT ยังเติบโตต่อเนื่อง โดยการเปิดเดินรถสายใหม่ทั้งสายสีชมพู และสายสีเหลือง ได้ช่วยส่งผู้โดยสารมาให้สายสีน้ำเงิน นอกจากนี้ โครงการอสังหาริมทรัพย์แนวรถไฟฟ้า MRT ทยอยเปิด อาทิ โครงการ One Bangkok โครงการ Dusit Central Park

อย่างไรก็ดี ราคาหุ้น BEM ไปไม่ได้ไกล แม้จะมีข่าวดีที่ได้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีส้ม แต่ระยะแรกสายใหม่ก็ย่อมขาดทุนซึ่งเป็นปกติของธุรกิจรถไฟฟ้า ขณะที่ P/E หุ้น BEM อยู่ที่ 30 เท่า ก็ถือว่าแพง นอกจากนี้ ยังมีประเด็น Politic Risk เกี่ยวกับนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย แต่ก็คาดว่าหากรัฐจะซื้อคืนสัมปทานก็ควรจะได้รับการชดเชยที่เหมาะสม (Fair Value) และมองว่าบริษัทจะไม่ต้องมารับความเสี่ยงเรื่องค่าโดยสาร

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ระบุว่า BEM ก็ยังประเด็นที่จะได้ดำเนินโครงการทางด่วน 2 ขั้น (Double Deck) โดยให้ราคาเพิ่มขึ้นมาอีก 1.58 บาท จากราคาเป้าหมาย 11.17 บาท

บล.ทิสโก้ ระบุในบทวิเคราะห์ คาด BEM จะรายงานกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ใน ไตรมาส 3/67 จากการเติบโตอย่างต่อเนื่องของจำนวนผู้โดยสาร และการเพิ่มขึ้นของค่าโดยสารเฉลี่ย โดยคาดกำไรสุทธิในไตรมาส 3/67 จะแตะระดับสูงสุดรายไตรมาสที่ 1.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% YoY และ 6% QoQ การเติบโตของกำไรที่คาดการณ์มาจาก 1) ประมาณการรายได้รวมเติบโต 4% YoY และ 8% QoQ สนับสนุนโดยรายได้ธุรกิจรถไฟฟ้าที่เติบโต 9% YoY และ 12% QoQ ทั้งจากจำนวนผู้โดยสาร (เฉลี่ย 437,684 เที่ยวต่อวัน +6.6% YoY +11.3% QoQ จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น และแนวโน้มนักท่องเที่ยวที่ดีขึ้น) และการเพิ่มขึ้นของค่าโดยสารเฉลี่ย 7% YoY และ 6% QoQ เป็น 29.1 บาท/เที่ยว จากการปรับขึ้นค่าโดยสารในเดือนกรกฎาคมและการยกเลิกโปรโมชั่นตั๋วเดินทางในเดือนสิงหาคม 2) คาดการณ์อัตรากำไรขั้นต้นขยายตัว YoY และ QoQ จาก 42.8% และ 42.4% เป็น 43.9% และ 3) ประมาณการค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารลดลง 3% QoQ เนื่องจากไม่มีค่าที่ปรึกษา

เราคาดว่าจำนวนผู้โดยสารจะเติบโตต่อในไตรมาส 4/67 จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นตามเส้นทาง แนวโน้มตามฤดูกาลของจำนวนนักท่องเที่ยว และการเปิดโครงการ One Bangkok อย่างไรก็ตาม กำไรในไตรมาส 4/67 ควรอ่อนตัวลง QoQ (แต่ยังเติบโต YoY) เนื่องจากไม่มีรายได้เงินปันผลจาก TTW

อย่างไรก็ตาม เรายังคงคาดว่ากำไรปกติทั้งปี 67 ของบริษัทจะแตะระดับสูงสุดใหม่ที่ 3.88 พันล้านบาท และเติบโตต่อเป็น 4.15 พันล้านบาทในปี 68 ขับเคลื่อนโดยการเติบโตของจำนวนผู้โดยสาร นอกจากนี้ เราคาดว่า BEM จะได้งาน M&E สำหรับสายสีม่วงและโครงการทางด่วนสองชั้น (แลกกับการต่อสัมปทาน 22 ปี 5 เดือน) ซึ่งจะเพิ่มมูลค่าให้บริษัทต่อไป ทั้งนี้การลงทุนในสายสีส้มและทางด่วนสองชั้นควรกระจายตลอดระยะเวลาก่อสร้าง และควรได้รับเงินทุนจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน และการกู้ยืมโดยไม่จำเป็นต้องระดมทุนที่จะทำให้เกิดการลดลงของมูลค่า

คงคำแนะนำ “ซื้อ” สำหรับ BEM โดยมูลค่าที่เหมาะสมเท่ากับ 12.00 บาท

เรายืนยันประมาณการและมูลค่ายุติธรรมที่ 12.00 บาท ตามวิธี SOTP (รวมสายสีส้มแล้วแต่ยังไม่รวมโครงการที่อาจเกิดขึ้น เช่น งาน M&E สำหรับสายสีม่วงใต้ และโครงการทางด่วนสองชั้น) โดยพิจารณาจาก 1) การเติบโตอย่างต่อเนื่องของจำนวนผู้โดยสาร 2) คาดการณ์การทำสถิติสูงสุดใหม่ทุกปี และ 3) โอกาสเติบโตจากงาน M&E ของรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้และโครงการทางด่วนสองชั้น ซึ่งควรจะสรุปได้ในปีนี้

ส่วนนโยบายรัฐบาลในการลดค่าทางด่วนและกำหนดค่าโดยสารรถไฟฟ้าแบบเหมาจ่าย 20 บาท เราเชื่อว่า BEM จะไม่ได้รับผลกระทบเชิงลบเนื่องจากบริษัทควรได้รับค่าชดเชยที่เหมาะสม นอกจากนี้ เรามองเชิงบวกต่อความเป็นไปได้ในการซื้อคืนสัมปทาน เนื่องจากบริษัทจะได้รับเงินสดล่วงหน้าที่สะท้อนมูลค่าในอนาคตของโครงการ พร้อมค่าธรรมเนียม O&M

บล.ดาโอ (ประเทศไทย) ระบุ BEM มีแนวโน้มกำไรไตรมาส 3/67 ทำสถิติสูงสุดใหม่ตามทิศทำง ridership โดยประเมินกำไรสุทธิที่ 1.1 พันล้านบาท (+10% YoY, +7% QoQ) ใกล้เคียงกับกรอบที่เราประเมินเบื้องต้น ขณะที่หากเทียบกำไร ปกติจะทำสถิติสูงสุดใหม่ แม้รายได้อื่นจะปรับตัวลงเนื่องจากไม่มีเงินปันผลจาก CKP แต่กำไรยังขยายตัวต่อเนื่อง อานิสงส์หลักจาก 1)ผู้โดยสารรถไฟฟ้าทาสถิติสูงสุดใหม่รายไตรมาสที่ 4.4 แสนเที่ยว/วัน (+7% YoY, +11% QoQ) จากการเข้าสู่ high season ของการเดินทาง ขณะที่ผู้ใช้ทางด่วนยังทรง ตัวที่ 1.1 ล้านเที่ยว/วัน (+0.4% YoY, +2% QoQ)

2) GPM อยู่ที่ 44.2% เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3/66 ที่ 42.8% และไตรมาส 2/67 ที่ 42.4% ตามทิศทางการขยายตัวของผู้ใช้บริการ และไม่มีค่าใช้จ่ายซ่อมบำรุงพิเศษ 3) SG&A/Sale อยู่ที่ 7.1% ทรงตัว YoY แต่อ่อนตัวจากไตรมาส 2/67 ที่ 7.9% โดยหลักจากฐานรายได้ธุรกิจ 4) รายได้อื่นลดลง -31% QoQ สาเหตุหลักจากรายได้เงินปันผลจาก CKP ที่โดยปกติจะบันทึกในไตรมาส 2 ของปีหลักสูงขึ้น

เราคงประมาณการกำไรสุทธิปี 67 ที่ 3.7 พันล้านบาท (+8% YoY) สำหรับไตรมาส 4/67 เบื้องต้นคาดการณ์กำไรสุทธิจะฟื้นต่อเนื่อง YoY แต่มีโอกาสกลับมาอ่อนตัว QoQ จากผู้ใช้บริการที่ชะลอจากผลกระทบวันหยุดยาวในช่วงสิ้นปี และไม่มีอานิสงส์จากเงินปันผล

ราคาหุ้น underperform SET -14% ใน 3 เดือน แต่กลับมา in line กับ SET ใน 1 เดือน แม้จะมี noiseจากนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาท โดยหนึ่งในแนวคิดคือการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด แต่เรา มองว่าปริมาณผู้ใช้ทางด่วนที่ลดลงจะทยอยถูกชดเชยจากผู้โดยสารรถไฟฟ้าที่สูงขึ้น ขณะที่เราเชื่อว่าการจัดตั้งกองทุนยังต้องใช้เวลาและในช่วง 1-2 ปีแรกของการเริ่มใช้นโยบายมีความเป็นไปได้สูงที่จะเป็นในรูปแบบของการชดเชยส่วนต่างค่าโดยสาร

นอกเหนือจากนี้ยังมี catalyst จากโครงการ Double Deck ที่จะได้ข้อสรุปใน ไตรมาส 4/67 ถึงช่วงครึ่งแรกปี 68 และการเริ่มเจรจาสัญญาเดินรถสายสีม่วงใต้ในปี 68

กระทรวงคมนาคมยังคงเป้าหมายนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายทุกเส้นทางภายใน ก.ย. 68 โดยแนวทาง สำคัญที่จะนำมาใช้คือการจัดตั้งกองทุนเพื่อซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้าจากเอกชนมาเป็นของรัฐ ซึ่งหนึ่งในแนวคิดของรายได้เข้ากองทุนคือการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด (Congestion charge) แม้การจัดเก็บรายได้ดังกล่าวอาจส่งผลต่อปริมาณผู้ใช้ทางด่วนลดลง แต่เราเชื่อว่าปัจจัยดังกล่าวจะทยอยถูกชดเชยจากปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าที่สูงขึ้น ขณะที่เรามองว่าการจัดตั้งกองทุนยังต้องใช้เวลาและ มีโอกาสที่ในช่วง 1-2 ปีแรกของการเริ่มใช้นโยบายจะเป็นในรูปแบบของการชดเชยส่วนต่างค่าโดยสารจากรัฐก่อน ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะเป็นบวกต่อผู้ประกอบการ

คงคำแนะนำ “ซื้อ” และราคาเป้าหมาย 11.40 บาท อิง SOTP ทั้งนี้เรามองว่า BEM ยังมี catalyst จากความคืบหน้าโครงการ Double Deck ในไตรมาส 4/67 ถึงครึ่งแรกปี 68 และการเริ่มเจรจาสัญญาเดินรถสายสีม่วงใต้ในปี 68

บล.เมย์แบงก์(ประเทศไทย) คงคำแนะนำ “ซื้อ” BEM และคงราคาเป้าหมายที่ 10.80 บาท เราชอบ BEM เนื่องจากการ เติบโตของกำไรที่สม่ำเสมอในระดับ 10% CAGR สำหรับปีงบ 67-68 และมีอัพไซด์จากสัมปทานการเก็บค่าผ่านทางเพิ่มอีก 22 ปี เพื่อแลกกับการก่อสร้างทางด่วน 2 ชั้นมูลค่า 3.5 หมื่นล้านบาท เราคาดว่ามูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) ของ BEM จะอยู่ที่ 1.3 หมื่นล้านบาทจาก ทางด่วนสองชั้น หรือเทียบเท่าอัพไซด์ 0.8 บาทต่อหุ้น นอกจากนี้ BEM ยังเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากแนวโน้มการลดลงของอัตราดอกเบี้ยเนื่องจากมีภาระหนี้สินสูงในส่วนของธุรกิจรถไฟฟ้าและทางด่วน ทั้งนี้ความเสี่ยงที่อาจทำให้การคาดการณ์ผิดพลาดของกำไรคือการฟื้นตัวของปริมาณจราจรที่ช้ากว่าคาดการณ์ โดยเฉพาะจากแนวโน้มการทำงานจากที่บ้าน

คาดกำไรไตรมาส 3/67 สูงเป็นประวัติกำรณ์ โดยคาดว่า BEM จะรายงานกำไรไตรมาส 3/67 สูงเป็นประวัติการณ์ที่ 1.1 พันล้านบาท (+10% YoY, +7% QoQ) ในวันที่ 13 พ.ย. 67 โดยการปรับขึ้นค่าโดยสารในเดือน ก.ค. 67 และการเติบโตของปริมาณจราจรในเครือข่ายจะช่วยหนุนการเติบโตของกำไร YoY ส่วนการเติบโต ของกำไร QoQ มาจากฐานปริมาณจราจรที่ต่ำใน ไตรมาส 2/67 เนื่องจากมีวันหยุดยาวหลายวัน

คาดว่ากำไรในไตรมาส 4/67 จะหดตัว QoQ เนื่องจากไม่มีการจ่ายเงินปันผลจาก TTW แต่ยังคง เติบโต YoY จากการปรับขึ้นค่าโดยสาร MRT และการเติบโตของจำนวนผู้โดยสาร

นโยบายค่าโดยสาร 20 บาทจะส่งผลดีต่อจำนวนผู้โดยสำร เราคาดว่าจำนวนผู้โดยสาร MRT จะเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 10% หาก รฟม. บังคับใช้นโยบายค่าโดยสารแบบเหมาจ่ายที่ 20 บาท/เที่ยวสำหรับทุกสาย ซึ่งรวมถึงสายสีน้ำเงินที่ BEM ดำเนินการและสายสีส้มที่กำลังก่อสร้าง (สายสีม่วงที่ BEM บริหารอยู่ภายใต้สัญญา O&M ได้เข้าร่วมในโครงการค่าโดยสาร 20 บาทตั้งแต่ ต.ค. 66)

อย่างไรก็ตาม เรามองว่าประมาณการกำไรปีงบ 68-69 จะไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก เนื่องจาก รฟม. น่าจะชดเชยรายได้ที่หายไปทั้งหมด หากรัฐบาลเลือกซื้อคืนสัมปทาน MRT ทั้งหมด เรามองว่าเป็นผลบวกหากการซื้อคืนจากรัฐมีมูลค่ามากกว่า 1.1 แสนล้านบาท โดยเราใช้การประเมินมูลค่า DCF สำหรับสายสีน้ำเงินและสายสีส้ม (ไม่รวมภาระหนี้โครงการ) ทั้งนี้ ทางรัฐบาลสามารถจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานและสร้างรายได้จากการเก็บค่าธรรมเนียมกับผู้ขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคลในถนนที่มี การจราจรคับคั่งเพื่อระดมทุนในการซื้อคืนสัมปทาน

BEM มีหนี้สินที่มีดอกเบี้ยรวม 7 หมื่นล้านบาท โดยมีภาระดอกเบี้ยที่ 2.3 พันล้านบาทในปีงบ 67 และอาจสูงถึง 3 พันล้านบาทต่อปีในปี 70 จากการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม เราคาดว่า BEM จะได้รับประโยชน์จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลาง โดย ณ ไตรมาส 3/67 สัดส่วนหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยลอยตัวอยู่ที่ 15% และส่วนที่เหลือเป็นแบบอัตราดอกเบี้ยคงที่

ทั้งนี้ สำหรับการลดอัตราดอกเบี้ยทุกๆ 10 bps เราประเมินว่ากำไรจะเพิ่มขึ้น 1.5% ในปีงบ 68-69 (จากอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงในกรณีพื้นฐานของเราที่ 3.4%)

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 พ.ย. 67)

Tags: , , , ,
Back to Top