ขุนคลัง ย้ำมาตรการกระตุ้นศก. โฟกัสระยะสั้นเป็นหลัก หวังเสริมสายป่าน

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวว่า แนวโน้มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย (GDP) ในปีนี้ที่คาดว่าจะขยายตัวที่ระดับ 2.7% นั้น ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีแล้ว เป็นการเติบโตกว่าปีที่ผ่านมาถึง 30% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัด และงบประมาณปี 2567 ที่ออกมาล่าช้า ซึ่งขณะนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างการพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยอาจจะเน้นไปที่มาตรการกระตุ้นในระยะสั้นเป็นหลัก เพื่อให้คนที่มีปัญหายังสามารถอยู่รอดได้ ส่วนมาตรการระยะปานกลาง และระยะยาวนั้น ก็ต้องพิจารณาควบคู่ไปด้วย เพื่อรักษาการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว

สำหรับมาตรการระยะปานกลาง และระยะยาวนั้น รัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องการเร่งลงทุนของภาครัฐ เพื่อรองรับการลงทุนใหม่ของภาคเอกชน เช่น โครงการลงทุนด้านโลจิสติกส์ และมาตรการที่จะทำให้ต้นทุนของภาคเอกชนอยู่ในขีดความสามารถที่จะแข่งขันได้ เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ได้เร่งดำเนินการแล้ว ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลได้ดำเนินการไปแล้วตามการแถลงนโยบายนั้น ต้องมาติดตามประเมินผลต่อไป ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น ก็ต้องมาพิจารณาให้สอดคล้องสถานการณ์ว่าควรปรับเปลี่ยน หรือต้องใส่อะไรเข้าไปเพิ่มเติม

“การกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่จำเป็นต้องมานั่งถามกันทุกอาทิตย์ รัฐบาลมีหน้าที่ดูว่า ตอนนี้แต่ละส่วนเดินไปถึงไหนแล้ว ส่วนสิ่งที่เราจะต้องกระตุ้น ในความหมายคือ ที่ผ่านส่วนไหนอ่อนแอ ก็จำเป็นต้องเข้าไปกระตุ้น ทำอะไรที่มันรวดเร็ว เพื่อให้คนที่อยู่สามารถฟื้นและแข็งแรงในการรองรับการเติบโตในระยะปานกลาง และระยะยาวต่อไป ดังนั้นจะเห็นว่าสิ่งที่รัฐบาลจะทำต่อจากนี้ จะต้องมาคุยกันว่ามาตรการระยะสั้นมีอะไร เราต้องดูสถานการณ์เศรษฐกิจด้วยว่าช่วงนี้เป็นอย่างไร แล้วค่อยมาพิจารณาปรับเปลี่ยนตามรูปแบบและสถานการณ์ โดยมาตรการระยะสั้นนั้น รัฐบาลมีความพร้อมแล้ว บางเรื่องก็สามารถทำได้ทันที” นายพิชัย กล่าว

ส่วนมาตรการแก้หนี้ครัวเรือน ที่ได้มีการหารือกับสมาคมธนาคารไทยในสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น จะต้องมีการหารือเพื่อหาข้อสรุปสุดท้ายอีกครั้ง โดยยอมรับว่าสถาบันการเงิน มีข้อเสนอให้มีการลดเงินนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) จากปัจจุบันที่ 0.46% ซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องมาคุยกันอีกที ซึ่งในส่วนของกระทรวงการคลังมองว่า ตราบใดที่สามารถแก้ปัญหาให้ประชาชนได้ ก็พร้อมที่จะพิจารณา

“รอเขาสรุป ค่อยมาขันน็อต ขันสกรูกันอีกที เรื่องที่แบงก์มีข้อเสนอให้ลดเงินนำส่ง FIDF นั้น ก็เป็นเรื่องที่อยู่ในทางเลือกด้วย ซึ่งจะต้องมาตกลงกันบนโต๊ะ เอามาคุยกัน ผมจัดการได้ ถ้าเราเห็นด้วย เมื่อสรุปแล้วก็เอาเรื่องนี้ไปเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)…ส่วนจะมีการหารืออีกเมื่อไรนั้น คงต้องรอข้อสรุปจากทุกส่วนก่อน ซึ่งผมไม่จำเป็นต้องนั่งโต๊ะประชุมด้วย ผมถามได้จากทุกฝ่าย และเรื่องนี้ต้องเร่งทำให้จบโดยเร็วที่สุด” รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ระบุ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 พ.ย. 67)

Tags: , , , , ,
Back to Top