จากการสำรวจและงานวิจัยในต่างประเทศ อาชีพทนายความหรือที่ปรึกษากฎหมายมักเป็นหนึ่งในอาชีพที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะถูก AI เข้ามาทำงานแทนที่ในไม่ช้านี้ แต่อย่างไรก็ตามผู้เขียนในฐานะประกอบอาชีพทนายความและที่ปรึกษากฎหมายในประเทศไทยเกิดความสงสัยว่าปัจจุบันนี้ AI ที่สามารถให้คำปรึกษากฎหมายไทยจะมีความสามารถเพียงใดในปัจจุบัน
ทั้งนี้ AI ที่สามารถให้คำปรึกษากฎหมายนั้นจะต้องถูกพัฒนาให้วิเคราะห์ข้อมูล ทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายอย่างถูกต้องและความรวดเร็วให้ทำงานคล้ายกับทนายความหรือที่ปรึกษากฎหมายที่เชี่ยวชาญกฎหมายหลายด้าน อีกทั้งยังต้องสามารถวิเคราะห์เอกสารหรือข้อมูลที่ซับซ้อนและแนะนำทางเลือกที่เหมาะสมแก่ผู้ใช้ ช่วยลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานทางกฎหมายได้มากกว่าการขอคำปรึกษากับทนายความหรือที่ปรึกษากฎหมายที่เป็นมนุษย์
ปัจจุบันผู้เขียนพบว่ามี AI ที่มีความสามารถให้ความเห็นทางกฎหมายของประเทศไทยออกมาให้บริการไม่มาก ผู้เขียนจึงทดลองทดสอบ AI บางเจ้าว่ามีความสามารถที่จะเข้าใจข้อเท็จจริงและให้ความเห็นที่ซับซ้อนได้เพียงใด จากการทดสอบการใช้งาน AI ที่ให้คำปรึกษาทางกฎหมายพบว่า AI อย่าง Smart Thai Lawyer ของ Senna Labs ทนายของ iApp Technologo ที่สามารถใช้งานผ่าน Line และ ROSS Intelligence ต่างแสดงประสิทธิภาพที่น่าประทับใจในการวิเคราะห์ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ คล้ายกับทนายความหรือที่ปรึกษากฎหมายที่เป็นมนุษย์
จากการศึกษาเพิ่มเติมผู้เขียนพบว่า Smart Thai Lawyer ของ Senna Labs มีความสามารถในการติดตามและวิเคราะห์กฎหมายใหม่ คำตัดสินของศาล และให้คำแนะนำและการวิเคราะห์คดีที่ครอบคลุม และสามารถใช้งานผ่าน ChatGPT ทำให้ใช้งานได้สะดวก รวดเร็ว และสามารถตอบคำถามที่มีความซับซ้อนได้ ข้อมูลที่ให้ถูกต้องและรอบด้าน
ในขณะเดียวกัน AI ของ iApp Technologo สามารถเข้าใช้งานได้สะดวก โดยใช้งานผ่าน Line ซึ่งทำให้การขอคำปรึกษาทางกฎหมายรวดเร็วและสะดวกขึ้นและผู้ใช้ทั่วไปคุ้นเคยกับระบบ Line อยู่แล้ว
ส่วน ROSS Intelligence เป็น AI ที่ถูกพัฒนามาเพื่อช่วยทนายความในการวิจัยกฎหมาย สามารถค้นหาคำตัดสินของศาลและข้อมูลกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้อย่างรวดเร็ว เพิ่มประสิทธิภาพในการวิจัยทางกฎหมายและช่วยให้ทนายค้นหาข้อมูลสำคัญได้ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น
ผู้เขียนในฐานะทนายความและที่ปรึกษากฎหมายเชื่อว่าในอนาคต AI จะสามารถเข้ามาแทนที่ที่ปรึกษากฎหมายในลักษณะการให้คำปรึกษาพื้นฐานได้อย่างแน่นอน แต่อย่างไรก็ตามหากข้อเท็จจริงมีความซับซ้อน และเกี่ยวข้องกับการใช้หรือตีความกฎหมายหลายฉบับ ความสามารถของ AI ในปัจจุบันนี้อาจจะไม่สามารถวิเคราะห์หรือตีความข้อกฎหมายได้เทียบเท่าทนายความหรือที่ปรึกษากฎหมายที่เป็นมนุษย์ ดังนั้นแล้วหากผู้อ่านใช้ AI เพื่อการทำงานที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายจากการตัดสินใจ เช่น AI ที่ปรึกษากฎหาย หรือ AI ที่ปรึกษาสุขภาพ ก็ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชานั้น ๆ ที่เป็นมนุษย์ด้วยอีกทางหนึ่ง
นายปรุงศักดิ์ เชาวน์ชาติ ทนายความหุ้นส่วนบริหาร กลุ่มสำนักงานกฎหมายอเบอร์
อนุญาโตตุลาการผู้เชี่ยวชาญด้านสินทรัพย์ดิจิทัล ประจำสถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 พ.ย. 67)
Tags: AI, SCOOP, ทนายความ, ที่ปรึกษากฎหมาย, ปรุงศักดิ์ เชาวน์ชาติ, ปัญญาประดิษฐ์, อาชีพ