นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) กล่าวว่า การประชุมร่วมระหว่างสมาคมธนาคารไทย กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เมื่อวันศุกร์ที่ 1 พ.ย. 67 ที่ผ่านมา เป็นการพูดคุยที่เน้นเรื่องมาตรการแก้หนี้ครัวเรือนเป็นหลัก ซึ่งมาตรการแก้หนี้ในครั้งนี้ จะเน้นไปที่ประเด็นของสินเชื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อรถยนต์ โที่ได้มีการพูดคุยกัน แต่ยังเหลือขั้นตอนสุดท้ายที่เป็นการหารือระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กับกระทรวงการคลังเพื่อสรุปผลมาตรการก่อนออกประกาศใช้
โดยภาครัฐมีความต้องการในการเร่งผลักดันมาตรการดังกล่าวให้สามารถใช้ได้ทันภายในปีนี้ ในส่วนของที่ภาคธนาคารพาณิชย์ มองว่าหากมาตรการดังกล่าวออกมาใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรมจะทำให้ระบบธนาคารตัดขายหนี้ออกให้กับบริษัทบริหารจัดการหนี้ต่างๆ (AMC) ในตลาดลดลง
สำหรับขั้นตอน และรายละเอียดต่างๆของโครงการ รวมถึงการดูแลในส่วนของรายได้ที่ธนาคารจะได้รับผลกระทบนั้น ทางธปท.และกระทรวงการคลัง จะเป็นผู้ดำเนินการต่อไป ซึ่งจะพยายามออกมาให้เร็วที่สุด เนื่องจากสถานการณ์หนี้ครัวเรือนในปัจจุบันถือว่าหนัก ดังนั้นเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายจะต้องเข้ามาช่วยกันเพื่อไม่ให้สถานการณ์แย่ลงไปกว่านี้
อย่างไรก็ตามความชัดเจนต่าง ๆ จะต้องรอทางประธานสมาคมธนาคารไทย และรมว.คลัง เป็นผู้ออกมาชี้แจงรายละเอียดอย่างเป็นทางการอีกครั้ง
“บรรยากาศการประชุมครั้งนี้เป็นไปได้ด้วยดี ซึ่งธนาคารทุกแห่งเห็นชอบกับมาตราการที่หารือพร้อมให้การสนับสนุน ซึ่งตอนนี้เมื่อหนี้มีปัญหามากขึ้น ธนาคารเองก็ต้องเข้มงวดในการปล่อยกู้ ทำให้วนกลับไปสู่ธุรกิจและ ระบบเศรษฐกิจก็ไม่มีเงินไปหมุนเวียนต่อ ซึ่งมั่นใจว่า เมื่อมีมาตรการนี้และมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่จะออกมา ก็จะช่วยให้ภาพรวมด้านต่าง ๆ ดีขึ้น” นายปิติ กล่าว
นอกจากนี้ยังมีการหารือเรื่องของการช่วยเหลือลูกหนี้ และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ไม่สามารถผ่อนชำระหนี้บ้าน และรถยนต์ได้ โดยมียอดค้างชำระไม่เกิน 360 วันนั้น มีหลักการใน 2 ประเด็น ได้แก่ การช่วยเหลือลูกค้าที่เป็นคนตัวเล็กที่ไม่มีกำลังจะผ่อนชำระสินเชื่อบ้าน และสินเชื่อรถได้ โดยลูกหนี้ที่เข้าโครงการจะได้พักชำระดอกเบี้ย และผ่อนชำระเงินต้นเท่านั้น ซึ่งหากสามารถทำได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ก็จะได้รับการยกเว้นดอกเบี้ยในส่วนที่พักไว้
ขณะที่อีกเรื่องยังต้องตระหนักว่าการเข้ามาตรการดังกล่าวจะมีผลกระทบส่วนหนึ่ง คือ จะต้องมีการหยุดก่อหนี้ระยะหนึ่ง หากไม่สามารถทำได้ ก็จะยุติการพักดอกเบี้ย กลับเข้าสู่สถานะการผิดนัดชำระหนี้ตามเดิม โดยมาตรการดังกล่าวคงจะเป็นมาตรการระยะยาวใช้ระยะเวลาประมาณ 3 ปี
สำหรับมาตรการที่เตรียมผลักดันออกมาหลัก ๆ แล้ว ต้องการช่วยคนตัวเล็กที่เป็นคนดี ที่ยังอยากจะสู้ แต่สู้ไม่ไหว เพราะปัญหาที่ลากยาวมาตั้งแต่โควิด-19 จนถึงปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบัน และการที่เลือกหนี้บ้านและรถยนต์ เพราะว่าธนาคารเองไม่อยากให้เกิดการยึดบ้าน หรือที่อยู่อาศัยใด ๆ ซึ่งบางส่วนก็เป็นสถานที่ประกอบการสำหรับเอสเอ็มอี รวมถึงการยึดรถยนต์ที่เป็นเครื่องมือประกอบอาชีพ เพราะหนี้กลุ่มนี้เป็นหนี้ที่เป็น NPL แล้ว ขั้นตอนต่อไปก็จะต้องโดนยึดบ้านหรือรถไป
“ต้องเข้าใจว่ามาตรการต่าง ๆ ก็มีผลข้างเคียง หากเราไม่จำกัดการก่อหนี้เพิ่ม ก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือนได้” นายปิติ กล่าว
รับสินเชื่อรถ-บ้านตก
นายฐากร ปิยะพันธ์ ผู้จัดการใหญ่ TTB กล่าวว่า ภาพรวมของสินเชื่อของธนาคารหลังจากที่ธนาคารได้มีการปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้ว ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจดีขึ้น และมีการลดดอกเบี้ย ทำให้ภาพรวมสินเชื่อปี 67 ยังมีการชะลอตัวอยู่บ้าง โดยสินเชื่อรถยนต์อาจลดลงมากถึง 15-20% เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนสินเชื่อบ้านอาจลดลงราว 7-8% แต่เริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้นจากการลดลงของลูกหนี้ที่มีปัญหา ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่องในช่วง 6-7 เดือนที่ผ่านมา และคาดว่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว
ขณะเดียวกันธนาคารได้มุ่งมั่นพัฒนาโซลูชันทางการเงินที่ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง นำ Data และ AI มาใช้ในการพัฒนาองค์กร โซลูชันทางการเงิน และการให้บริการ เพิ่มความสะดวกและปลอดภัยให้แก่ลูกค้า พร้อมทั้งขยายโอกาสทางธุรกิจให้กับธนาคาร โดยมีเป้าหมายก้าวสู่การเป็นธนาคารผู้นำด้านการสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีให้กับคนไทย โดยธนาคารได้วางโมเดล Digital Transformation นำ Data และ AI มาใช้ในการทำงานเพื่อยกระดับประสบการณ์การให้บริการลูกค้าในระดับเฉพาะบุคคล หรือ “Segment of One” โดยส่งมอบข้อเสนอ แจ้งเตือน และแนะนำข้อมูลที่เป็นประโยชน์ให้กับลูกค้าผ่าน Personalized Message มากกว่า 4 ล้านราย ผ่าน 18 ล้านข้อความต่อวัน บนแอป ttb touch ซึ่งนับเป็นจุดเด่นของโมบายแอปพลิเคชันของทีทีบี ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถกระตุ้นให้ลูกค้าสนใจผลิตภัณฑ์ที่ต้องการได้
นอกจากนี้ยังจะเดินหน้า Revenue Model Transformation สร้างการเติบโตของธุรกิจในรูปแบบ Ecosystem ไปพร้อมกับลูกค้า คู่ค้า และพันธมิตรทางธุรกิจ โดยได้เปิดตัวกลยุทธ์การสร้างการเติบโตในรูปแบบ Ecosystem Play เพื่อรองรับ 4 กลุ่มลูกค้าหลักที่ธนาคารมีความเชี่ยวชาญและมีฐานลูกค้าเป็นแต้มต่อ
สำหรับกลุ่มลูกค้าคนมีรถ ttb เป็นมากกว่าสินเชื่อรถยนต์ ธนาคารได้พัฒนาแพลตฟอร์ม Roddonjai.com ช่วยให้ลูกค้ามีทางเลือกที่สะดวก ง่าย และมั่นใจมากขึ้นในการซื้อ-ขายรถมือสอง ปัจจุบันมีจำนวนผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์มากกว่า 1.9 ล้านคน/เดือน มีรถยนต์บนแพลตฟอร์มให้เลือกมากกว่า 65,000 คัน โดยกว่า 50% ของรถยนต์ที่ขายได้มีการจัดสินเชื่อรถยนต์ ttb DRIVE
สำหรับลูกค้าที่ใช้งานแอป ttb touch สามารถบริหารจัดการเรื่องรถได้ง่ายๆ ผ่านฟีเจอร์ My Car ตั้งแต่สนใจอยากซื้อรถ ต่อประกันรถ พ.ร.บ. และ ภาษีรถ เติมเงิน-เช็กยอด Easy Pass จนถึงขายรถผ่านลานประมูล หรือผ่าน Roddonjai.com โดยมีลูกค้าให้ความสนใจเพิ่มข้อมูลรถยนต์เพื่อใช้บริการแล้วมากกว่า 800,000 คัน
สำหรับคนมีบ้าน ทีทีบี เป็นมากกว่าสินเชื่อบ้าน ด้วยฟีเจอร์ My Home บนแอป ttb touch ผู้ช่วยจัดการเรื่องบ้านแบบครบวงจร ปัจจุบันมีลูกค้าสนใจเพิ่มข้อมูลบ้านเพื่อใช้บริการฟีเจอร์นี้มากกว่า 580,000 หลัง สำหรับกลุ่มพนักงานเงินเดือน ttb เป็นมากกว่าบัญชีเงินเดือน ด้วย ttb payroll solution ที่ให้สิทธิพิเศษที่ตอบโจทย์และมากกว่าทั้งในส่วนของพนักงาน และนายจ้าง ทั้งโซลูชันทางการเงินที่ช่วยพนักงานพิชิตหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงโซลูชัน My Work ระบบบริหารงานบุคคลตอบโจทย์มืออาชีพ ทำให้ไตรมาส 3/67 จำนวนบริษัทที่ใช้บริการ ttb payroll solution เติบโตขึ้น ถึง 43% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า
ส่วนกลุ่มลูกค้า Wealth Ecosystem ทีทีบีสามารถขยายฐานลูกค้าและเพิ่มยอด AUM ได้อย่างต่อเนื่อง จากการมุ่งเน้นการนำเสนอบัญชีเงินตราต่างประเทศ (FCD) ในกลุ่มลูกค้า Wealth with Kids ทำให้มีการเปิดบัญชี FCD เพิ่มขึ้นกว่า 2,600 บัญชี มียอดเงินฝาก 4.12 พันล้านบาท และธนาคารยังคงมุ่งมั่นพัฒนาช่องทางและกระบวนการเพื่อยกระดับประสบการณ์การทำธุรกรรม (Channel & Process Transformation) โดยวันนี้ 92% ของปริมาณธุรกรรมทางการเงินของทีทีบีเกิดขึ้นบนช่องทางแอป ttb touch และได้เปิดตัวฟีเจอร์ My Credit เพื่อช่วยลูกค้าประเมินวงเงินสินเชื่อเบื้องต้น รู้ผลภายใน 2 นาที พร้อมยื่นขอสินเชื่อได้ทันทีผ่านแอป ttb touch ซึ่งภายในเวลาเพียงไม่กี่เดือน มีการเข้าชมฟีเจอร์นี้มากกว่า 152,000 ครั้ง และสมัครขอสินเชื่อแล้วกว่า 36,000 ราย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 พ.ย. 67)
Tags: TTB, ธนาคารทหารไทยธนชาต, ปิติ ตัณฑเกษม, สินเชื่อ, หนี้ครัวเรือน