นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า หลังจากได้บูรณาการการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ โดยมุ่งเน้นการจับออกจากแหล่งน้ำเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทั้งในภาคครัวเรือนและองค์กร อาทิ การทำน้ำหมักชีวภาพ การทำน้ำปลาร้า การทำปลาป่น ฯลฯ ซึ่งเป็นวิธีสร้างการรับรู้และกระตุ้นให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจับปลาหมอคางดำร่วมกับทางภาครัฐ อีกทั้งขณะนี้กรมประมงยังได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่จากเนื้อของปลาหมอคางดำ ได้แก่ ปลาหยอง ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีโปรตีนสูงและสามารถเก็บรักษาไว้ได้นาน รวมถึงยังสามารถพัฒนาต่อยอดไปเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทอื่น ๆ ได้
ในระยะต่อไปภายใต้แผนปฏิบัติการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำปี 2567-2570 กรมประมงจะเร่งต่อยอดคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อเป็นทางเลือกในการใช้ประโยชน์จากปลาหมอคางดำให้ได้มากที่สุด
ด้านนางพิชญา ชัยนาค ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ (กอส.) กรมประมง กล่าวว่า ปัจจุบันผู้บริโภคมีความต้องการบริโภคสินค้าเพื่อสุขภาพ ซึ่งสามารถบริโภคได้สะดวกรวดเร็ว และเก็บรักษาได้เป็นเวลานานแม้ไม่ได้แช่ในตู้เย็น กอส.จึงได้พัฒนาผลิตภัณฑ์จากเนื้อปลาหมอคางดำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ปลาหยอง และนำไปต่อยอดอีก 2 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ น้ำพริกปลาคั่วสมุนไพร และผงโรยข้าว
โดยขั้นตอนการทำปลาหยองนั้น จะนำปลาหมอคางดำมาลอกหนังออก และล้างเนื้อปลาด้วยน้ำเกลือ เพื่อกำจัดไขมัน เลือด และกลิ่นคาว และนำไปนึ่งให้สุก ยีเนื้อปลาให้แยกเป็นฝอย ปรุงรสด้วยซีอิ๊วขาว ซีอิ๊วดำ และน้ำตาลทราย คั่วด้วยไฟอ่อนจนแห้ง และนำไปอบให้แห้งด้วยตู้อบ ที่อุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส นาน 1 ชั่วโมง เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีกลิ่นหอมของเนื้อปลาและซีอิ๊ว ทิ้งไว้ให้เย็นบรรจุลงภาชนะแบบมีฝาปิด นอกจากนั้นยังสามารถนำผลิตภัณฑ์ปลาหยองไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์น้ำพริกปลาคั่วสมุนไพร โดยเติมวัตถุดิบ กระเทียม หอมแดง ใบมะกรูดหั่นฝอย คั่วจนมีกลิ่นหอม พร้อมรับประทาน และยังมีเมนูยอดนิยมสไตล์ญี่ปุ่น เช่น ผงโรยข้าว โดยใช้ปลาหยองหมอคางดำแทนเนื้อปลาแห้ง ผสมกับสาหร่าย งาขาว งาดำ ปรุงรส ตามต้องการ ซึ่งทั้ง 3 ผลิตภัณฑ์แปรรูปข้างต้น สามารถทำเพื่อบริโภคได้ในครัวเรือน หรือเพื่อจำหน่าย สร้างรายได้เสริมให้แก่ครัวเรือนและชุมชนต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 พ.ย. 67)
Tags: บัญชา สุขแก้ว, ปลาหมอคางดำ, ปลาหยอง, พิชญา ชัยนาค