ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ตรวจเข้มพบ “ผู้ลงทุน” ส่งคำสั่งซื้อขายหุ้นไม่เหมาะสมช่วง 2 เดือนครึ่งจำนวน 36 ราย โบรกเกอร์รับลูกด้วยการตัดวงเงิน-ปิดบัญชี เพื่อตัดไฟแต่ต้นลมก่อนเป็นการปั่นหุ้น
มิติของการทำงานของหน่วยงานกำกับและดูแลตลาดทุนของฝั่งตลาดหลักทรัพย์ฯ ในช่วงที่ตลาดหุ้นมีความคึกคัก โดยเฉพาะการตรวจสอบความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นที่มีความผิดปกติยังคงมีอยู่ และเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ อย่างต่อเนื่อง
หากดูในช่วงเดือนกรกฎาคม-ตุลาคม 2567 ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ส่งข้อมูลของ “ผู้ลงทุน” ที่ส่งคำสั่งการซื้อขายที่ไม่เหมาะสม จำนวน 36 ราย ให้กับบรรดาโบรกเกอร์สมาชิกทุกราย โดยมีประเภทคำสั่งที่ไม่เหมาะสม อาทิ
- จับคู่ซื้อขายกันเอง
- เจตนาผลักดันราคาหุ้น
- ซื้อขายหุ้นในลักษณะ ชี้นำราคาหุ้น
- ทำราคาซื้อขายตอน เปิด-ปิด
- พยุงราคาหุ้นในลักษณะที่ผิดปกติ
แม้ลักษณะดังกล่าว ยังไม่เข้าองค์ประกอบความผิดฐานปั่นหุ้น ตามพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ แต่เป็นการ “ตัดไฟตั้งแต่ต้นลม” เนื่องจากถ้ารอให้เข้าองค์ประกอบฐานความผิดปั่นหุ้น ความเสียหายก็จะเกิดขึ้นกับผู้ลงทุนรายอื่น ฉะนั้น จึงต้องมีการเข้าไปเบรกการส่งคำสั่งซื้อขายหุ้นที่ไม่เหมาะสมก่อน
โดยทางโบรกเกอร์ใด หากนิ่งดูดาย หรือกังวลว่าจะเสียลูกค้า ก็จะมีความผิดฐานสนับสนุน ถ้าหากการส่งคำสั่งนั้นผ่านเจ้าหน้าที่การตลาด (Marketing)
แต่ถ้าหากในกรณีที่ “ผู้ลงทุน” ส่งคำสั่งซื้อขายหุ้นเอง ความผิดก็จะบังเกิดที่ตัว “คนส่งคำสั่ง” ซึ่งทางโบรกเกอร์ไม่เกี่ยว
ทั้งนี้ หากทางโบรกเกอร์ที่มี “ผู้ลงทุน” ที่มีลักษณะการส่งคำสั่งที่ผิดปกติ ตามกฎระเบียบของแต่ละโบรกเกอร์ จะมีตั้งแต่ การตักเตือนด้วยวาจา , ตักเตือนด้วยจดหมาย
หากยังฝ่าฝืนและกระทำการดังกล่าวต่อไป ก็จะใช้วิธีการลดวงเงิน จากเบาไปหาหนัก ตั้งแต่ 20% ขึ้นไป
ทั้งนี้ หากตรวจสอบได้ว่า “ผู้ลงทุน” มีบุคคลคนอื่นร่วมกระทำผิด หรือเป็นกลุ่มเดียวกัน ก็จะตัดวงเงินให้เหลือศูนย์ และที่หนักที่สุดคือ ให้ปิดบัญชีไปเลย
ลักษณะบทลงโทษดังกล่าว จะเป็นเพียงมาตรการของบางโบรกเกอร์เท่านั้น เพราะไม่ต้องการให้เป็นที่เพ่งเล็งจากตลาดหลักทรัพย์ฯ และยิ่งถ้ามีความผิด หัวหน้าสายโต๊ะนั้นก็อาจจะถูกลงโทษ เว้นวรรคการทำงาน 1-2 ปี ตามมูลฐานความผิดที่เป็นผู้สนับสนุนหรือ ส่งเสริมให้ “ลูกค้า” ของตนเองกระทำความผิด
การเปิดเผยข้อมูลผู้ลงทุนที่มีพฤติกรรมการส่งคำสั่งซื้อขายที่ไม่เหมาะสมนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเปิดเผยข้อมูลผู้ลงทุนที่มีพฤติกรรมการส่งคำสั่งซื้อขายที่ไม่เหมาะสมให้แก่บริษัทสมาชิกทุกรายทราบ เพื่อให้บริษัทสมาชิกสามารถกำกับดูแลผู้ลงทุนกลุ่มดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
มาตรการข้างต้นจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2567 เป็นต้นไป
โดยคำสั่งที่ไม่เหมาะสมเหล่านี้ ยังไม่ถึงขั้นผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ แต่เป็นมาตรการป้องปราม แต่เพื่อให้บรรดาโบรกเกอร์ ไปกำกับและดูแลลูกค้าของตน เพื่อไม่ให้ลุกลามกลายเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ และใช้เป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาของ “ผู้ลงทุน” ที่สั่งคำสั่งไม่เหมาะสม ของทางโบรกเกอร์
ส่วนผลงานที่ผ่านมา ช่วงครึ่งปีแรก (มกราคม-มิถุนายน 2567) ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ลงโทษดำเนินการทางวินัยกับทางบริษัทหลักทรัพย์ ลิเบอเรเตอร์ จำกัด ในการใช้ระบบส่งคำสั่งซื้อขายของบริษัทที่เชื่อมต่อกับระบบการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ รวมถึงการที่บริษัทไม่ได้จัดเก็บบันทึกการทำงานของระบบส่งคำสั่งซื้อขายของสมาชิก(Broker Front Office) ตามที่ตลาดฯกำหนด โดย 2 ข้อของการกระทำความผิดดังกล่าว ถูกปรับเงิน 5 แสนบาท
หลังจากนั้น วันที่ 27 กันยายน 2567 ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ดำเนินการทางวินัยกับ บริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทย เอ็กซ์สปริง จำกัด หลังการส่งคำสั่งซื้อขายของบริษัทที่เชื่อมต่อกับระบบของตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ และฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนด ปรับ 250,000 บาท
สิ่งเหล่านี้ คือ ส่วนหนึ่งของการทำงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ป้องปรามไม่ให้ “เกิดความเหลื่อมล้ำ” หรือมีความได้เปรียบ ในการส่งคำสั่งของโบรกเกอร์ รวมถึงการตัดตอนไม่ให้เกิดลุกลามไปเป็น “การปั่นหุ้น” ที่จะสร้างความเสียหายต่อผู้ลงทุนในวงกว้างอีกด้วย
ธิติ ภัทรยลรดี
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ต.ค. 67)
Tags: SCOOP, ตลท., ผู้ลงทุน, มองมุมต่าง, โบรกเกอร์