“โรงพยาบาลนครธน” จ่อเข้า SET ขาย IPO หาทุนขยายธุรกิจรับโอกาสเติบโตต่อเนื่องตามเทรนด์โลก

รองศาสตราจารย์ ญาณเดช ทองสิมา ประธานกรรมการบริษัท บมจ.โรงพยาบาลนครธน เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างเดินหน้าเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เพื่อเพิ่มศักยภาพธุรกิจและฐานเงินทุน หลังจากได้ยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (Filing) เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ไม่เกิน 135,000,000 หุ้น คิดเป็นไม่เกิน 25.23% ของหุ้นทั้งหมดหลัง IPO

โดยเบื้องต้นจะนำเงินระดมทุนไปใช้ลงทุนโครงการโรงพยาบาลนครธน 2 โครงการนครธน ลองไลฟ์ เซ็นเตอร์ (Nakornthon Long Life Center) โครงการขยายจำนวนเตียงให้บริการของโรงพยาบาลนครธน ชำระคืนเงินกู้แก่สถาบันการเงิน และเป็นเงินทุนหมุนเวียนการดำเนินธุรกิจ

สำหรับภาพรวมธุรกิจให้บริการทางการแพทย์ในประเทศไทยมีแนวโน้มเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง จากการที่คนไทยมีโอกาสเพิ่มการใช้จ่ายเพื่อการดูแลสุขภาพมากขึ้น เนื่องจากค่าใช้จ่ายเพื่อการดูแลสุขภาพของประเทศไทยในปี 2564 เฉลี่ยอยู่ที่ 364 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี ซึ่งต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ทั่วโลกที่มีค่าเฉลี่ย 1,384 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี และประเทศในกลุ่มอาเซียนที่มีค่าเฉลี่ย 631 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี รวมถึงต่ำกว่าประเทศพัฒนาแล้ว ได้แก่ สหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร, ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ที่มีค่าเฉลี่ยสูงถึง 7,288 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี

อีกทั้งยังมีปัจจัยบวกจากการเติบโตของธุรกิจประกันสุขภาพ โดยภาพรวมค่าเบี้ยประกันสุขภาพและค่าเบี้ยประกันชีวิตที่มีสัญญาสุขภาพเพิ่มขึ้นจาก 78,451.31 ล้านบาทในปี 2561 เป็น 115,609.96 ล้านบาทในปี 2566 รวมถึงปัจจัยบวกจากสัดส่วนผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย โดยคาดว่าสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป (กลุ่มผู้สูงอายุ) จะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 31.37% ของประชากรทั้งหมดภายในปี 2583 จากสิ้นปี 2566 ที่มีสัดส่วนประมาณ 20% ของประชากรทั้งหมด

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยบวกอื่นๆ ที่ส่งผลดีต่อโอกาสเติบโตของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน เช่น การขยายตัวของชุมชนเมืองอาจส่งผลให้โอกาสขยายบริการทางการแพทย์เพื่อรองรับผู้ป่วยเพิ่มขึ้น, การเติบโตของกลุ่มชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อและต้องการความสะดวกในการรักษาพยาบาล, การเจ็บป่วยจากจำนวนโรคเฝ้าระวัง โรคอุบัติซ้ำ และโรคอุบัติใหม่ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลต่ออัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากโรคติดต่อไม่ร้ายแรงที่สูงขึ้น ฯลฯ

จากปัจจัยบวกต่อธุรกิจให้บริการทางการแพทย์ และโอกาสเติบโตของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในประเทศไทย โดยเฉพาะการขยายตัวของชุมชนเมืองในย่านพระราม 2 ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลนครธน บริษัทฯ มองว่าพระราม 2 เป็นทำเลศักยภาพที่มีแนวโน้มจะเป็น “เขตเมืองใหม่” ของกรุงเทพฯ ในอนาคต

ขณะที่โรงพยาบาลนครธนมีจุดเด่นหลากหลาย ได้แก่ เป็นหนึ่งในโรงพยายาลชั้นนำของกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันตกที่มีความเชี่ยวชาญและเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย, มีฐานลูกค้าจำนวนมากจากการดำเนินงานมากว่า 28 ปี, มีความร่วมมือกับโรงพยาบาลชั้นนำจัดตั้งศูนย์การแพทย์รักษาโรคซับซ้อนและโรคทั่วไปเพื่อขยายฐานผู้ใช้บริการ, ความพร้อมให้บริการดูแลรักษาสุขภาพของผู้ใช้บริการทุกช่วงวัย, บริการทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐานสากล โดยทีมแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านหลากหลายสาขา ตลอดจนโครงการในอนาคตที่มีจุดมุ่งหมายที่จะเป็นผู้นำโรงพยาบาลประกันสังคม จึงได้รับความเชื่อมั่นจากผู้ใช้บริการต่อเนื่อง

นายวิศาล สายเพ็ชร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงพยาบาลนครธน กล่าวว่า จากแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจให้บริการทางการแพทย์และปัจจัยบวกอื่นๆ บริษัทฯ ได้วางแผนขยายการลงทุนโครงการต่างๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพรองรับผู้ป่วยมากขึ้น ได้แก่

1) โครงการการขยายจำนวนเตียงของโรงพยาลนครธน จาก 150 เตียง เป็น 260 เตียง ทั้งการเพิ่มจำนวนห้องพิเศษ (VIP) และห้องดูแลแบบประคับประคอง เพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ป่วยและความต้องการห้องพักที่กว้างขวางและสิ่งอำนวยความสะดวกเพิ่มขึ้น

2) โครงการโรงพยาบาลนครธน 2 บนถนนเอกชัย สำหรับผู้ประกันตน (ประกันสังคม) และผู้รับบริการทั่วไปขนาด 151 เตียงและ

3) โครงการนครธน ลองไลฟ์ เซ็นเตอร์ เพื่อเป็นศูนย์ดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิงแบบองค์รวม ขนาด 85 เตียง ด้วยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านผู้สูงอายุ (Geriatric Doctor) และการให้บริการดูแลสุขภาพเพื่อเสริมสร้างสุขภาพแบบองค์รวม (Wellness Services) แก่ผู้ที่ให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสุขภาพ

แพทย์หญิง ศิเรมอร ทองสิมา ผู้อำนวยการสายงานแพทย์ โรงพยาบาลนครธน กล่าวเพิ่มเติมว่า โรงพยาบาลมีศักยภาพที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากความสามารถในการรักษาโรคที่มีความซับซ้อน (โรงพยาบาลระดับตติยภูมิ) ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยและมีบุคลากรทางการแพทย์ทั้งในสาขาอายุรศาสตร์เฉพาะทางและสาขาเฉพาะทางอื่นๆ โดยปัจจุบันมีศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง 20 ศูนย์ โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางสาขาต่างๆ เพื่อรองรับผู้ป่วย อาทิ ศูนย์สมองและระบบประสาท, ศูนย์หัวใจ, ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ, ศูนย์กระดูกสันหลัง, ศูนย์มะเร็ง, ศูนย์ทันตกรรม ฯลฯ และมีแผนกไตเทียม ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญของการเพิ่มศักยภาพรักษาผู้ป่วย เพื่อตอบสนองการดูแลสุขภาพเชิงป้องกันและการรักษาแบบองค์รวม

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ต.ค. 67)

Tags: , , ,
Back to Top