AOT เร่งปรับทีโออาร์บริการลานจอด-อุปกรณ์ภาคพื้น-คลังสินค้า รายที่ 3 ประมูลต้นเดือนธ.ค. นี้

นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือทอท. เปิดเผยว่า ทอท.อยู่ระหว่างจัดทำร่างทีโออาร์ในการคัดเลือกผู้ประกอบการโครงการให้บริการลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้น การให้บริการผู้โดยสารภาคพื้นและกิจการอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง รายที่ 3 และโครงการให้บริการคลังสินค้า (คาร์โก้) รายที่ 3 ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ตามมาตรา 35 ตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2562 คาดว่าจะสรุปร่างทีโออาร์กลางเดือนพ.ย. 67 จากนั้นจะนำร่างทีโออาร์ประกาศในเว็บไซต์ และเปิดประมูลได้ในต้นเดือนธ.ค. 67 พิจารณาข้อเสนอ ช่วงเดือน ธ.ค. 67-ม.ค. 68 ได้ตัวผู้ชนะและเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ คาดลงนามสัญญาภายในเดือนมี.ค. 68 คาดว่าผู้ประกอบรายที่ 3 จะเริ่มงานได้ไม่เกินเดือนมิ.ย. 68

ในการจัดทำร่างทีโออาร์ที่ผ่านมา คณะกรรมการจัดทำร่างทีโออาร์ได้พิจารณาในหลายมิติเพื่อให้การประมูลเปิดกว้างมากที่สุด โดยให้ต่างชาติสามารถเข้าร่วมได้ ขณะเดียวกัน ก็ต้องส่งเสริมผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพให้สามารถเข้าร่วมแข่งขันได้ด้วย จึงใช้เวลาพิจารณาร่างทีโออาร์ค่อนข้างนาน

นายกีรติ กล่าวว่า เงื่อนไขของทีโออาร์ล่าสุดคาดว่าจะกำหนดหลักการให้ผู้ประกอบการไทยร่วมทุนกับบริษัทต่างชาติที่มีผลงานและประสบการณ์ได้ โดยผู้ประกอบการไทยต้องเป็นแกนนำหลัก ในสัดส่วนเกิน 51% และใช้ผลงานของต่างชาติที่เป็นไปตามที่ทีโออาร์กำหนด ยื่นเป็นผลงานร่วมประมูลได้ เนื่องจากหากให้เฉพาะผู้ประกอบการไทยประมูลอาจมีน้อยรายไป

สำหรับบริษัทบริการภาคพื้น ท่าอากาศยานไทย จำกัด (บพท.) หรือ AOTGA ซึ่งเป็นบริษัทลูกของทอท. นั้น มีประสบการณ์และผลงานอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องมีต่างชาติร่วมด้วยหรือใช้ประสบการณ์จากต่างชาติ แต่การกำหนดเงื่อนไขให้บริษัทไทย ร่วมกับต่างชาติและใช้ผลงานต่างชาติได้ เพื่อเป็นการเปิดกว้างและยังทำให้ผู้ประกอบการไทยอีกหลายรายสามารถเข้าร่วมประมูลได้

ปัจจุบัน ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีผู้ให้บริการภาคพื้นตามมติครม. จำนวน 2 ราย คือ 1. บมจ. การบินไทย (THAI) ซึ่งได้รับสิทธิพิเศษในฐานะเป็นสายการบินแห่งชาติ และ 2. บริษัท บริการภาคพื้นการบินกรุงเทพเวิลด์ไวด์ไฟล์ทเซอร์วิส จำกัด (Bangkok Flight Services: BFS)

นายกีรติ กล่าวว่า ส่วนระบบลำเลียงกระเป๋าสัมภาระอาคาร SAT-1 เชื่อมกับอาคารผู้โดยสารหลัก (Main Terminal) ซึ่งปัจจุบันมีระบบลำเลียงกระเป๋าสัมภาระ (Individual Carrier System: ICS) เฉพาะขาออกจาก Main Terminal ไปยัง อาคาร SAT-1 เท่านั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างปรับปรุงทีโออาร์ จากเดิมที่จะจัดทำระบบลำเลียงกระเป๋าสัมภาระขาเข้าอย่างเดียว ทั้งนี้ พบว่ามีเพียงรายเดียวในโลกที่ทำได้ ซึ่งจะต้องเจรจาและทำสัญญาจ้างตรงภายใต้งบประมาณหลายพันล้านบาท ซึ่งอาจไม่เหมาะสม

ดังนั้น แนวทางใหม่เพื่อให้มีการแข่งขันหลายราย จึงมีการปรับปรุงทีโออาร์ใหม่เพื่อให้ทำระบบ ลำเลียงกระเป๋าสัมภาระ ทั้งขาเข้าและขาออก ระหว่างอาคารผู้โดยสารหลักและ SAT-1 ซึ่งจะทำให้มีผู้เข้าร่วมประมูลแข่งขันได้หลายรายภายใต้งบประมาณเดิมที่ 3,800 ล้านบาท โดยคาดว่าจะประมูลได้ในเดือนมี.ค. 68 ใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปี

“ใช้งบเท่าเดิม แต่เปิดกว้างและมีระบบมากขึ้น ส่งผลให้มีเสถียรภาพในการให้บริการมากขึ้น เนื่องจากมีระบบสายพานลำเลียงกระเป๋าขาออกเดิมแล้ว ยังจะมีระบบสายพานลำเลียงกระเป๋าใหม่ที่มีทั้งขาเข้าและขาออก” นายกีรติ ระบุ

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ต.ค. 67)

Tags: , , ,
Back to Top